กรุงเทพฯ--12 มิ.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์
เกษตรฯ พอใจผลการดำเนินงานโครงการประกวดเกษตรกรปราดเปรื่องด้านการผลิตข้าวนาปี ผลผลิตข้าวของSmart Farmer ไทยในพื้นที่เหมาะสมสูง เกษตรกรมีผลตอบแทนในระดับที่พอใจ
ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กรมการข้าวจัดทำโครงการประกวดเกษตรกรปราดเปรื่องด้านการผลิตข้าวนาปี ซึ่งมีเป้าหมายให้ได้เกษตรกร Smart Farmer ที่สามารถผลิตข้าวได้กำไรสุทธิสูงสุด มีผลผลิตข้าวต่อไร่สูง ต้นทุนการผลิตข้าวต่อไร่ต่ำ และผลผลิตข้าวได้คุณภาพตามมาตรฐาน ตลอดจนได้องค์ความรู้จากเกษตรกรซึ่งอธิบายกระบวนการผลิตด้วยหลักวิทยาศาสตร์ โดยดำเนินการนำร่องในพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง 10 จังหวัดได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สุพรรณบุรี นครสวรรค์ พิษณุโลก พิจิตร และกำแพงเพชรซึ่งในวันนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ เกษตรกร Smart Farmer จำนวน 10 ราย ที่มีขีดความสามารถโดยเปรียบในการผลิตข้าวเปลือกเฉลี่ย 954 กิโลกรัมต่อไร่ ณ ความชื้น 15% ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 2,953 บาทต่อไร่ มีรายได้เฉลี่ย 14,307 บาทต่อไร่ และมีกำไรสุทธิเฉลี่ย 11,355 บาทต่อไร่ ทั้งนี้เกษตรกรทั้ง 10 ราย จะได้รับการกำหนดให้เป็นแปลงขยายผลการเรียนรู้เครือข่ายการพัฒนาการผลิตของกรมการข้าวต่อเนื่องไป ในขณะที่การทำนาโดยเกษตรกรทั่วไปนั้น ได้ผลผลิตข้าวเปลือกเฉลี่ย 707 กิโลกรัมต่อไร่ ณ ความชื้น 15% ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 5,984 บาทต่อไร่
มีรายได้เฉลี่ย 10,602 บาทต่อไร่ และมีกำไรสุทธิเฉลี่ย 4,618 บาทต่อไร่ ส่วนเกษตรกรที่ทำนาในพื้นที่ไม่เหมาะสม มีผลิตข้าวเปลือกเฉลี่ย 305 กิโลกรัมต่อไร่ ณ ความชื้น 15% ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 5,984 บาทต่อไร่ มีรายได้เฉลี่ย5,250 บาทต่อไร่ และมีขาดทุนสุทธิเฉลี่ย 734 บาทต่อไร่
จากข้อมูลขีดความสามารถของเกษตรกรแสดงให้เห็นว่าการทำนาในพื้นที่ที่เหมาะสม (Zoning) และดำเนินการผลิตตามหลักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเกษตรกร Smart Farmer นั้น เกษตรกรจะมีความสามารถในการบริหารจัดการต้นทุนของตนเองให้อยู่ในระดับร้อยละ 20 ของรายได้ และมีผลตอบแทนสุทธิถึงร้อยละ 79 ของรายได้ในขณะที่เกษตรกรทั่วไปและเกษตรกรที่ปลูกข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสมจะมีผลิตภาพการผลิตลดลง ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้สุทธิน้อยกว่าที่ควรจะเป็น นำไปสู่การบริหารรายได้ไม่สมดุลกับรายจ่าย ดังนั้นจึงเป็นข้อมูลที่นำไปประกอบการพิจารณาในการพัฒนาเกษตรกรสู่ Smart Farmer ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนมีความชัดเจนยิ่งขึ้นในการขับเคลื่อนนโยบายการกำหนดเขตเหมาะสมการผลิตสินค้าเกษตร (Agriculture Zoning) ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ จะขยายผลและดำเนินโครงการนี้ต่อไปอีก 2 ปี เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรชาวนาเข้าสู่ Smart Farmer ได้ข้อมูลและองค์ความรู้การผลิตข้าวที่ดีมากยิ่งขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการต้นทุนของเกษตรกรตลอดจนนำไปสู่การบริหารจัดการอุปสงค์อุปทานที่เหมาะสมในอนาคตและมีเสถียรภาพของราคาโดยกลไกตลาด