ฟิทช์ปรับเพิ่มอันดับเครดิต PTTGC เป็น ‘AA (tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 17, 2013 08:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 มิ.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศเพิ่มอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC เป็น ‘AA(tha)’ จาก ‘AA-(tha)’ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของบริษัทฯ เป็น ‘AA(tha)’ จาก ‘AA-(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ ในขณะเดียวกันฟิทช์ได้คงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ระดับ ‘F1+(tha)’ การเพิ่มอันดับเครดิตเป็นผลจากการที่ฟิทช์ได้ปรับเพิ่มสถานะเครดิตของบริษัทฯ เมื่อพิจารณาตัวบริษัทฯโดยลำพัง (stand-alone) จาก ‘A+(tha)’ เป็น ‘AA-(tha)’ เนื่องจากการที่บริษัทฯ สามารถสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งกว่าที่คาดและการคาดการณ์ว่าอัตราส่วนทางการเงินที่ใช้ในการพิจารณาอันดับเครดิตของบริษัทฯ จะยังคงแข็งแกร่งต่อไป รวมถึงการที่ฟิทช์มองว่าบริษัทฯ จะสามารถรักษาสถานะทางการเงินของบริษัทฯ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับอันดับเครดิตที่ปรับขึ้นมาแม้ว่าค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนมีแนวโน้มที่จะสูงมากขึ้น ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต สถานะทางการเงินสามารถรองรับแผนการลงทุนที่เพิ่มขึ้น: ฟิทช์เชื่อว่าอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ ที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ (โดยบริษัทฯ มีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดที่ได้จากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์และหนี้สินจากการดำเนินงาน (FFO net adjusted debt) อยู่ที่ระดับ 1.4 เท่าในปี 2555) และความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง ทำให้บริษัทฯ สามารถรองรับแผนการลงทุนที่เพิ่มขึ้นโดยยังสามารถรักษาสถานะเครดิตให้อยู่ในระดับที่ยังสอดคล้องกับอันดับเครดิตในปัจจุบันได้ กระแสเงินสดที่ได้จากการดำเนินงานของบริษัทฯ น่าจะเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของบริษัทฯ ที่ผ่านการอนุมัติแล้วจำนวนหกหมื่นล้านบาทในช่วงปี 2556 — 2560 นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมีการประมาณการค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนอีกจำนวน 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (135 พันล้านบาท) ที่กำลังพิจารณาอยู่ ซึ่งค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนดังกล่าวสามารถเลื่อนออกไปได้เพื่อที่จะรักษาสถานะทางการเงินของบริษัทฯ ในกรณีที่ภาวะอุตสาหกรรมอ่อนแอลง ความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง: ฟิทช์คาดว่าบริษัทฯ จะสามารถสร้างกระแสเงินสดที่ได้จากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์และหนี้สินจากการดำเนินงานให้อยู่ในระดับสูงกว่าห้าหมื่นล้านบาทต่อปีจนถึงปี 2560 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอัตราการใช้กำลังการผลิตที่สูงและโครงการการปรับปรุงประสิทธิภาพต่างๆ ของบริษัทฯ แม้ว่าธุรกิจการกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีมีแนวโน้มที่อ่อนแออยู่ โครงการการปรับปรุงประสิทธิภาพต่างๆ ดังกล่าวในช่วงนี้ น่าจะช่วยเพิ่มอัตราส่วนกำไรของบริษัทฯ จนถึงปี 2560 โดยผลประโยชน์จากโครงการต่างๆ ดังกล่าวได้เริ่มปรากฎให้เห็นบ้างแล้วในผลประกอบการปี 2555 และ ไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 การรักษาอัตราส่วนหนี้สินในระดับต่ำ: ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดที่ได้จากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์และหนี้สินจากการดำเนินงานจะอยู่ที่ประมาณ 1.5 เท่าในปี 2556 และอยู่ในระดับนี้ต่อไปอีกสามปีข้างหน้า ถ้าหากบริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนทั้งในส่วนที่อนุมัติแล้วและยังไม่อนุมัติในช่วงเวลาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนดังกล่าวจะมีการปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 1.3 เท่า หากบริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนเฉพาะในส่วนที่อนุมัติในปัจจุบันแล้วเท่านั้น นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีสภาพคล่องที่สูง โดยมีเงินสดและเงินสดเทียบเท่า ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2556 อยู่ที่ ห้าหมื่นหกพันล้านบาท ในขณะที่ตารางการชำระหนี้ของบริษัทฯ มีการกระจายตัวที่ดี อัตราส่วนกำไรที่สูงและมีเสถียรภาพสูง: กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่มั่นคงและมีอัตราส่วนกำไรที่สูงกว่าบริษัทปิโตรเคมีและโรงกลั่นน้ำมันอื่นในประเทศ เนื่องจากปัจจัยสนับสนุนจากธุรกิจโอเลฟินส์ (โดยคิดเป็นประมาณร้อยละ 60 ของกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทฯ และมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้คิดเป็นร้อยละ 27 ในปี 2555) ซึ่งมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำโดยการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นวัตถุดิบหลักรวมถึงสัญญาการจัดหาวัตถุดิบกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในลักษณะการแบ่งส่วนกำไร ซึ่งช่วยลดความผันผวนของอัตราส่วนกำไรของบริษัทฯ เมื่อสภาวะตลาดมีการเปลี่ยนแปลง การผลิตที่ครบวงจร: อันดับเครดิตของบริษัทฯ มีปัจจัยสนับสนุนจากสถานะของบริษัทฯ ที่เป็นผู้ผลิตต่อเนื่องครบวงจรตั้งแต่การกลั่นน้ำมันไปจนถึงการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย บริษัทฯ มีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบรวมถึงการได้ประโยชน์จากการมีขนาดการผลิตที่ใหญ่ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีความได้เปรียบในเรื่องต้นทุนการผลิตเนื่องจากวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตโอเลฟินส์ได้แก่ก๊าซธรรมชาติซึ่งจัดหาได้ภายในประเทศและมีราคาถูกกว่าวัตถุดิบประเภทอื่นซึ่งบริษัทคู่แข่งที่ใช้อยู่เช่น แนฟทา ความเชื่อมโยงกับ ปตท. : ฟิทช์ได้ให้อันดับเครดิตแก่ PTTGC เพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับเครดิตจากอันดับเครดิตโดยลำพังของบริษัทฯ (Stand-alone Rating) เพื่อสะท้อนถึงความสัมพันธ์ในด้านการดำเนินงานและความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของบริษัทฯ กับ ปตท. (ซึ่งถือหุ้นบริษัทฯ อยู่ประมาณร้อยละ 49 โดย ปตท. ได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ AAA(tha) แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) บริษัทฯ เป็นผู้ซื้อหลักทั้งผลิตภัณฑ์ก๊าซจากโรงแยกก๊าซและคอนเดนเสทจาก ปตท. และยังเป็นบริษัทหลักในด้านธุรกิจปิโตรเคมีของกลุ่ม ปตท. ในการขยายธุรกิจปิโตรเคมีทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีสัดส่วนในส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมของ ปตท. ที่สูงที่สุดในบรรดาบริษัทลูกที่อยู่ในธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น การเพิ่มอันดับเครดิตเพียงหนึ่งอันดับเนื่องจากฟิทช์เห็นว่าผลประโยชน์บางประการที่บริษัทฯ ได้รับจาก ปตท. เช่น การจัดหาวัตถุดิบก๊าซ ได้สะท้อนอยู่ในอันดับเครดิตของบริษัทฯ โดยลำพังอยู่แล้ว ความผันผวนตามวัฏจักรของธุรกิจ: อันดับเครดิตของบริษัทฯ ถูกลดทอนจากความผันผวนของราคาผลิตภัณฑ์ตามวัฎจักรของธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นน้ำมันรวมถึงราคาน้ำมันดิบ ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนกำไรและกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทฯ มีความผันผวน ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต ปัจจัยบวก: -ระดับความสัมพันธ์ในด้านการดำเนินงาน และความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของบริษัทฯ กับ ปตท. ที่เพิ่มสูงขึ้น -การเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทฯ โดยลำพังเองยังไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะสองถึงสามปีข้างหน้า เนื่องจากแผนการลงทุนที่สูงของบริษัทฯ และคาดว่าการลงทุนใหม่ๆ เหล่านี้ยังไม่สามารถสร้างกระแสเงินสดให้กับบริษัทฯ ในระยะเวลาอันใกล้นี้ ขึ้น ปัจจัยลบ: -อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดที่ได้จากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์และหนี้สินจากการดำเนินงานที่สูงกว่า 1.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการลงทุนที่ใช้แหล่งเงินทุนจากการกู้ยืมที่สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้และ/หรือ ค่าการกลั่นและส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีกับราคาวัตถุดิบที่อยู่ในระดับต่ำ - ความสัมพันธ์ในด้านการดำเนินงานและความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของบริษัทฯ ต่อ ปตท. ที่ลดน้อยลง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ