กรุงเทพฯ--14 มิ.ย.--สำนักงาน กสทช.
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผย ผลการตรวจสอบการปฏิบัติตามแนวทางการตรวจสอบและกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขใบอนุญาต สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications — IMT) ย่าน 2.1 GHz ตามมติที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 16/2556 เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2556 ของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ทั้ง 3 ราย ครบ 1 เดือน ว่า จากการตรวจสอบอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz
ในส่วนของโปรโมชั่นที่นำโปรโมชั่น 2G/3G เดิมมาให้บริการนั้น บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN ระบบ Postpaid โปรโมชั่นคุยสะใจ และPrepaid โปรโมชั่นโทรสะใจ พบว่า อัตราค่าบริการปรับลดลงมากกว่า 15% ตามมติที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 16/2556 เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2556 และของบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด พบว่า อัตราค่าบริการปรับลดลงมากกว่า 15% ตามมติที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 16/2556 เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2556
ในส่วนของโปรโมชั่นใหม่ ของบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด พบว่า มีเฉพาะอัตราค่าบริการประเภทเสียง (Voice) เท่านั้นที่ลดลงไม่น้อยกว่า 15% ตามมติที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 16/2556 เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2556 ในส่วนของบริการที่ไม่ใช่ประเภทเสียง (non-voice) SMS MMS และอินเทอร์เน็ต อัตราค่าบริการยังไม่ลดลง 15% สำหรับบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด พบว่า อัตราค่าบริการทั้งประเภทเสียง (Voice) ไม่ใช่ประเภทเสียง (non-voice) SMS MMS และอินเทอร์เน็ต ยังไม่ปรับลดลงอย่างน้อย 15%
สำหรับบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ยังไม่เปิดให้บริการ และคาดว่าจะเปิดให้บริการประมาณวันที่ 25 มิถุนายน นี้
“สำนักงานจะรีบออกหนังสือแจ้งเตือนเป็นทางการแก่ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ทั้ง 2 ราย ให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขใบอนุญาตอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งเชิญผู้ประกอบการทั้ง 2 ราย ดังกล่าว เข้ามาหารือในเรื่องอัตราค่าบริการในส่วนของโปรโมชั่นใหม่ที่ยังไม่มีการปรับลดลงอย่างน้อย 15% ตามมติที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 16/2556 เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2556 ในวันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน 2556 เวลา 13.00 น. เพื่อให้ได้ข้อสรุป อย่างไรก็ตามประชาชนจะต้องได้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ในอัตราคาบริการที่ถูกลงไม่น้อยกว่า 15%” นายฐากร กล่าว
สำหรับคุณภาพของการให้บริการตรวจสอบเปรียบเทียบก่อนเปิดให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz (ก่อนวันที่ 7 พฤษภาคม 2556) ผลเป็นดังนี้
Operator Average FTP Download Throughput (kbps)
Before 2.1GHz launch After 2.1GHz launch 26 MAY 2013 — 12 JUNE 2013
(12 MAY 2013) (25 MAY 2013)
AIS 3G 900MHz (TH GSM) 1,218 2,235 1,910
AWN (52003) - 2,522 1,507
True Move H 3G 850MHz 1,812 1,716 1,751
Real Future (52004) - 3,496 2,444
Operator Voice successful call rate (%)
Before 2.1GHz launch After 2.1GHz launch 26 MAY 2013 — 12 JUNE 2013
(22 APRIL 2013) (25 MAY 2013)
AIS 3G 900MHz (TH GSM) 98.98 - 99.80
AWN (52003) - 100 99.60
True Move H 3G 850MHz 97.23 - 99.90
Real Future (52004) - 100 99.80
AIS 3G 900MHz (TH GSM) ทดสอบการโทรจำนวน 1,065 ครั้ง โทรสำเร็จ 1,062 ครั้ง
AWN (52003) ทดสอบการโทรจำนวน 1,235 ครั้ง โทรสำเร็จ 1,230 ครั้ง
True Move H 3G 850MHz ทดสอบการโทรจำนวน 984 ครั้ง โทรสำเร็จ 983 ครั้ง
Real Future (52004) ทดสอบการโทรจำนวน 803 ครั้ง โทรสำเร็จ 801 ครั้ง
เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า สำหรับผลการตรวจสอบไอโฟน 5 เครื่องที่มีปัญหานั้น สำนักงาน กสทช. ได้รับรายงานผลการตรวจสอบโทรศัพท์เคลื่อนที่ ไอโฟน 5 เครื่องดังกล่าวอย่างเป็นทางการจากบริษัท แอปเปิ้ล เซาท์ เอเชีย (ประเทศไทย) พร้อมด้วยเครื่องโทรศัพท์แล้ว เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2556 ซึ่งในรายงานผลการตรวจสอบพบว่า สาเหตุของความเสียหายของเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ ไอโฟน 5 ดังกล่าวเกิดจากแบตเตอรี่มีความร้อนสูงเกินกำหนด ซึ่งความร้อนที่เกินกำหนดนั้น พบว่าเกิดจากมีสกรู หรือน็อต หลุดไปอยู่ใต้ถาดแบตเตอรี่ และเจาะเข้าไปในแบตเตอรี่จนทำให้เกิดการลัดวงจร ทั้งนี้ พบว่าสกรู หรือน็อตที่ติดอยู่ไม่ใช่ส่วนประกอบเดิมของเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ ไอโฟน 5 และยังพบว่า น็อตที่อยู่บนฝาเครื่องภายนอกของตัวโทรศัพท์ที่เป็นรูปดาวห้าแฉก อยู่ผิดรูปแสดงให้เห็นว่าโทรศัพท์เครื่องนี้มีการถอดหรือเปิดเครื่อง โดยไม่ได้ใช้อุปกรณ์เฉพาะที่ใช้ในการเปิดเครื่องตามที่สำนักงานได้เคยแถลงให้ทราบแล้วก่อนหน้านี้
นายฐากร กล่าวต่ออีกว่า สำนักงานได้ทำการตรวจสอบซ้ำอีกครั้งตามกระบวนการตรวจสอบของสำนักงานแล้วได้ผลการตรวจสอบที่สอดคล้องกับผลการตรวจสอบของบริษัท Exponent ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ปรึกษาอิสระ สรุปผล ดังนี้
1. การตรวจสอบภายนอกก่อนทำการเปิดเครื่องโทรศัพท์
สำนักงาน กสทช. ตรวจสอบพบรอยสีขาวบริเวณมุมของตัวเครื่องโทรศัพท์ ตามที่บริษัท Exponent แจ้งผล ในส่วนของสกรูห้าแฉก 2 อัน ที่ติดอยู่กับตัวเครื่องโทรศัพท์ซึ่งทางบริษัท Exponent พบว่า 1 ใน 2 อันนั้นมีร่องรอยขีดข่วนและผิดรูปในเชิงเครื่องกล แสดงว่าอาจมีการเปิดเครื่องก่อนที่ Exponent จะได้รับ เนื่องจากสำนักงาน ได้รับเครื่องโทรศัพท์คืนในลักษณะที่เครื่องถูกแยกเป็นชิ้นส่วนจึงได้ตรวจสอบชิ้นส่วนสกรูที่ Exponent อ้างถึงและตรวจสอบจากภาพวิดีโอที่บันทึกการตรวจสอบของบริษัทที่ปรึกษาอิสระ โดยพบร่องรอยผิดรูปไปจากเดิมจริง และไม่อาจระบุได้ว่าร่องรอยดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนที่ผู้ใช้งานประสบเหตุการณ์หรือไม่
2. การตรวจสอบภายนอกก่อนทำการเปิดเครื่องโทรศัพท์ โดยการเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scanning)
สำนักงาน กสทช. ได้ทำการตรวจสอบชิ้นส่วนสกรู ชิ้นส่วนวัสดุ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ Exponent อ้างถึงและตรวจสอบจากภาพวิดีโอที่บันทึกการตรวจสอบของบริษัท (เนื่องจากสำนักงาน ได้รับเครื่องโทรศัพท์คืนในลักษณะที่เครื่องถูกแยกเป็นชิ้นส่วนแล้ว) พบสกรูที่ถาดแบตเตอรี่ พบวัสดุที่มุมของแบตเตอรี่ และพบชิ้นส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ใกล้ปุ่มเสียง นอกจากนั้นในตำแหน่งที่ต้องมีสกรูยึด พบว่าไม่มีสกรู ณ ตำแหน่งนั้น เช่นเดียวกับผลการทดสอบของบริษัท Exponent
3. การตรวจสอบเมื่อเปิดเครื่องโทรศัพท์ออกแล้ว
สำนักงาน กสทช. ตรวจสอบจากชิ้นส่วนของเครื่อง และภาพวิดีโอที่บริษัท Exponent บันทึกไว้แล้วพบว่า สกรูที่พบอยู่ที่ถาดแบตเตอรี่ (ตามข้อ 2.) มีรอยไหม้อย่างชัดเจน และมีขนาดเล็กกว่าสกรูที่ Exponent นำมาเปรียบเทียบ แต่ยังไม่อาจระบุได้ว่าสกรูดังกล่าวหลุดมาจากตำแหน่งใดภายในแผงวงจรของเครื่อง ในส่วนของวัสดุที่บริษัท Exponent พบที่มุมของแบตเตอรี่นั้น สำนักงานตรวจสอบแล้วเห็นควรเชื่อในผลวิเคราะห์ยืนยันจากบริษัทว่าเป็นโลหะทองแดง แต่ยังไม่อาจระบุได้ว่าชิ้นส่วนดังกล่าวหลุดมาจากตำแหน่งใดภายในแผงวงจรของเครื่อง ในส่วนของชิ้นส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ที่ Exponent พบใกล้ปุ่มเสียงนั้น สำนักงานตรวจสอบแล้วเห็นว่าเป็นชิ้นส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ หรืออุปกรณ์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แต่ยังไม่อาจระบุได้ว่าชิ้นส่วนนั้นมีชื่อเรียกทางวิชาการอิเล็กทรอนิกส์ว่าอย่างไร และอยู่ในตำแหน่งใดภายในแผงวงจรของเครื่อง และในส่วนที่บริษัท Exponent พบว่าตำแหน่งนั้นต้องมีสกรูยึดแต่ว่าไม่มีสกรูอยู่นั้น สำนักงานตรวจสอบแล้วพบว่าไม่มีสกรูอยู่ และยังไม่อาจระบุได้ว่า สกรูที่ควรยึดอยู่ ณ ตำแหน่ง ดังกล่าว หายไปไหน
4. การตรวจสอบเพิ่มเติม
เมื่อสำนักงาน กสทช. นำแบตเตอรี่ที่ได้คืนมาจากบริษัท Exponent จำนวน 18 รอยพับมาแผ่ออก พบว่า ที่ตำแหน่งของสกรูที่ฝังในแบตเตอรี่ พบรูในแผ่นโลหะขดลึกไปหลายชั้นเซลล์ (รอยพับที่ 4 6 และ 8) อันเป็นสาเหตุทำให้แบตเตอรี่มีความร้อนสะสมอยู่ในขณะที่เครื่องฯ เปิดใช้งาน ซึ่งอาจทำให้ความร้อนส่งผ่านไปทำให้สกรูมีความร้อนด้วย เมื่อสะสมบ่อยครั้งขึ้นจึงทำให้สกรูซึ่งเป็นโลหะแข็งแทงทะลุผ่านชั้นเซลล์ของแบตเตอรี่ลงไปจนเกิดการลัดวงจร (ขั้วบวกและลบของแบตเตอรีชนกันโดยไม่มีฉนวนหุ้ม หรือกั้นระหว่างกัน)
ทั้งนี้ สัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าของเครื่องได้ขอเข้าพบสำนักงาน กสทช. เพื่อสอบถามข้อเท็จจริง และขอทราบผลการตรวจสอบของบริษัท Exponent แล้ว ซึ่งเจ้าของเครื่องยืนยันไม่ได้ทำการเปิดเครื่อง และได้นำเครื่องส่งที่ศูนย์บริการ AIS ณ ห้างสรรพสินค้า Fashion Island รามอินทรา และศูนย์บริการได้แนะนำให้นำเครื่องมาส่งที่ศูนย์บริการส่วนกลางAISนนทบุรี
เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้ใช้เครื่องโทรศัพท์ที่ได้มาตรฐาน สำนักงาน กสทช. จึงได้ดำเนินการตรวจสอบเพิ่มเติม โดยในวันนี้ สำนักงาน กสทช. ได้จัดซื้อเครื่องโทรศัพท์ไอโฟน 5 พร้อมทั้งอุปกรณ์ในการเปิดเครื่องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะนำมาตรวจสอบเปรียบเทียบให้ได้ข้อเท็จจริงที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
เลขาธิการ กสทช. กล่าวเพิ่มเติมว่า หากมีเหตุการณ์เช่นเดียวกันนี้เกิดขึ้นอีกไม่ว่ากับโทรศัพท์รุ่นใดก็ตามขอให้เจ้าของเครื่องแจ้งปัญหามาที่ Call Center 1200 ของสำนักงาน กสทช. ได้ทันที พร้อมทั้งส่งเครื่องพร้อมอุปกรณ์มาให้ตรวจสอบ หรือหากเจ้าของเครื่องได้แจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจส่งเครื่องมายังสำนักงาน กสทช. เพื่อตรวจสอบ และสำนักงาน กสทช. จะได้ดำเนินการกับปัญหาดังกล่าวตามอำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ให้อำนาจสำนักงาน กสทช. ดำเนินการต่อไป พร้อมนี้ สำนักงาน กสทช. จะเชิญบริษัทผู้จัดจำหน่ายมาสอบถามว่าได้มีการเยียวยาเจ้าของเครื่องให้เป็นที่พอใจแล้วหรือไม่ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความคุ้มครองอย่างเป็นธรรม
สำหรับประชาชนผู้ใช้บริการหากประสพปัญหาเรื่องอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ไม่ลดลงจากเดิม 15% หรือมีปัญหาเรื่องคุณภาพการบริการ ก็สามารถร้องเรียนมาได้ที่ Call Center สำนักงาน กสทช. 1200 หรือSMS 1200 เช่นกัน