กรุงเทพฯ--14 มิ.ย.--Toyota Motor Thailand
นายสมชัย ศิริวัฒนโชค อธิบดีกรมการขนส่งทางบก นายวิเชียร เอมประเสริฐสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ และนายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บจก.โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย และนายธนกร ศรีจอมขวัญ ประธานชมรมผู้แทนจำหน่ายโตโยต้า ร่วมลงนามความร่วมมือจัดอบรมโครงการหลักสูตร “พัฒนาครูฝึกอบรมขับขี่ปลอดภัย” เพื่อสร้างครูฝึกในการถ่ายทอดความรู้และแนะนำการขับขี่อย่างปลอดภัย ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งในการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยไปสู่ชุมชนได้อย่างยั่งยืน ซึ่งถือเป็นการบูรณาการความรับผิดชอบต่อสังคมของเครือข่ายถนนสีขาวระหว่างโตโยต้า กรมการขนส่งทางบก รวมถึงผู้แทนจำหน่ายโตโยต้า โดยได้จัดพิธีลงนามความร่วมมือเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2556 ณ อาคาร 8 กรมการขนส่งทาง-บก เขตจตุจักร กรุงเทพฯ
ในปี พ.ศ. 2556 นับเป็นปีแรกในการก้าวเข้าสู่ 50 ปีต่อไปของโตโยต้าในประเทศไทย เราจึงมีความตั้งใจที่จะก้าวสู่ทศวรรษใหม่กับค่านิยมขององค์กรภายใต้แนวคิด “โตโยต้า ขับเคลื่อนความสุข” (Toyota… Mobility of happiness) ด้วยความตั้งใจในการสร้างสรรค์รอยยิ้มและความสุขให้เกิดแก่คนไทยทุกคน หนึ่งในกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมของโตโยต้าที่จะขับเคลื่อนความสุขสู่สังคมไทย คือ การบูรณาการความร่วมมือของเครือข่ายถนนสีขาว ภายใต้โครงการ “ถนนสีขาว” ที่มุ่งกระตุ้นจิตสำนึกในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย และส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับกฎ วินัยจราจร รวมถึงน้ำใจในการใช้รถใช้ถนน เพื่อช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุจากชุมชนสู่ระดับจังหวัด เพื่อให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง
บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และชมรมผู้แทนจำหน่ายโตโยต้า ร่วมมือกับ กรมการขนส่งทางบก เปิดอบรมหลักสูตร “โครงการพัฒนาครูฝึกอบรมขับขี่ปลอดภัย” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐ และส่งเสริมให้ผู้ขับขี่รถยนต์ได้เรียนรู้ถึงกฎ วินัยจราจร รวมถึงทักษะการขับรถที่ถูกต้องปลอดภัย ด้วยการสร้างครูฝึกผ่านผู้แทนจำหน่ายโตโยต้าทั่วประเทศ และนำองค์ความรู้ไปถ่ายทอดแก่ ประชาชนถือใบขับขี่ใหม่ หน่วยงานภาครัฐท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ประชาชนทั่วไป นักศึกษา และลูกค้าโตโยต้าต่อไป ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการลดอุบัติเหตุได้อย่างยั่งยืน โดยใช้หลักสูตรในการอบรมจาก “ศูนย์การศึกษาความปลอดภัยโมบิลิตะ” หรือ “Mobilitas” ภายใต้การดูแลของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ร่วมกับหลักสูตรความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎและวินัยจราจร จากกรมการขนส่งทางบกโดยสำนักสวัสดิภาพการขนส่งทางบก
โครงการพัฒนาครูฝึกอบรมขับขี่ปลอดภัย ได้ถูกพัฒนาขึ้นภายใต้หลักสูตร “Toyota Safe Driving Education” ทั้งนี้ ผู้รับฝึกสอนต้องผ่านหลักเกณฑ์การอบรม จำนวนชั่วโมงเรียนไม่น้อยกว่า 30 ชั่วโมง (หรือ 5 วัน) ซึ่งประกอบด้วย
ภาคทฤษฎี
สถานการณ์และภาพลักษณ์ของประเทศในด้านอุบัติเหตุบนท้องถนน ผลกระทบจากความสูญเสีย และลดความสูญเสียอย่างไร
คนไทยกับความเชื่อเรื่องอุบัติเหตุ
สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุจราจร
มารยาทและน้ำใจบนท้องถนน กฎหมายจราจรทางบกและโทษปรับที่ควรรู้
ภาคปฏิบัติ
การเตรียมตัวก่อนการขับรถ
ท่านั่งและการจับพวงมาลัยที่ถูกต้อง
การตรวจสภาพรถก่อนการเดินทาง
การบรรยายด้านเข้าใจขีดความสามารถหรือข้อจำกัดของ ผู้ร่วมใช้ถนน
Child vision (ทดสอบมุมมองของเด็กอายุไม่เกิน 6 ขวบ)
Senior citizen kit (ทดสอบขีดความสามารถทางร่างกายของคนชรา)
Mock DUI goggles (ทดสอบความสามารถในการมองเห็น ผลจากฤทธิ์ของแอลกอฮอล์)
Night time visibility (ความสามารถของการ มองเห็นในที่มืด)
Blind spot (สังเกตจุดบอดรอบๆ บริเวณรถ)
การขับรถ
การทดสอบการขับขี่จริงในรูปแบบต่าง ๆ
Slalom driving and driving posture (การขับขี่แบบสลาลมและท่าทางการนั่งขับที่ถูกต้อง)
Simulate drunken driving (การขับขี่ โดยจำลองสถานการณ์เมาแล้วขับ)
Driving in narrow space (การขับขี่ในพื้นที่แคบ)
ผู้ฝึกสอน ดำเนินการฝึกสอนโดย
กรมการขนส่งทางบก
บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด
คุณสมบัติของผู้รับการฝึกสอน
ผู้รับการฝึกสอนเพื่อเป็นครูฝึก คือ ตัวแทนจากผู้แทนจำหน่ายโตโยต้า อย่างน้อยจำนวน 2 คนต่อ 1 แห่ง โดยมีคุณสมบัติของผู้รับการฝึกสอน ดังนี้
1. มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี
2. มีความรู้เรื่องการทำงานของเครื่องยนต์ ระบบเครื่องยนต์
3. มีใบอนุญาตขับรถยนต์ถูกต้อง (อย่างน้อย 5 ปี)
4. มีความสนใจที่จะรับการสอนและนำไปถ่ายทอดความรู้ได้อย่างเหมาะสม
5. ไม่เป็นผู้มีร่างกายพิการจนไม่สามารถขับรถได้
6. ไม่มีโรคประจำตัวที่เห็นว่าอาจเป็นอันตรายขณะขับรถ
7. ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือน และไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกยึดหรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถ
อนึ่ง การจัดอบรมหลักสูตรดังกล่าว มีจุดประสงค์เพื่อสร้างครูฝึกให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อนำความรู้ไปถ่ายทอดแก่คนในชุมชนต่อไปโดยมีแผนการดำเนินงาน คือ
ปีที่ 1 : พ.ศ. 2556 จำนวนวิทยากรจากผู้แทนจำหน่าย 20 แห่ง
ปีที่ 2 : พ.ศ. 2557 ขยายจำนวนวิทยากร 25% ของจำนวน
ผู้แทนจำหน่ายโตโยต้าทั่วประเทศ
ปีที่ 3 : พ.ศ. 2558 ขยายจำนวนวิทยากร 50% ของจำนวนผู้แทนจำหน่ายโตโยต้า ทั่วประเทศ (ครบ 100%ของจำนวนผู้แทนจำหน่ายฯ ในพ.ศ. 2559)
ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
ผู้รับการฝึกสอนได้รับการพัฒนาเป็น “ครูฝึก” และนำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดความรู้ให้แก่ ประชาชนที่ถือใบขับขี่ใหม่ หน่วยงานภาครัฐท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ประชาชนทั่วไป นักศึกษา และลูกค้า โตโยต้า เพื่อให้ผู้รับการอบรมมีจิตสำนึกของการขับขี่ปลอดภัย และองค์ความรู้การใช้รถใช้ถนนเพิ่มขึ้น 50% และจำนวนอุบัติเหตุในชุมชนมีสถิติก่อนและหลังอุบัติเหตุลดลง 50% ของผู้รับการอบรม ซึ่งเก็บข้อมูลโดยผู้แทนจำหน่ายโตโยต้า
นายวิเชียร กล่าวว่า “โตโยต้า ถนนสีขาว ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องกว่า 25 ปี โดยมีความมุ่งมั่นร่วมขับเคลื่อนความสุขและสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยบนท้องถนน โดยหนึ่งในการบูรณาความร่วมมือ คือ โครงการพัฒนาครูฝึกอบรมขับขี่ปลอดภัย ที่โตโยต้ามีนโยบายที่จะขยายความร่วมมือของเครือข่ายธุรกิจโตโยต้าให้เกิดขึ้น ด้วยการสนับสนุนให้ผู้แทนจำหน่ายโตโยต้าได้มีส่วนขับเคลื่อน ผสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐท้องถิ่น เป็นการทำงานเชิงปฏิบัติการด้านความปลอดภัยบนท้องถนนให้เกิดขึ้นในระดับชุมชนขยายสู่ระดับจังหวัดและภูมิภาคต่อไป”
การเปิดโครงการในครั้งนี้ ได้มีการสาธิตการอบรมขับขี่ปลอดภัยให้แก่ผู้เข้าร่วมงาน โดยแบ่งออกเป็น 4 ฐาน คือ
ฐานที่ 1 สร้างจิตสำนึกบนท้องถนน คือ หัวใจของความปลอดภัย ประกอบด้วย
ชุดจำลองการเคลื่อนไหวของผู้สูงอายุ (Instant senior experience) เพื่อให้ผู้ขับรถยนต์ได้รับรู้และเข้าใจถึงขีดความสามารถของร่างกายในผู้สูงอายุผ่านอุปกรณ์
อิทธิพลของแอลกอฮอล์ต่อการขับรถยนต์ (Influence of alcohol) เพื่อจำลองให้เห็นความสามารถในการมองเห็นที่เปลี่ยนไปจากปกติเมื่อดื่มของมึนเมา รวมไปถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการเมาแล้วขับ
ฐานที่ 2 จิตสำนึกในการขับขี่ปลอดภัยจากความมือ (Night vision driving) เพื่อให้ผู้ขับขี่เข้าใจและตระหนักถึงสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปจากกลางวันเป็นกลางคืน และรู้ถึงข้อความปฏิบัติในการขับรถยนต์
ฐานที่ 3 ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ
ตรวจเช็ครถโรงเรียน เน้นให้ความสำคัญในการเตรียมความพร้อม โดยมี 3 ลักษณะ คือ
ขณะรถจอด ตรวจเช็คสภาพตัวรถ ความปลอดภัยใต้ท้องรถและรอบๆ ตัวรถ ตรวจสอบพนักงานขับรถและเด็กนักเรียนเป็นต้น
ขณะรถวิ่ง ขับรถไม่เร็วเกินไป มีน้ำใจในการใช้รถใช้ถนน
ขณะจอดรถ ควรมีการเช็คชื่อเด็กตอนลงจากรถให้ครบถ้วนก่อนล็อคประตูรถ เพื่อตรวจเช็คว่าไม่มีเด็กตกค้างในรถ
ขับต้องเช็ค (Blind spot from driver seat) เพื่อให้ผู้ขับรถเข้าใจและตระหนักถึงขีดจำกัดในการมองเห็นของตนเองและหาวิธีป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากจุดบอดต่างๆ ในขณะขับรถ
ฐานที่ 4 ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ
เข็มขัดนิรภัย (ที่นั่งด้านหลัง) มีไว้ทำไม ? (An importance of seat belf for back seat) เน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญและตระหนักถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นหากผู้โดยสารไม่คาดเข็มขัดนิรภัย
รู้ก่อนเบรก (Before putting your foot on the brake) มุ่งเน้นให้ผู้ขับเข้าใจถึงลักษณะและระยะในการเบรก
อนึ่งภายในงานได้มีการรับสมัครผู้ที่สนใจเข้าร่วมอบรม ซึ่งจะถูกจัดขึ้นเป็นรอบพิเศษ โดยจะจัดในวันที่ 7 กรกฎาคม ศกนี้ ณ อาคาร 8 ศูนย์สอนขับรถและพัฒนาศักยภาพผู้ขับรถยนต์ กรมการขนส่งทางบก
นายสมชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า “กรมการขนส่งทางบกได้วางแผนและส่งเสริมให้สำนักงานขนส่งทั่วประเทศ ดำเนินโครงการที่สอดคล้องกับนโยบาย “ทศวรรษแห่งความปลอดภัย” ซึ่งสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ เกิดจากผู้ขับขี่ขาดวินัยและจิตสำนึก ดังนั้น จึงได้ร่วมมือกับทางโตโยต้า และผู้แทนจำหน่าย โตโยต้า พัฒนาหลักสูตรอบรมทั้งภาคทฤษฎี และปฏิบัติ แก่วิทยากรของผู้แทนจำหน่ายโตโยต้าทั่วประเทศ เพื่อนำไปถ่ายทอดองค์ความรู้ ส่งเสริมให้ประชาชนในแต่ละจังหวัด มีจิตสำนึก และตระหนักถึงน้ำใจ และวินัยในการใช้รถใช้ถนน ตลอนจนเป็นแบบอย่างของการมีวัฒนธรรมความปลอดภัยบนถนนอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะยิ่งในปี พ.ศ. 2557 ที่ประเทศไทยของเรา กำลังจะก้าวสู่การเป็นประชาคมอาเซี่ยน”
นายธนกร เปิดเผยว่า “การดำเนินกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมของโตโยต้า ตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ ถือเป็นนโยบายที่ผู้แทนจำหน่ายโตโยต้าได้นำมาเป็นแนวทางในการดำเนินงานเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชนในท้องถิ่น โดยโครงการพัฒนาครูฝึกดังกล่าว จะช่วยขยายเครือข่ายการทำดีเพื่อสังคมให้เกิดขึ้นในแต่ละชุมชน อีกทั้งยังช่วยเสริมศักยภาพการทำงานเพื่อแบ่งเบาภาระของภาครัฐในแต่ละท้องถิ่น ผ่านความร่วมมือและปฏิบัติงานร่วมกับสำนักงานขนส่งในแต่ละจังหวัด เครือข่ายภาครัฐท้องถิ่น รวมถึงพนักงานของผู้แทนจำหน่ายโตโยต้า โดยนำองค์ความรู้ด้านจิตสำนึก การใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัยที่ได้รับการถ่ายทอด จากครูฝึกสอนของกรมการขนส่งทางบกและโตโยต้า นำไปขยายสู่ประชนชนในชุมชน และสังคม เพื่อลดจำนวนอุบัติเหตุบนท้องถนนอย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย”
“โตโยต้า ขับเคลื่อนความสุข”