กรุงเทพฯ--11 มิ.ย.--สำนักวิจัยเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์
โพลล์สำรวจพฤติกรรมการใช้คำศัพท์แผลง การพบคำศัพท์แผลงและปัจจัยการใช้คำศัพท์แผลงของเยาวชนไทยในเขตกรุงเทพมหานคร
เพื่อแสดงความห่วงใยต่อความเข้าใจต่อหลักภาษาไทยและการใช้คำศัพท์ภาษาไทยอย่างถูกต้อง รัฐบาลไทยจึงกำหนดให้วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปีเป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ นับตั้งแต่ปีพ.ศ.2542 เป็นต้นมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการใช้หลักภาษาไทยและการใช้คำศัพท์ภาษาไทยอย่างถูกสม่ำเสมอ กระทั่งในปัจจุบันสื่ออินเทอร์เน็ตและสังคมออนไลน์ได้ส่งผลกระทบต่อการใช้คำศัพท์แผลงในกลุ่มเยาวชนไทยอย่างแพร่ จนกระทั่งฝ่ายที่เกี่ยวข้องแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ “วิกฤติ” ในภาษาไทย
สำนักวิจัยเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ได้ทำการสำรวจการใช้คำศัพท์แผลง คำศัพท์วัยรุ่นในกลุ่มเยาวชนไทยอายุระหว่าง 15-25 ปี จำนวน 1,065 คนในเขตกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม-5 มิถุนายน 2555 โดยการสำรวจด้วยวิธีการสุ่มแบบเฉพาะเจาะจง(Purposive Sampling) การสำรวจวิจัยแบบมีโครงสร้างปลายปิด ระดับความคลาดเคลื่อน+/- ร้อยละ 7 ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 93
สำนักวิจัยเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม เปิดเผยผลสำรวจจากงานวิจัย โดยโพลล์การใช้คำศัพท์แผลง พบว่าวัยรุ่นไทยในกรุงเทพมหานคร พบใช้คำว่า “ชิมิ” มากที่สุด พร้อมเชื่อว่าส่งผลกระทบต่อหลักการใช้ภาษาไทยและการใช้ศัพท์ภาษาไทยในหลักภาษาไทยที่ถูกต้อง ระดับปานกลางถึงมากเพียง 14.55 %
สำนักวิจัยเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม สำรวจต่อไปถึงเรื่องการใช้คำศัพท์แผลงที่กำลังระบาดใช้กันอย่างกว้างขวางในกลุ่มเยาวชนไทย และเป็นที่กังวลว่าจะส่งผลต่อการหลักการใช้ภาษาไทยในอนาคตอีกหลายคำ เช่น คำศัพท์แผลงคำว่า ชิมิ บ่องตง จิบิ ,จุ๊บุ ฯลฯ พบว่า 89% ทราบความหมายของคำศัพท์แผลงที่ใช้คำศัพท์แผลงมากที่สุดคือคำว่า “ชิมิ” ซึ่งใช้ในความหมายว่า “ใช่ไหม” ส่วนในรอบสามเดือนกลุ่มเยาวชนไทยในกรุงเทพมหานครใช้คำศัพท์แผลง คำว่า “จุงเบย” ซึ่งในความหมายว่า “จังเลย” 72.68% รองลงมาคือคำศัพท์แผลงคำว่า “บ่องตง” “มะรุ” “ช่ะ” “มะเปง” และ“ชิมิ”
สำหรับคำศัพท์แผลงคำอื่น ๆ ที่เยาวชนไทยใช้บ่อย ๆ เช่น เมพขิง ๆ ,ฟิน,งานเข้า,เกรียน,คีบับ,คิขุ,ซุย,อิอิ,งานงอก และแอ๊บแบ๊ว อีก 51.17 % ส่วนเยาวชนไทยที่ไม่เคยใช้คำศัพท์แผลงเลยมี 12.95% ที่มาของคำศัพท์แผลงต่าง ๆ ดังกล่าว เยาวชนไทยกล่าวว่าที่มาของคำศัพท์แผลงที่เข้าถึงได้ง่ายที่สุด คือบนอินเตอร์เน็ตและเครือข่ายสังคมออนไลน์ 51.35 % พบว่าเข้าถึงและผ่านหู/ผ่านตาจากละคร/ภาพยนตร์ระดับต่ำเพียง 4.85 %
ด้านผลกระทบต่อหลักการใช้ภาษาไทยและการใช้คำศัพท์ภาษาไทยในหลักภาษาไทยที่ถูกต้องนั้น กลุ่มเยาวชนไทยแสดงความคิดเห็นไว้อย่างน่าสนใจโดยแยกออกเป็นสองกลุ่ม คือมีความเห็นว่าไม่ส่งผลกระทบ และ/หรือส่งผลกระทบปานกลางถึงมาก จำนวน 14.55 %
สำนักวิจัยเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยามยังพบสาเหตุการใช้คำศัพท์แผลงในกลุ่มวัยรุ่นไทยว่า วัยรุ่นใช้คำศัพท์แผลง เพราะต้องการลดความเครียดในการสนทนาและสร้างอารมณ์ขัน คิดเป็นร้อยละ 73.68 และ 70.01 ตามลำดับ กลุ่มตัวอย่างมากกว่าร้อยละ 90 ใช้คำศัพท์แผลงกับเพื่อนๆ และ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 57.09 เห็นว่าราชบัณฑิตยสถานควรจัดทำพจนานุกรมเพื่อรวบรวมคำศัพท์แผลงต่างๆ ที่กลุ่มวัยรุ่นใช้ในปัจจุบันไว้เป็นการเฉพาะ