กรุงเทพฯ--13 มิ.ย.--โรงพยาบาลพญาไท 2
รพ.พญาไท 2 ทุ่มงบ 60 ล้านบาท เปิดศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับชูแพทย์เฉพาะทาง และนวัตกรรม ครบเครื่องที่สุดในประเทศไทยเตรียมพร้อมรับการเปิดประชาคมอาเซียน
โรงพยาบาลพญาไท 2 อินเตอร์เนชันแนล ทุ่มงบประมาณกว่า 60 ล้าน เปิดศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับ (GASTRO-INTESTINAL & LIVER CENTER : GI) ที่ครบวงจรและทันสมัยที่สุดแห่งแรกในกรุงเทพมหานคร พร้อมให้บริการแบบ One Stop Service เพื่อเป็นศูนย์ส่องกล้องทางเดินอาหารและตับที่ครบวงจรที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ด้วยทีมแพทย์เฉพาะทางที่มีมากที่สุด ตอกย้ำความพร้อมในการรองรับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้นหลังก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) พร้อมเผยยอดสถิติผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินอาหารในไทยและอาเซียนที่เพิ่มสูงขึ้น เตือนรับมือโรคทางเดินอาหารในหน้าฝน
นพ. อนันตศักดิ์ อภัยรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพญาไท 2 อินเตอร์เนชันแนล เปิดเผยว่า “โรงพยาบาลพญาไท 2ฯ ได้ทุ่มงบประมาณกว่า 60 ล้านบาท เปิดตัวศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับแบบครบวงจร โดยมุ่งเน้นบริการทางการแพทย์ที่ครบเครื่องมากที่สุดในประเทศไทย ทั้งแพทย์เฉพาะทางแบบ Sub-Specialist ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและมีมากที่สุดในประเทศไทย พร้อมด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ล่าสุดเพื่อมอบบริการทางการแพทย์ที่ดีที่สุด อาทิ เครื่องไฟโบรสแกน (Fibroscan) เพื่อใช้ตรวจภาวะตับแข็ง เหมาะสำหรับผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ซึ่งการตรวจใช้หลักการของการสะท้อนของคลื่นเสียง โดยใช้เวลาตรวจเพียง 5 นาทีก็สามารถทราบผลได้ทันที
นอกจากนี้ ยังมีเครื่องมือแพทย์ที่พร้อมสรรพอยู่ในศูนย์ GI แห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) เครื่องส่องกล้องลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (Flexible Sigmoidoscopy) การตรวจสวนแป้งลำไส้ใหญ่ (Double Contrast Barium Enema) เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ด้วยภาพเสมือนจริง (Computed Tomography Colonoscopy) เป็นต้น โดยผู้ป่วยไม่ต้องย้ายไปตรวจที่หน่วยบริการทางการแพทย์อื่นๆ ซึ่งช่วยลดความยุ่งยาก เนื่องจากได้ขยายพื้นที่ให้บริการกว่า 840 ตารางเมตร ในการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยได้รับการบริการที่รวดเร็ว และครบครันยิ่งขึ้น ทั้งห้องตรวจผู้ป่วย 8 ห้อง และห้องส่องกล้องทางเดินอาหาร 3 ห้อง รวมถึงแพทย์เฉพาะทาง และบุคลากรทางการแพทย์รวม 46 คน ซึ่งพร้อมสรรพในสถานที่แห่งเดียว
นอกเหนือจากการพัฒนาศูนย์ GI ของโรงพยาบาลพญาไท 2 อินเตอร์เนชันแนล ให้มีมาตรฐานระดับสากลแล้ว ยังเป็นการเตรียมความพร้อมรับกับการเปิดประชาคมอาเซียนที่จะมีขึ้นในปี 2558 รวมทั้ง ตอบสนองนโยบายรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์ (Medical Tourism) ซึ่งจะส่งผลให้มีจำนวนผู้ใช้บริการชาวต่างชาติเข้ามาใช้บริการทางการแพทย์ของประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายว่า ในปี 2556 นี้ จะมีผู้ใช้บริการศูนย์ GI ประมาณ 2,500 คนต่อเดือน หรือ 30,000 คนต่อปี โดยมีสัดส่วนของผู้ใช้บริการชาวไทย 90% และชาวต่างชาติ 10% คิดเป็นรายได้ 9% ของรายได้รวมทั้งโรงพยาบาล ที่คาดว่า ปีนี้จะมี 300 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% จากปีที่ผ่านมา
ด้าน นายแพทย์นัทธิวุธ วัฒนารักษ์สกุล อายุรแพทย์โรคทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลพญาไท 2 อินเตอร์เนชันแนล กล่าวเสริมว่า สำหรับสถิติทางด้านการแพทย์เกี่ยวกับโรคระบบทางเดินอาหารและตับ พบว่า โรคท้องเสีย (อุจจาระร่วง) และอาหารเป็นพิษ มักพบบ่อยในคนกรุงเทพฯ โดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนฤดูกาล ซึ่งตอนนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว ควรต้องระวังเรื่องความสะอาดของอาหาร น้ำดื่ม และสุขอนามัยส่วนตัวให้มาก และหากมีอาการมาก ควรรีบมาพบแพทย์แต่เนิ่นๆ
นอกจากนี้ สำหรับโรคทางเดินอาหารที่ร้ายแรง เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมากเป็นลำดับ 3 ในเพศชาย และเป็นลำดับ 5 ในเพศหญิง ซึ่งหากผู้ป่วยได้รับการตรวจวินิจฉัยที่แม่นยำ และรวดเร็วตั้งแต่ในระยะแรก จะสามารถรักษาให้หายขาดได้ง่าย และช่วยให้ผู้ป่วยประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้นด้วย ซึ่งปีที่ผ่านมา รพ.ได้รักษาผู้ป่วยโรคระบบทางเดินอาหารมากกว่า 25,289 ราย และได้ใช้การส่องกล้องตรวจระบบทางเดินอาหารสำหรับผู้ป่วยมากกว่า 2,240 ราย”