กรุงเทพฯ--18 มิ.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์
นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพข้อมูลด้านการเกษตรว่า ที่ประชุมได้รับทราบรายงานผลการพยากรณ์ปริมาณการผลิตสินค้าเกษตร ปี 2556/57 ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โดยในส่วนของข้าว เดือนมิถุนายน 2556 ซึ่งอยู่ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังปีเพาะปลูก 2555/56 ที่ใกล้จะสิ้นสุดฤดูกาล ผลผลิตรวมทั้งประเทศประมาณ 10 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลงจากปีที่แล้ว 2.25 ล้านตันและอยู่ในช่วงต้นฤดูเพาะปลูกข้าวนาปี ปีเพาะปลูก 2556/57 ซึ่งเกษตรกรจะปลูกมากในเดือนกรกฎาคม 2556 คาดว่าผลผลิตรวม ทั้งประเทศ 28.4 ล้านตันข้าวเปลือก เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 1.8 ล้านตัน สำหรับข้าวนาปี ปี 2556/57 ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เนื่องจากราคาข้าวจูงใจ ประกอบกับปีที่แล้วเกษตรกรเลื่อนการเพาะปลูกเร็วขึ้นเพื่อป้องกันความเสียหายจากอุทกภัยไปปลูก ในเดือนเมษายนซึ่งเป็นข้าวนาปรัง แต่ในปีนี้คาดว่าจะกลับมาปลูกตามปกติคือเริ่มปลูกในเดือนพฤษภาคม ส่งผลให้ภาพรวมเนื้อที่เพาะปลูกยังคงเพิ่มขึ้น ส่วนผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้นเนื่องจากการดูแลเอาใจใส่ รวมทั้งสภาพดินฟ้าอากาศเอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโต ไม่ประสบภัยแล้งเหมือนปีที่แล้ว โดยผลผลิตปี 2555/56 ข้าวนาปี มีผลผลิต 26.59 ล้านตัน ปี 2556/57 คาดว่ามีผลผลิตประมาณ 28.44 ล้านตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.95
นายชวลิต กล่าวว่า ในส่วนผลพยากรณ์ปริมาณการผลิตพืชไร่ ปี 2556/57 ในเดือนมิถุนายน 2556 คาดว่า สินค้าที่มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น จำนวน 3 สินค้า ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลังโรงงาน และอ้อยโรงงาน ส่วนสินค้าที่มีปริมาณการผลิตลดลง จำนวน 2 สินค้า ได้แก่ ถั่วเหลืองและสับปะรดโรงงาน โดยในส่วนของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แทนถั่วเหลืองที่เป็นพันธุ์หายากและมีราคาสูง สำหรับผลผลิตต่อไร่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพดินฟ้าอากาศเอื้ออำนวย ซึ่งปี 2555/56 มีผลผลิต 4.78 ล้านตัน ปี 2556/57 คาดว่ามีผลผลิตประมาณ 4.88 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.06
ถั่วเหลือง ปริมาณผลผลิตลดลงตามการลดของพื้นที่ โดยปี 2555/56 มีผลผลิต 55,500 ตัน ปี 2556/57 คาดว่ามีผลผลิต ประมาณ 50,400 ตัน ลดลงร้อยละ 9.13 เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ทำให้ผลตอบแทนที่ได้รับไม่คุ้มกับการลงทุน และเกษตรกรขาดแคลนเมล็ดถั่วเหลืองพันธุ์ดีสำหรับปลูก นอกจากนี้เกษตรกรประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานเก็บเกี่ยวและขาดการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยทำให้การเก็บเกี่ยวถั่วเหลืองทำได้ง่ายขึ้น ทำให้ผลตอบแทนต่ำกว่าพืชแข่งขันตัวอื่น แม้ว่าราคาถั่วเหลืองปีนี้จะสูงกว่าปีที่ผ่านมา
มันสำปะหลังโรงงาน มีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น โดยปี 2555/56 มีผลผลิต 27.5 ล้านตัน ปี 2556/57 คาดว่ามีผลผลิต ประมาณ 28.22 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 โดยผลผลิตต่อไร่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากจากแรงจูงใจด้านราคาอยู่ในเกณฑ์ดี จึงส่งผลให้เกษตรกรบำรุงดูแลรักษาดีเลือกใช้ท่อนพันธ์ที่ดีเพิ่มขึ้นเหมาะสมกับสภาพของพื้นดิน แม้ว่าเนื้อที่เก็บเกี่ยวลดลง จากการปรับเปลี่ยนไปปลูกอ้อยโรงงานและบางส่วนที่เคยปลูกแซมในสวนยางพารา ซึ่งปัจจุบันต้นยางพาราโตและไม่สามารถปลูกแซม ในสวนยางได้อีก
นอกจากนี้ในส่วนของอ้อยโรงงาน มีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น โดยปี 2555/56 มีผลผลิต 103.95 ล้านตัน ปี 2556/57 คาดว่ามีผลผลิตประมาณ 106.94 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.87 เนื่องจากการที่มีโรงงานน้ำตาลเปิดใหม่ในปี 2555 ทั้งในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงมีการส่งเสริมและขยายพื้นที่อ้อยโรงงานในจังหวัดที่เป็นที่ตั้ง และจังหวัดใกล้เคียง สำหรับผลผลิตต่อไร่ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาอยู่ในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เกษตรกรเอาใจใส่ในการดูแลเพิ่มขึ้น สำหรับสับปะรดโรงงาน ปริมาณผลผลิตลดลงตามการลดลงของเนื้อที่เก็บเกี่ยว ไร่สับปะรดที่ปลูกแซมในสวนยางพารา ปัจจุบันต้นยางพาราโตต้องรื้อต้นสับปะรดออก ประกอบกับแหล่งผลิตที่สำคัญประสบภาวะแห้งแล้งและอากาศร้อนจัด ผลสับปะรดไม่สมบูรณ์ ลูกแกรนไม่มีน้ำหนัก และราคาสับปะรดที่เกษตรกรขายได้ตกต่ำ ไม่จูงใจให้เกษตรกรดูแลไร่สับปะรดเท่าที่ควร ลดการใส่ปุ๋ยลงและปล่อย ให้วัชพืชขึ้น โดยปี 2555/56 มีผลผลิต 2.3 ล้านตัน ปี 2556/57 คาดว่ามีผลผลิตประมาณ 2.1 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 9.38