กรุงเทพฯ--12 มิ.ย.--สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
โครงการสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ หนึ่งในโครงการของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ที่จัดขึ้นเพื่อมุ่งเน้นให้เกษตรกร สามารถแก้ไขปัญหา พึ่งพาตัวเอง รู้จักคิดวิเคราะห์ วางแผนกระบวนการผลิต การใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจและรู้จักใช้เทคโนโลยี โดยเน้นการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพปลอดภัยต่อผู้บริโภค เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สนองนโยบาย Smart Farmer หรือ เกษตรกรปราดเปรื่องของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเตรียมความพร้อมให้เกษตรกรในการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ในปี พ.ศ. 2558
ภารกิจหนึ่งที่สำคัญของ ส.ป.ก. คือ การผลักดันให้สินค้าเกษตรได้มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี : Good Agricultural Practice (GAP) ซึ่งจะใช้เป็นมาตรฐานการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยในกลุ่มเออีซี
นางนเรศร์ นวลพุทรา เกษตรกรเพชรน้ำงามของโครงการสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ ผู้เคยประกอบอาชีพรับจ้างก่อสร้าง ไม่เคยมีที่ดินเป็นของตนเอง ได้เข้าร่วมโครงการฯ เป็นรุ่นที่ 1 โดยใช้เวลา 3 เดือนในการอบรมที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครราชสีมา แล้วทดลองเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่รองรับนิคมเศรษฐกิจพอเพียง อ.วังน้ำเขียว ในพื้นที่จำนวน 2 ไร่ 2 งาน นางนเรศร์เล่าว่า สภาพผืนดินตอนนั้นแห้งแล้งและไม่เหมาะแก่การทำการเกษตร จึงทำการปรับปรุงพื้นที่ และนำความรู้เรื่องการปลูกพืชตามสภาพอากาศ การทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ ตลอดจนการจัดทำบัญชีครัวเรือน ทำให้ทุกอย่างลงตัวมากขึ้น ต่อมามีการรวมกลุ่มและตั้งเป็นนิคมเศรษฐกิจพอเพียง ส่งผลให้มีพ่อค้ามารับซื้อผักไร้สารถึงที่บ้าน นางนเรศร์จึงมีรายได้ตลอดทั้งปี
“ผักไร้สารที่นิคมเศรษฐกิจพอเพียง อำเภอวังน้ำเขียว จะไม่มีปัญหาเรื่องแมลง ทั้งๆที่ไม่ได้ใช้สารเคมีเพื่อฆ่าแมลง แต่เราคิดและเริ่มต้นทำตั้งแต่เตรียมดิน โดยใช้ปุ๋ยชีวภาพ ใช้น้ำปุ๋ยชีวภาพ เป็นสารไล่แมลงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่กลุ่มเกษตรกรช่วยกันทำขึ้นมา เมื่อบำรุงดินดี แมลงพวกนี้ก็จะหายไป” ในส่วนของการเปิดการค้าเสรี AEC กลุ่มเกษตรกรมีความมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า “สินค้าพืชผักของตนนั้นมีมาตรฐานสูงกว่ามาตรฐาน GAP เสียอีก”
“ทุกวันนี้ถึงต้องทำงานหนักแต่กลายเป็นผลตอบแทนที่สูงค่า ไม่ต้องกลับไปทำงานก่อนสร้างเป็นลูกจ้างเหมือนแต่ก่อน พืชผักคุณภาพที่ได้จากน้ำพักน้ำแรงของเรา เราสามารถกำหนดราคาเองได้ มีเท่าไหร่ก็ขายหมด ถึงเหนื่อยกายแต่ก็สุขใจจริงๆ” นางนเรศร์ กล่าวทิ้งท้ายถึงความสำเร็จที่ได้รับจากโครงการ!!
สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.)
โทร./โทรสาร 02-2822577 สายด่วนส.ป.ก. 1764 http://www.alro.go.th