กรุงเทพฯ--12 มิ.ย.--สภาอุตสาหกรรมฯ
3 องค์กรเศรษฐกิจด้านธุรกิจเกษตรและอาหาร โดย สภาอุตสาหกรรมฯ สภาหอการค้าฯ และสถาบันอาหาร ประเมินสถานการณ์ภาคการผลิตและส่งออกอุตสาหกรรมอาหารของไทยปี 2556 คาดเติบโตแค่ร้อยละ 1.5 ปรับเป้าส่งออกเหลือ 981,000 ล้านบาท ชี้ได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย ทั้งขาดแคลนวัตถุดิบหมวดพืชผัก พืชอาหาร ผลไม้ พบโรคระบาดในกุ้ง เผย 4 เดือนแรกสูญรายได้ 7,200 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.4 จากเหตุเงินบาทแข็งค่า ทั้งตลาดส่งออกหลักอันดับ 1-4 หดตัวลงทั้งหมด โดยอาเซียนหดตัวลงถึงร้อยละ 15.5 ส่วนตลาดญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และสหรัฐฯ หดตัวรองลงมา ยกเว้นตลาดจีนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ12.8 สินค้าข้าว น้ำตาลทราย และกุ้ง รับบทหนัก เฉพาะในเดือนเมษายน 2556 ส่งออกข้าว ลดลงร้อยละ 10.0 น้ำตาลทราย ร้อยละ10.3 กุ้งแช่แข็ง ร้อยละ 49.8 และกุ้งแปรรูป ร้อยละ 19.5 ส่วนครึ่งปีหลัง ทูน่าแปรรูป ไก่ ปลาซาร์ดีนกระป๋อง เครื่องปรุงรส รวมทั้งกลุ่มผลไม้สดจะขยายตัวดี จับตาค่าเงินบาทผันผวนยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ผู้ประกอบการกังวล
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย/การแถลงข่าวร่วม 3 องค์กร โดย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง สรุปภาวะ
อุตสาหกรรมอาหารไทยในช่วง 4 เดือนแรก และคาดการณ์แนวโน้มปี 2556 มีตัวแทนหลักของทั้ง 3 องค์กร ประกอบ ด้วย นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ประธานคณะกรรมการธุรกิจเกษตรและอาหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายวิศิษฎ์ ลิ้มประนะ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายอมร งามมงคลรัตน์ รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ร่วมให้รายละเอียดสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
นายอมร งามมงคลรัตน์ รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า ในการประสานความร่วมมือของ 3 องค์กร ในส่วนของสถาบันอาหารจะทำหน้าที่เป็นองค์กรในการรวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องภายใต้การดำเนินงานของศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร หรือ Food Intelligence Center โดยพบว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2556 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอาหารหดตัวลงร้อยละ 4.3 ตามทิศทางการหดตัวของอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออกที่หดตัวลงร้อยละ 12.3 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นส่งออกยังคงหดตัวลงทั้งหมด เนื่องจากประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ เนื่องจากผลของความแห้งแล้งและสภาพอากาศแปรปรวนในช่วงก่อนหน้า โดยเฉพาะในหมวดพืชผัก ผลไม้ รวมทั้งพืชอาหาร นอกจากนี้ ปัญหาโรคระบาดในกุ้งทำให้ผลผลิตกุ้งลดลงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 35
สำหรับภาคการส่งออกอาหารของไทย ในภาพรวม 4 เดือนแรกของปี 2556 มีมูลค่า 296,288 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.6 สินค้าส่งออกสำคัญที่มีนัยต่อการส่งออกในช่วงที่ผ่านมา และคาดว่าจะต่อเนื่องตลอดปี 2556ประกอบด้วย 3 รายการ ได้แก่ น้ำตาลทราย กุ้ง และไก่ โดยสินค้าน้ำตาลทรายและกุ้งเป็นสองสินค้าที่ส่งผลกระทบทางลบค่อนข้างรุนแรงต่อการส่งออกในภาพรวม เนื่องจากปัญหาราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกตกต่ำจากผลผลิตส่วนเกินที่มีมากขึ้น ขณะที่กุ้งประสบปัญหาผลผลิตลดลงมากจากโรคกุ้งตายด่วน (EMS) ส่วนไก่น่าจะเป็นสินค้าที่ประคับประคองการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารในปี 2556 เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการที่สหภาพยุโรปยกเลิกห้ามนำเข้าไก่สดจากไทย โดยในช่วง 4 เดือนแรกการส่งออกไก่สดของไทยเพิ่มขึ้นกว่า 100%
กล่าวเฉพาะในเดือนเมษายน 2556 การส่งออกอาหารของไทยมีมูลค่า 71,043 ล้านบาท หดตัวลงร้อยละ 5.6 ตามการลดลงของสินค้าหลัก อาทิ ข้าว ลดลงร้อยละ 10.0 น้ำตาลทราย ร้อยละ10.3 กุ้งแช่แข็ง ร้อยละ 49.8 และกุ้งแปรรูป ร้อยละ 19.5 โดยการส่งออกข้าวและน้ำตาลทรายได้รับผลกระทบจากความต้องการของตลาดที่ชะลอตัวลงเนื่องจากผลผลิตโลกเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งราคาสินค้าที่อ่อนตัวลง ส่วนการส่งออกกุ้งได้รับผลกระทบจากผลผลิตกุ้งไทยที่ลดลงจากโรคระบาด
นายอมร กล่าวต่อว่า ตลาดส่งออกในช่วง 4 เดือนแรก อาเซียนเป็นตลาดส่งออกอาหารอันดับ1 ของไทย มีสัดส่วนร้อยละ 22.1 รองลงมาได้แก่ ญี่ปุ่น ร้อยละ 14.8 สหภาพยุโรป ร้อยละ 11.5 สหรัฐฯ ร้อยละ10.6 และจีน ร้อยละ 9.8 ซึ่งเป็นตลาดส่งออกของไทยในอันดับ 2 ถึง 5 ตามลำดับ โดยการส่งออกอาหารของไทยไปยังตลาดหลักในอันดับ 1 ถึง 4 หดตัวลงทั้งหมด ยกเว้น จีน ที่เป็นตลาดอันดับ 5 ที่ยังขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.8 ขณะที่การส่งออกไปอาเซียนหดตัวลงมากที่สุดถึงร้อยละ 15.5 จากสินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ น้ำตาลทราย มันสำปะหลัง ข้าว น้ำมันปาล์ม และผลไม้สด ส่วนตลาดญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และสหรัฐฯ หดตัวรองลงมา
อย่างไรก็ตามแนวโน้มส่งออก ในครึ่งหลังของปี 2556 คาดว่าการส่งออกอาหารของไทยจะกลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 3.6 และร้อยละ 4.8 โดยมีมูลค่าส่งออกประมาณ 259,000 ล้านบาท และ 247,000 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 ตามลำดับ สำหรับสินค้าที่คาดว่าจะขยายตัวดีในครึ่งปีหลัง อาทิ ทูน่าแปรรูป ไก่ ปลาซาร์ดีนกระป๋อง เครื่องปรุงรส รวมทั้งกลุ่มผลไม้สดที่คาดว่าจะออกสู่ตลาดมากขึ้นในเดือนมิ.ย.-ก.ค.
โดยสรุปแนวโน้มการส่งออกอาหารไทยตลอดปี 2556 คาดว่าจะมีมูลค่า 981,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 ลดลงจากที่คาดว่าจะมีมูลค่า 1.03 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.0 ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากการส่งออกได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะการแข็งค่าของเงินบาท การขาดแคลนวัตถุดิบ รวมทั้งราคาสินค้าส่งออกหลายรายการที่อ่อนตัวลง โดยกลุ่มสินค้าหลักที่คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในปี 2556 อาทิ ทูน่า แปรรูป ไก่ ปลาซาร์ดีนกระป๋อง และเครื่องปรุงรส ส่วนกลุ่มสินค้าหลักที่คาดว่าการส่งออกจะหดตัวลง อาทิ น้ำตาลทราย กุ้ง สับปะรดกระป๋อง และข้าวโพดหวาน เป็นต้น
นายอมร กล่าวว่า “แนวโน้มการส่งออกน้ำตาลในช่วงที่เหลือของปีคาดว่ายังชะลอตัวตามปริมาณน้ำตาลในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ปริมาณน้ำตาลโลกเกินดุลอยู่มาก แม้ผลผลิตน้ำตาลในประเทศจะสูงถึง 10 ล้านตัน
ใกล้เคียงกับปีก่อน แต่ปริมาณการส่งออกน้ำตาลของไทยตลอดปีคาดว่าจะใกล้เคียงกับปีก่อนคือประมาณ 6.85 ล้านต้น แต่มูลค่าส่งออกคาดว่าจะลดลงประมาณร้อยละ 20 หรือลดลงจากปีก่อนราว 25,000 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าส่งออก 98,000 ล้านบาท โดยมีตลาดส่งออกส่วนใหญ่อยู่ในอาเซียนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 50
ส่วนกุ้งมีผลผลิตลดลงจากโรคระบาด (EMS) ทำให้ราคากุ้งดิบปรับตัวสูงขึ้นเกือบเท่าตัว รวมทั้งกุ้งไทยยังถูกสหรัฐฯ เก็บภาษีอากรตอบโต้การอุดหนุน (CVD) อีกด้วย คาดว่าผลผลิตกุ้งในปีนี้จะมีปริมาณสูงสุดไม่เกิน 350,000 ตันเท่านั้น ประกอบกับการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา จนทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนไม่สามารถรับคำสั่งซื้อสินค้าได้เพราะเกรงจะไม่มีกุ้งเพียงพอต่อการแปรรูปส่งออก ประเมินว่าการส่งออกกุ้งไทยตลอดปี 2556 จะมีประมาณ245,000 ตัน ลดลงร้อยละ 30 มูลค่าส่งออก 82,000 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 15 หรือรายได้ลดลงจากปีก่อนประมาณ 15,000 ล้านบาทขณะที่ไก่พยุงอุตสาหกรรมอาหารส่งออกมิให้ชะลอตัวไปมาก หลังจากที่ได้รับปัจจัยบวกจากการที่สหภาพยุโรปยกเลิกคำสั่งห้ามนำเข้าไก่สดจากไทยในปีก่อนหน้า นอกจากนี้มีแนวโน้มว่าประเทศคู่ค้าหลัก เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อาจยกเลิกห้ามนำเข้าไก่สดจากไทยในไม่ช้าเช่นกัน โดยในปี 2556 คาดว่าการส่งออกไก่และสัตว์ปีกจะมีปริมาณ 646,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 โดยจำแนกเป็นไก่สุกแปรรูปร้อยละ 73 และไก่สดแช่เย็นแช่แข็งร้อยละ 27 มูลค่าส่งออกจะอยู่ที่ 80,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3”
ทั้งนี้ปัจจัยเสี่ยงในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 ยังคงให้ความสำคัญกับความผันผวนของเงินบาท ซึ่งก่อนหน้านี้ธุรกิจกังวลการแข็งค่าของเงินบาทและกังวลว่าจะแข็งค่ามากกว่าเงินสกุลภูมิภาค แต่ในปัจจุบันธุรกิจกังวลเรื่องความผันผวนของค่าเงินบาท แม้ว่าเงินบาทจะมีแนวโน้มอ่อนค่าลงโดยมาเคลื่อนไหวอยู่ในระดับสูงกว่า 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯแล้วก็ตาม เนื่องจากความผันผวนของค่าเงินทำให้การวางแผนการผลิตรวมทั้งการรับคำสั่งซื้อยากขึ้น แม้ว่าในระยะสั้น ค่าเงินบาทจะมีทิศทางอ่อนค่าลง แต่จากปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจ เชื่อว่าเงินบาทจะยังมีแนวโน้มแข็งค่าซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอีกระรอกหนึ่ง
“เมื่อประเมินรายได้ในรูปเงินบาทที่หายไปจากการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งตลอดระยะ 4 เดือนที่ผ่านมา อุตสาหกรรมอาหารไทยสูญเสียรายได้ในรูปเงินบาทที่เกิดจากการแข็งค่าของเงินบาทคิดเป็นมูลค่าประมาณ 7,200 ล้านบาท หรือคิดเป็นรายได้ที่หายไปร้อยละ 2.4 จากรายได้ที่ควรจะได้รับในรูปเงินบาทในกรณีที่เงินบาทไม่แข็งค่า โดยรายได้ที่หายไปสูงสุดอยู่ที่เดือนเมษายนที่ผ่านมาคิดเป็นมูลค่าเกือบ 3,200 ล้านบาท เนื่องจากค่าเงินบาทในเดือนเมษายนแข็งค่ามากที่สุดในอัตราร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม”
นายอมร ยังเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาวะอุตสาหกรรมอาหารประจำเดือนพฤษภาคม 2556 ว่า มีค่าความเชื่อมั่นอยู่ที่ระดับ 47.4 (ต่ำกว่าระดับ 50.0) แสดงว่าความเชื่อมั่นทางธุรกิจแย่ลง ขณะที่ความเชื่อมั่นใน 3 เดือนข้างหน้ามีค่าเท่ากับ 53.4 ซึ่งยังอยู่ในระดับความเชื่อมั่นที่ดี โดยต้นทุนวัตถุดิบเป็นองค์ประกอบหลักที่ภาคธุรกิจมองว่าเป็นอุปสรรคต่อธุรกิจทั้งปัจจุบันและอนาคต
หากพิจารณารายกลุ่มสินค้าพบว่า มีดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในกลุ่มสินค้าเนื้อสัตว์เพียงกลุ่มเดียวที่มีความเชื่อมั่นทางธุรกิจดีขึ้น ขณะที่กลุ่มสินค้าข้าวและแป้งข้าว สัตว์น้ำ ผัก/ผลไม้ เครื่องปรุงรส และอาหารอื่นๆ มีความเชื่อมั่นทางธุรกิจแย่ลงทั้งหมด ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นใน 3 เดือนข้างหน้า ส่วนใหญ่มีระดับความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่ดี ยกเว้น กลุ่มสินค้าข้าวและแป้งข้าวที่มีความเชื่อมั่นทางธุรกิจแย่ลง จากราคาสินค้าส่งออกอยู่ในเกณฑ์สูงทำให้แข่งขันได้ยาก อีกทั้งวัตถุดิบในตลาดก็มีไม่เพียงพอเพื่อแปรรูปและส่งออก เนื่องจากผลผลิตข้าวส่วนใหญ่อยู่ในสต็อกของรัฐ
โดยข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ ในเดือนพฤษภาคม 2556 ประเด็นอัตราแลกเปลี่ยนเป็นข้อจำกัดอันดับ 1 ในการดำเนินธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมอาหาร โดยมีสัดส่วนร้อยละ 74.6 รองลงมาร้อยละ 69.8 คือปริมาณวัตถุดิบ ส่วนค่าจ้างแรงงานในปัจจุบัน ราคาน้ำมัน และกฎระเบียบ/มาตรการต่างประเทศ เป็นข้อกังวลของผู้ประกอบการในอันดับถัดมาว่าจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ส่วนแนวโน้มในอีก 3 เดือนข้างหน้า ข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการยังคงไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนปัจจุบัน