กรุงเทพฯ--12 มิ.ย.--กสทช.
คณะอนุกรรมการส่งเสริมการกำกับดูแลกันเอง กสทช. ได้ประชุมพิจารณาเรื่องร้องเรียนรายการ Thailand’s Got Talent (TGT3) กรณี “สิทธัตถะ เอมเมอรัล” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์สีช่อง 3 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยมี นายปัญญา นิรันดร์กุล ประธานกรรมการบริษัทเวิร์คพ้อยท์ เอนเตอร์เทนเมนต์ จำกัด(มหาชน) ในฐานะผู้ผลิตรายการ นายสมรักษ์ ณรงค์วิชัย นางนิมะ ราชิดี ผู้แทนสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง3 ในฐานะเจ้าของช่องผู้ที่เผยแพร่รายการ และ รศ.อรุณีประภา หอมเศรษฐี ประธานสภาวิชาชีพกิจการแพร่ภาพและการกระจายเสียง(ประเทศไทย) ในฐานะองค์กรวิชาชีพที่มีสถานีโทรทัศน์สีช่อง 3 และ บ.เวิร์คพ้อยท์เป็นสมาชิก เข้าร่วมชี้แจง
นางสาวสุภิญญาฯ ในฐานะประธาน คณะอนุกรรมการชุดนี้ เปิดเผยว่า จากเหตุร้องเรียนการออกอากาศรายการดังกล่าวที่เกิดขึ้นแบ่งเป็น 2 ประเด็น ได้แก่ รายการดังกล่าวออกอากาศขัดกฎหมายตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 37 หรือไม่ ซึ่งขั้นตอนนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะอนุกรรมการกำกับเนื้อหาและผังรายการ ซึ่งพลโทพีระพงษ์ มานะกิจเป็นประธาน และอีกประเด็นหนึ่งที่จัดให้มีการชี้แจงทั้ง 3 ฝ่ายในครั้งนี้ เพราะต้องการหาทางออกในด้านจริยธรรม จรรยาบรรณสื่อ และความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อผลักดันให้มีการกำกับดูแลกันเองของวิชาชีพสื่อ จากการพูดคุยเห็นได้ชัดว่า ในตอนแรกทางเวิร์คพ้อยท์ และช่อง 3 ยังไม่รู้ว่ากรณีนี้จะทำให้เกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า “สื่อโทรทัศน์” ยังขาดความรู้ความเข้าใจน้อยมากในเรื่องจรรยาบรรณ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ละเอียดอ่อนอย่างเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ในระยะยาวจะต้องมีกระบวนการศึกษาและสร้างความเข้าใจเรื่องนี้ ซึ่งผลที่ได้จากการประชุม ได้ส่งเรื่องร้องเรียนนี้ไปยังสภาวิชาชีพกิจการแพร่ภาพและการกระจายเสียงฯ เพื่อไปกลั่นกรองพิจารณาว่ารายการฯ ขัดต่อหลักจริยธรรม หรือจรรยาบรรณตามข้อบังคับขององค์กรวิชาชีพหรือไม่อย่างไร ตามมาตรา 39 และ 40 ของพ.ร.บ.การประกอบกิจการฯ กสทช.ต้องส่งเสริมองค์กรวิชาชีพวินิจฉัยข้อร้องเรียนที่เกิดขึ้น โดยจะรอฟังผลประมาณ 1 — 2 สัปดาห์ ไม่ว่าสุดท้ายแล้วลึกๆผู้ประกอบการสื่อจะรู้สึกว่าการกระทำครั้งนี้จะเกิดความผิดพลาดหรือไม่ แต่ได้เกิดผลกระทบแล้ว 3 ระดับ คือ 1.ผลกระทบต่อผู้เข้าประกวดและครอบครัว 2. ผลกระทบต่อผู้ปกครองที่มีลูกหลานญาติเป็นผู้ที่มีความต้องการพิเศษ หรือเป็นกลุ่มคนที่มีความแตกต่างในสังคม ซึ่งพบว่าปัจจุบันมีอยู่กว่าสองล้านคนในประเทศไทยจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่สื่อจะต้องทำความเข้าใจและนำเสนออย่างสร้างสรรค์ และ 3. ยังมีผลกระทบความรู้สึกต่อคนดูที่เป็นประชาชนทั่วไปที่มองว่าเรื่องนี้ค่อนข้างแรง กระทบความรู้สึกสูงต่อการสร้างทัศนคติเชิงลบในสังคม คณะอนุฯจึงให้การบ้านไปว่า การขอโทษหรือแสดงความรู้สึกเสียใจอาจจะยังไม่พอ แต่จะต้องมีมาตรการเยียวยาทางสังคมด้วย เพื่อจะสร้างบรรทัดฐานต่อไปในการกำกับดูแลของกสทช. เพราะหากเกิดวิกฤติศรัทธาต่อการกำกับดูแลกันเองของสื่อเกิดขึ้นและสังคมไม่เชื่อมั่น สังคมจะเรียกร้องรัฐให้เข้ามาใช้กฎหมายแรงและมากขึ้น แต่หากสภาวิชาชีพฯ ช่อง 3 และเวิร์คพ้อยท์ แสดงให้เห็นว่าสามารถร่วมหาแนวทางการกำกับดูแลกันเองได้จะเรียกความเชื่อมั่นต่อสังคมได้ว่าสื่อสามารถกำกับดูแลคนเองได้ระดับหนึ่ง ไม่เช่นนั้นสังคมจะเรียกร้องรัฐให้ใช้อำนาจควบคุมมากขึ้นเรื่อยๆซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสังคมในระยะยาวเลย.