กรุงเทพฯ--17 มิ.ย.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
“ยุทธพงศ์” งัดมาตรการเร่งด่วนช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง ดึงเอกชนร่วมลงทุนหน่วยงานละ 30 ล้านบาทรวม 210 ล้านบาท เพื่อนำมารับซื้อยางพารา 110 บาท/กก.ในตลาด AFET เชื่อมั่นจะกระตุ้นราคายางให้สูงขึ้น
นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางว่า จากสถานการณ์ยางพาราที่ประสบปัญหาตกต่ำในขณะนี้ ที่ประชุมได้วิเคราะห์ปัญหาทราบว่าเกิดจากปัจจัยหลายประการ อาทิ พบว่ามีการใช้ยางในสัดส่วนการโตที่น้อยกว่าสต๊อกยางในโลกที่เกินอยู่ประมาณ 500,000 ตันและกระแสการแข็งค่าเงินบาท
ขณะเดียวราคายางมีการปรับตัวลดลงเนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ได้ส่งผลให้ราคายางตกต่ำลง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้แก้ไขปัญหาในระยะยาวและนำมาตรการที่ช่วยยกระดับเสถียรภาพราคายางให้สูงขึ้นมาใช้อย่างเร่งด่วน เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของชาวสวนยางน้อยที่สุด
โดยหนึ่งในมาตรการเร่งด่วนที่ที่ประชุมเห็นชอบในขณะนี้คือ เร่งให้มีการซื้อขายยางพาราผ่านตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย(เอเอฟอีที)ร่วมกับบริษัทเอกชนในราคานำตลาดที่ 110 บาท/กก.ให้ดำเนินการในรูปธรรมให้ได้ภายในเดือนกรกฎาคม2556 นี้
สำหรับ การซื้อขายยางผ่านเอเอฟอีทีจะร่วมมือกับ 7 บริษัทรวมมีเงินกองทุน 210 ล้านบาท ซื้อยางได้ประมาณ 5 หมื่นตัน โดยคาดว่าเมื่องบประมาณแต่หน่วยงานรวมกันแล้ว จะก่อให้เกิดปริมาณการซื้อขายโดยเฉลี่ย 300-400 สัญญาต่อวัน
นอกจากนี้ ทาง AFET ได้ยืนยันว่ามาตรการดังกล่าวสามารถกระทำได้โดยไม่ผิดกฎหมายและไม่ถือเป็นการแทรกแซงราคายางแต่อย่างใด แต่เป็นการซื้อขายผ่านตลาดล่วงหน้า โดยหากมีผู้ขายจากต่างชาติเข้ามาขายยางพารา AFET ก็สามารถควบคุมการซื้อขายได้ และคาดว่าจะสามารถรับซื้อยางพาราได้ประมาณ 42,000 ตัน ซึ่งจะสามารถปรับราคายางพาราให้เข้าสู่เสถียรภาพที่กิโลกรัมละ 110 บาทได้
สำหรับ หน่วยงานเอกชนทั้ง 7 หน่วยงาน ได้แก่ 1. องค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) 2.บริษัท ร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ (IRCo) 3.บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) 4.บริษัท ศรีตรัง แอโกร อินดัสทรี จำกัด (มหาชน) 5.บริษัท ไทย รับเบอร์ลาเท็คซ์ คอร์ปอร์เรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) 6.บริษัท เซาท์แลนด์ รับเบอร์ จำกัด 7.บริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัด
“รัฐบาลมุ่งเน้นแก้ปัญหาเสถียรภาพราคายางในระยะยาว เพราะต้องการสร้างเสถียรภาพความมั่นคงให้อาชีพชาวสวนยาง โดยมุ่งที่จะรักษาเกษตรกรให้ทุกคนอยู่ได้อย่างมั่งคงและยั่งยืนภายใต้การกำหนดนโยบายตามความเป็นจริง” นายยุทธพงศ์ กล่าว
ทั้งนี้ สำหรับสถานการณ์ราคายาง ณ ตลาดกลางยางพาราสงขลาช่วงวันที่27-31 พฤษภาคม 2556ที่ผ่านมา ราคาทรงๆโดยรวมราคาเฉลี่ยทั้งสัปดาห์ปรับตัวลดลงจากราคาเฉลี่ยสัปดาห์ก่อนเพียงเล็กน้อย ทั้งยางแผ่นดิบและยางแผ่นรวมควัน เนื่องจากตลาดล่วงหน้าโตเกียวปรับตัวสูงขึ้นตามตลาดหุ้นและราคาน้ำมัน ประกอบกับได้รับแรงหนุนจากเงินเยนที่อ่อนค่ารวมทั้งเงินบาทอ่อนค่าเหนือระดับ 30 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ แม้จะส่งผลดีต่อผู้ส่งออก แต่จากสภาพอากาศที่เริ่มดีขึ้นทำให้ปริมาณยางออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยลบต่อราคายางตามมา