บทความพิเศษ ยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมและพัฒนาสหกรณ์ “คนเมือง”

ข่าวทั่วไป Wednesday June 12, 2013 10:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 มิ.ย.--ดอกชบา พับลิครีเลชั่นส์ ด้วยจำนวนประชากรในพื้นที่กรุงเทพที่มีมากถึง 5.6 ล้านคน 2.4 ครัวเรือน กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงได้แบ่งการบริหารจัดการขบวนการสหกรณ์ในพื้นที่กรุงเทพ แบ่งออกเป็นสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานครพื้นที่ 1และสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานครพื้นที่ 2 เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรในเขตพื้นที่ทุกประเภท รวมทั้งเข้าไปส่งเสริม เผยแพร่ และให้ความรู้เกี่ยวกับอุดมการณ์สหกรณ์ หลักการและวิธีการสหกรณ์ให้แก่บุคลากรสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และประชาชนทั่วไป ตลอดจนส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจของสหกรณ์ ให้มีความเข้มแข็ง รวมทั้งเสริมสร้างการมีส่วนร่วมและสนับสนุนการสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมให้เข้มแข็งในระบบสหกรณ์นั่นเอง นายสันทาน สีสา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานครพื้นที่ 2 (สสพ.2)กล่าวว่า ด้วยความหลากลายทางอาชีพและสังคมของคนกรุงเทพมหานคร ทางสสพ.2ได้รับมอบหมายจากนายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ในเร่งเดินหน้าในการขับเคลื่อนขบวนการสหกรณ์ในพื้นที่กรุงเทพให้มีความเข้มแข็งในทุกด้าน เพื่อลดปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมของประชากรในกรุงเทพฯให้ลดน้อยลงที่สุด ทั้งนี้ ผลจากการเข้าไปส่งเสริมการจัดตั้งสหกรณ์ครอบคลุมทุกพื้นที่ ทำให้ปัจจุบันมีการจัดตั้งสหกรณ์ภายใต้การดูแลของ สสพ. 2 จำนวนมากถึง 428 สหกรณ์ จำนวนสมาชิกมากถึง 730,399 คน แบ่งเป็นสหกรณ์การเกษตร 11 แห่ง สหกรณ์ออมทรัพย์ 180 แห่ง สหกรณ์เครดิตยูเนียน 27 แห่งสหกรณ์ร้านค้า 20แห่ง สหกรณ์บริการ 163 แห่งและจัดตั้งเป็นกลุ่มเกษตรกรอีกจำนวน 27 แห่ง ในขณะเดียวกันในจำนวนดังกล่าวมีปริมาณธุรกิจของสหกรณ์หมุนเวียนมากถึง 291,590,690,871 ล้านบาท โดยสหกรณ์ออมทรัพย์มีปริมาณเงินหมุนเวียนสูงสุดคือ 259,783.91 ล้านบาท รองลงมาคือสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน 8,927.43 ล้านบาทและสหกรณ์ภาคเกษตร 1,496.40 ล้านบาท สหกรณ์บริการ 1,353.64 ล้านบาทและสหกรณ์ร้านค้า 410.19 ล้านบาทตามลำดับ นายสันทาน กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้เพื่อให้การส่งเสริมและพัฒนาสหกรณ์ในสสพ. 2 ไม่หยุดนิ่ง ในปี 2556 ทางสสพ.2 ยังได้วางเป้าหมายในการดำเนินงานส่งเสริมและพัฒนาสหกรณ์ในกรุงเทพเชิงรุกอีกหลาด้าน อาทิ การพัฒนาสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรดีเด่น การพัฒนาสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรสู่มาตรฐาน การส่งเสริมสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรผ่านระบบ CPS การขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร การส่งเสริมกิจกรรมสหกรณ์ในโรงเรียนตามพระราชดำริฯ และที่สำคัญคือการส่งเสริมและสนับสนุนโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารและโครงการสายใยรักแห่งครอบครัว ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ “อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้มีนโยบายให้สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาสหกรณ์กรุงเทพมหานครเร่งรัดการทำงานในเชิงรุกมากขึ้น โดยพัฒนาสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง มีภูมิคุ้มกันและยึดมั่นในวิธีการสหกรณ์ เพื่อขับเคลื่อนขบวนการสหกรณ์ในพื้นที่กรุงเทพทั้งหมดเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมในระดับชุมชน ท้องถิ่นและประเทศอย่างยั่งยืนให้เร็วที่สุด” นายสันทาน กล่าว นายสันทาน กล่าวด้วยว่า สสพ.2 จะยังคงเดินหน้าต่อไปในการส่งเสริม เผยแพร่และให้ความรู้เกี่ยวกับอุดมการณ์สหกรณ์ ตลอดจนหลักและวิธีการสหกรณ์ให้แก่คนเมืองหลวงต่อไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าชุมชนนั้นจะเป็นเกษตรกรหรือประชาชนทั่วไป รวมทั้งเข้าไปให้การส่งเสริม ช่วยเหลือ สนับสนุน แนะนำการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดตั้งสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกรให้ดำเนินงานได้ภายหลังจากการจัดตั้ง ไม่ใช่เน้นแต่จัดตั้งอย่างเดียวหลังจากนั้นไม่เหลียวแล ขณะเดียวกันเนื่องกรุงเทพฯมีประชากรอาศัยมากถึง 5 ล้านคน สสพ.2 จะส่งเจ้าหน้าที่คอยดูแลติดตามการดำเนินงานของสหกรณ์ต่างๆอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สหกรณ์เหล่านั้นปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบต่างๆตามคำสั่งของนายทะเบียนสหกรณ์หรือนโยบายมติที่ประชุมใหญ่และมติที่ประชุมคณะกรรมการอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการบริหารงาน การเงินและการบัญชีก็จะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปส่งเสริม แนะนำอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ปฏิบัติงานได้ถูกต้อง เป็นการป้องปรามและป้องกันการทุจริตที่อาจจะเกิดขึ้น “นอกจากจะส่งเสริมให้มีการจัดตั้งสหกรณ์แล้ว ทาง สสพ.2 ยังให้ความสำคัญในการเข้าไปส่งเสริมและแนะนำเกี่ยวกับการพัฒนาธุรกิจและการส่งเสริมตลาดแก่สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มสตรีสหกรณ์ รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาสินค้า การบรรจุภัณฑ์ และรูปแบบการบริการของสหกรณ์ให้มีคุณภาพ มาตรฐานซึ่งนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าสินค้านั่นเอง” นายสันทาน กล่าว จากยุทธศาสตร์และแนวทางข้างต้น สสพ.2 เชื่อมั่นว่าขบวนการสหกรณ์จะเป็นกลไกลสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ให้กับคนเมืองให้มีความเป็นอยู่ดี มีสันติสุขทั้งตนเองและครอบครัว จากการเกื้อกูล เอื้ออาทรกันในชุมชน ซึ่งจะนำไปสู่การลดปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมแบบยั่งยืนในอนาคต
แท็ก เกษตรกร  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ