กรุงเทพฯ--14 มิ.ย.--ปภ.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่ฝึกซ้อมแผนการอพยพประชาชนจากอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (คลื่นลมแรง) ระดับกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย (S — DEX 2013) ระหว่างวันที่ 15 และ 18 - 19 มิถุนายน 2556
เพื่อให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถปฏิบัติการช่วยเหลือและอพยพผู้ประสบภัยได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ รวมถึงทดสอบความพร้อมของอุปกรณ์เครื่องมือและระบบแจ้งเตือนภัยให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ตลอดจนเป็นการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยสามารถปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องปลอดภัย
นายโชตินรินทร์ เกิดสม ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานีกล่าวว่าปัจจุบันหลายพื้นที่ของประเทศไทยประสบสถานการณ์อุทกภัย ซึ่งมีแนวโน้มทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมืออุทกภัย วาตภัย ดินโคลนถล่มและคลื่นลมแรงในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 11 สุราษฎร์ธานี
จึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่ฝึกซ้อมแผนการอพยพประชาชนจากอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (คลื่นลมแรง)ระดับกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย โดยร่วมกับจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง ดำเนินการฝึกซ้อมแผน ฯ ระหว่างวันที่ 15 และ 18 - 19 มิถุนายน 2556ดังนี้ ?ในวันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน 2556 จัดประชุมเชิงวิชาการด้านสาธารณภัย วันอังคารที่ 18 มิถุนายน 2556 การฝึกซ้อมเฉพาะหน้าที่ (Functional Exercise : FEX) ณ โรงแรม ดิโอวาเลย์ (กม.18) อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี วันพุธที่ 19 มิถุนายน 2556 ฝึกซ้อมเต็มรูปแบบ (Full-scale Exercise : FSX)ณ แหลมโพธิ์ ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานีโดยมีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ (Incident Command) เพื่อเป็นกลไกการประสานระบบการจัดการเหตุฉุกเฉิน อาทิ การควบคุม สั่งการ
การประสานงานทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติของหน่วยงานและระหว่างหน่วยงาน ซึ่งการฝึกซ้อมแผนในครั้งนี้เป็นการบูรณาการและเตรียมความพร้อมให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติการเฝ้าระวัง แจ้งเตือนภัย รวมถึงประสานการปฏิบัติการช่วยเหลือและอพยพผู้ประสบภัยได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ
อีกทั้งเป็นการทดสอบความพร้อมของอุปกรณ์เครื่องมือและระบบแจ้งเตือนภัยให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้ทันทีที่เกิดภัยตลอดจนเป็นการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย สามารถปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องปลอดภัยหากเกิดอุทกภัยและดินโคลนถล่มในพื้นที่ อันจะช่วยลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้ในระดับหนึ่ง