กรุงเทพฯ--14 ม.ค.--กทม.
เมื่อวานนี้ (วันที่ 13 ม.ค. 47 เวลา 12.15 น.) นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คุณหญิงณฐนนท ทวีสิน ปลัดกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกทม. สำนักทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ว.ส.ท.) สภาวิศวกร และสำนักงานเขตปทุมวัน เข้าตรวจสอบอาคารตึกแถวย่านสยามสแควร์ เขตปทุมวัน ได้แก่ แอพพลายด์ฟิสิกซ์ เคมีอาจารย์อุ๊ และอบาคัส ซึ่งใช้ประกอบกิจการเป็นโรงเรียนกวดวิชา โดยเน้นตรวจระบบป้องกันเพลิง อุปกรณ์ดับเพลิง และทางหนีไฟ เพื่อสร้างหลักประกันด้านความปลอดภัยจากอัคคีภัย แก่ประชาชน
กำชับโรงเรียนกวดวิชาปรับปรุงสถานที่ให้ปลอดภัย
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการตรวจสอบอาคารโรงเรียนกวดวิชา 3 แห่ง ว่า ส่วนใหญ่จะมีปัญหาที่ต้องแก้ไข อาทิ รื้อย้ายสิ่งกีดขวางทางออกหนีไฟ เพิ่มจุดไฟส่องสว่างฉุกเฉิน หรือมีทางออกหนีไฟแต่ป้ายไม่ชัดเจน บางแห่งล็อคประตูทางออกหนีไฟโดยให้เหตุผลเพื่อเป็นการป้องกันการลักขโมยโดยใช้ช่องทางดังกล่าว แต่กลายเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ซึ่งต้องทำความเข้าใจกับเจ้าของอาคารและให้หาวิธีการป้องกันทรัพย์สินในรูปแบบอื่น บางแห่งต้องมีการปรับปรุงใหม่
นอกจากนี้จะต้องมีการฝึกซ้อมหนีไฟและติดผังทางหนีไฟให้นักเรียนทราบ รวมทั้งติดสัญญาณเตือนภัยบอกเหตุเพลิงไหม้ เนื่องจากในแต่ละวันจะมีนักเรียนมาเรียนกวดวิชาแห่งละประมาณ 500-700 คน จึงนับเป็นความเสี่ยงในด้านความปลอดภัย ทั้งนี้ตนได้ฝากให้จุฬาฯซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สินบริเวณสยามสแควร์ ดูแลปรับปรุงอาคารสถานที่ให้มีความปลอดภัย ส่วนจะให้ใครเป็นผู้แก้ไข นั้น เจ้าของอาคารและเจ้าของทรัพย์สินจะต้องหารือเพื่อทำความตกลงกัน
สำหรับโรงเรียนกวดวิชา เป็นสถานที่ที่มีเด็กเข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมาก จึงเป็นสถานที่ที่มีความเสี่ยงภัยจากอัคคีภัย ค่อนข้างมาก หากไม่มีมาตรการที่ปลอดภัยเพียงพอด้านการป้องกันอัคคีภัย ดังนั้นจึงต้องมีการเข้มงวดเป็นพิเศษ โดยให้มีบันไดหลัก ที่เพียงพอ มีทางออกสู่บันไดหนีไฟที่ไม่มีสิ่งกีดขวาง มีบันไดหลักที่จะใช้อพยพผู้คนเมื่อเกิดเหตุ มีเครื่องดับเพลิงที่เพียงพอ มีสัญญาณเตือนภัยและแผนการอพยพชัดเจนที่มีการซักซ้อมอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งต้องไม่มีครัวไฟหรือการประกอบอาหารในอาคารตึกแถวที่ใช้ประกอบกิจการเป็นโรงเรียนกวดวิชาด้วย
ผู้ว่าฯอภิรักษ์ย้ำให้ทุกฝ่ายร่วมมือ
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า การตรวจอาคารตึกแถวในวันนี้จะมุ่งเป้าไปที่อาคารที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยได้ง่าย เป็นเหตุให้อาจเกิดความสูญเสียในชีวิตของผู้ที่เข้าใช้อาคาร โดยเน้นขอความร่วมมือจากเจ้าของอาคาร ไม่ใช่เอาผิดทางกฎหมาย เป็นเหตุเจ้าของสถานที่เกิดความเดือดร้อน ซึ่งหากทุกฝ่ายร่วมกันแก้ไขจะเป็นประโยชน์แก่เด็ก เยาวชน นักเรียนผู้ใช้บริการ อีกทั้งสร้างความอุ่นใจให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองที่ส่งบุตรหลานมาเรียนหนังสือ
นอกจากนี้เจ้าของอาคารหรือโรงเรียนก็จะได้ประโยชน์จากความปลอดภัยเช่นกัน อย่างไรก็ตามจะเร่งตรวจสอบอาคารทั้งหมดในกทม.ให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 30 วัน ทั้งนี้ ตนและคณะได้หารือกับวิศวกรรมสถาน และสภาวิศวกร ในการจัดทำบัญชีรายชื่ออาคารพาณิชย์ ตลอดจนแยกประเภทการประกอบกิจการ และวิธีการตรวจสอบของอาคารแต่ละประเภทเพื่อกำหนดเป็นมาตรฐานการตรวจสอบด้วย
เปิดประชุมนัดแรกผู้ประกอบการตึกแถวเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน
จากนั้นเวลา 14.00 น. ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เดินทางมายังศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เพื่อประชุมชี้แจง ทำความเข้าใจ และให้คำแนะนำแก่เจ้าของตึกแถว จาก 23 สำนักงานเขตชั้นในของกรุงเทพมหานคร จำนวนกว่า 400 คน โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ยกกรณีตัวอย่างการเกิดเพลิงไหม้รายบริษัท ยูไนเต็ด ยูเนี่ยน พาร์ท ย่านปทุมวัน มาเป็นอุทาหรณ์เพื่อชี้ให้ผู้เข้าประชุมได้เห็นถึงความเสี่ยงจากการใช้สอยอาคารที่ไม่เป็นไปตาม ข้อกำหนด จากการที่มีการเก็บวัสดุอุปกรณ์และสินค้าในอาคารเป็นจำนวนมาก ซึ่งตามปกติอาคารตึกแถวจะเป็นอาคารประเภทพาณิชย์-พักอาศัย โดยใช้ชั้นล่างสุดประกอบการพาณิชย์ มีการออกแบบอาคารให้รับน้ำหนักได้มากถึง 300 กิโลกรัมต่อตารางเมตร
ในขณะที่อาคารชั้นที่สูงขึ้นไปที่ใช้พักอาศัย ได้กำหนดความสามารถในการรับน้ำหนักไว้ไม่เกิน 200 กิโลกรัมต่อตารางเมตรเท่านั้น ซึ่งผู้ก่อสร้างมักสร้างให้รับน้ำหนักเท่าที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น นอกจากนี้ยังได้ชี้ให้เห็นถึงความไม่ปลอดภัยในการนำตึกแถวมาประกอบกิจการค้าบางประเภท โดยขาดความรู้ความเข้าใจในมาตรการการป้องกันและระงับอัคคีภัยที่ถูกต้อง
ในโอกาสนี้ ที่ประชุมฯ ได้มีการอภิปรายในหัวข้อ ในหัวข้อ “อยู่ตึกแถวอย่างไรจึงจะปลอดภัยจากอัคคีภัย” โดยมีวิทยากรจากสำนักการโยธา สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ว.ส.ท.) และสภาวิศวกรจัดขึ้น โดยนายอนันต์ ศิริภัสราภรณ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่เจ้าของอาคาร ตึกแถวที่มาเข้าร่วมประชุม
ทั้งนี้ หลังจากการประชุมครั้งนี้แล้ว สำนักงานเขต 50 เขตของกทม. จะเชิญประชุมเจ้าของอาคารพาณิชย์กลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้เจ้าของหรือผู้ประกอบการให้ความร่วมมือปรับปรุงแก้ไขความบกพร่องที่อาจเป็นเหตุให้เกิดอัคคีภัยด้วยตัวเอง เพื่อความปลอดภัยของตนเอง ครอบครัว และชุมชนใกล้เคียง
เร่งตรวจอาคารกลุ่มเสี่ยง 30,000 หลัง
สำหรับตึกแถวที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุอัคคีภัย แบ่งออกเป็น 7 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ 1. กลุ่มตึกแถวที่ประกอบกิจการด้านเฟอร์นิเจอร์ไม้ 2. กลุ่มที่ประกอบกิจการด้านสีและอุปกรณ์การก่อสร้างที่เป็นวัตถุไวไฟ 3. กลุ่มที่ขายเครื่องยนต์เก่า 4. กลุ่มร้านขายผ้าหรือร้านตัดเย็บเสื้อผ้าที่มีการสะสมผ้าเป็นปริมาณมาก 5. กลุ่มที่ใช้ตึกแถวในการเก็บสินค้าเป็นปริมาณมาก 6. กลุ่มร้านค้าขายแก๊สหรือน้ำมันเชื้อเพลิง และ 7. กลุ่มที่ประกอบกิจการโรงเรียนกวดวิชา
ทั้งนี้ทั่วกรุงเทพฯ มีอาคารพาณิชย์ประมาณ 400,000 อาคาร ในจำนวนนี้มีอาคารที่เข้าข่ายอยู่ในกลุ่มเสี่ยงประมาณ 30,000 อาคาร ซึ่งสำนักงานเขตจะตรวจสอบอาคารตึกแถวทั้ง 7 กลุ่มนี้ อย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลา 30 วัน คาดว่าจะสามารถตรวจสอบอาคารตึกแถวที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้ทั้ง 30,000 หลัง
หากไม่แก้ไขหรือปรับปรุงภายในกำหนดจะมีโทษตามกฏหมาย
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า การตรวจสอบอาคารตึกแถวนั้น เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ในฐานะผู้อำนวยการดับเพลิงกรุงเทพมหานคร ตามพระราชบัญญัติป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ.2542 ที่ให้อำนาจ กทม. เข้าตรวจตราอาคารหรือสถานที่ที่อยู่ในข่ายที่เชื่อได้ว่าอาจมีสิ่งอื่นใดหรือเหตุอันควรที่ทำให้สถานที่นั้น ๆ ตกอยู่ในภาวะที่จะเกิดอัคคีภัยได้
เพื่อให้คำแนะนำแก่เจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคารในการปฏิบัติให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ประกอบการและลูกค้าที่มาใช้บริการ โดยให้ทำการขนย้าย ทำลาย เปลี่ยนแปลง หรือแก้ไข สิ่งที่ทำให้เกิดอัคคีภัยได้ง่ายออกจากอาคาร ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับคำแนะนำตักเตือน จะต้องปฏิบัติตามโดยเร็ว หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากไม่ยอมขนย้าย สิ่งของออกไป กทม.ยังมีอำนาจเข้าไปดำเนินการเองและเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากเจ้าของอาคารได้
นายอภิรักษ์ กล่าวในตอนท้ายว่า การดำเนินการของกรุงเทพมหานครเป็นกระบวนการสร้างจิตสำนึกสาธารณะให้เกิดแก่ เจ้าของตึกแถว โดยการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ผู้ประกอบการ เพราะเชื่อว่าการที่มีประกอบกิจการอย่างมีความเสี่ยงภัย ในขณะนี้น่าจะเกิดจากความไม่รู้ หรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ถึงภยันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่ตนเองและผู้อื่น มากกว่าการจงใจที่จะฝ่าฝืน
ดังนั้นความรู้ความเข้าใจที่เกิดจากการประชุมในวันนี้น่าจะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมจากประชาชนในการร่วมกันสร้างมาตรการ เพื่อความปลอดภัยให้แก่เมืองหลวงแห่งนี้ได้แน่นอน ซึ่งจะได้ผลดีกว่าที่จะมีการดำเนินการตรวจสอบจากฝ่ายของทางราชการเพียงด้านเดียว--จบ--