“ วิฑูรย์ ย้ำเอาจริงโรงงานมั่วปล่อยสารพิษ ปรับกระบวนทัศน์กำกับดูแลโรงงานพร้อมดำเนินการขั้นเด็ดขาดกับโรงงานที่ทำผิด"

ข่าวทั่วไป Friday June 14, 2013 09:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 มิ.ย.--กระทรวงอุตสาหกรรม ปลัดวิฑูรย์ ยันกระทรวงอุตสาหกรรม ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อการแก้ปัญหาข้อร้องเรียนจากโรงงาน ย้ำมีการตรวจสอบ พร้อมสั่งการเฉียบขาดทั้งเชิงรับเชิงรุก นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม แถลงผลการดำเนินงานเกี่ยวกับการร้องเรียนโรงงานในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งการป้องกันอุบัติเหตุอุบัติภัยในจังหวัดที่มีความเสี่ยงจำนวน 5 จังหวัดว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ปรับวิธีการดำเนินงานของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดให้สามารถกำกับดูแลพื้นที่ให้ทั่วถึงและครอบคลุมมากขึ้น และจัดตั้งคณะทำงานกำกับดูแลการบังคับใช้กฎหมายมาช่วยดำเนินงานตรวจสอบกิจการพื้นที่ที่มีเหตุเชื่อว่าไม่ได้ดำเนินการตามกฎหมาย หลังจากที่ผ่านมาได้รับข้อร้องเรียนจากประชาชนอย่างมากต่อกรณีการประกอบกิจการของโรงงานอุตสาหกรรมและได้สั่งการให้อุตสาหกรรมจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงเข้าไปตรวจสอบแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนต่างๆ อย่างเร่งด่วนเป็นลำดับแรก “ผมได้มอบให้อุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศลงพื้นที่และติดตามผลการดำเนินการอุตสาหกรรมในจังหวัดอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการออกคำสั่งแก้ไขปรับปรุงใดๆ ควรจะต้องกวดขัน ตรวจสอบดูแลการทำงานของเจ้าหน้าที่ด้วย และต้องเป็นผู้รับผิดชอบเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น การทำงานอย่างเข้มแข็งถูกต้องจะสามารถป้องกันความเสียหายและความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นได้ รวมทั้งยังเพิ่มความไว้วางใจและเชื่อมั่นในการประกอบกิจการอุตสาหกรรมให้ประชาชนในพื้นที่ใกล้ชิดโรงงานได้อีกด้วย ” ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว นายวิฑูรย์ กล่าวต่อไปว่า “ต่อจากนี้จะให้อุตสาหกรรมจังหวัดเน้นทำงานในเชิงรุกมากขึ้น โดยตั้งเป้าให้ทุกจังหวัดลดจำนวนเรื่องร้องเรียนให้เหลือน้อยที่สุด โดยเฉพาะกรณีการกำกับดูแลโรงงานที่มีการประกอบกิจการที่มีความเสี่ยงสูง ต้องยึดหลักการ “ป้องกันไว้ก่อน” เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุอันตราบเป็นเหตุให้มีการเสียชีวิตหรือบาดเจ็บพิการ โดยจะนำผลการตรวจสอบและสั่งการของคณะกรรมการกำกับการประกอบกิจการ ให้เป็นไปตามกฎหมายซึ่งมีอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นประธาน ไปเป็นบทเรียนเพื่อการแก้ไขป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ” นอกจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรมยังตั้ง 1.คณะทำงานสนับสนุนการแก้ปัญหาอันเนื่องมาจากโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อการทำงานเชิงรุก 2.ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดตามโครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมและโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว 3.ลงพื้นที่อย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อผลกระทบจากโรงงานอุตสาหกรรม 4.ปรับเปลี่ยนแต่ละจังหวัดให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมน่าอยู่ 5.ให้ความรู้ด้านกฎหมายแก่ผู้ประกอบการ พร้อมกับให้ความรู้เพื่อทำความเข้าใจกับชุมชนเพื่อจะให้โรงงานและชุมชนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ