กรุงเทพฯ--18 มิ.ย.--อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์
- ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่มีการเชื่อมโยงข้ามชาติสูงสุดเป็นอันดับ 3 ของโลก ตามหลังยุโรปและอเมริกาเหนือ
- ไทยติดอันดับที่ 4 ในระดับภูมิภาค จากทั้งหมด 19 ประเทศ ตามหลังสิงคโปร์ ฮ่องกง และเกาหลี
ดีเอชแอล จัดทำดัชนีการเชื่อมโยงข้ามชาติระดับโลกครั้งที่ 2 เผย “ไทย”มีการเชื่อมโยงข้ามชาติระดับโลกทั้งหมดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 2548 จนถึงปี 2554 โดยไต่ขึ้นจากอันดับที่ 20 ในปี 2554 สู่อันดับที่ 15 ในปี 2555 ทั้งยังติดอันดับที่ 17 ด้านความเชื่อมโยงในวงกว้าง และอันดับที่ 33 ด้านความเชื่อมโยงเชิงลึก ทั้งนี้ ไทยเป็น 1 ใน 6 ประเทศในภูมิภาคเอเชียที่มีการเชื่อมโยงข้ามชาติระดับโลกสูงสุดทั้งในเชิงกว้างและลึกอยู่ใน 25 อันดับแรก ซึ่งได้แก่ สิงคโปร์ (ติดอันดับที่ 2) ฮ่องกง (ติดอันดับที่ 12) เกาหลี (ติดอันดับที่ 14) ไทย (ติดอันดับที่ 15) มาเลเซีย (ติดอันดับที่ 16) และไต้หวัน (ติดอันดับที่ 21)
เจอร์รี่ ชู ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส เอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า “ดัชนีการเชื่อมโยงข้ามชาติระดับโลกที่ดีเอชแอลได้จัดทำขึ้นนี้ ได้คัดค้านแนวคิดเรื่องกระบวนการโลกามุสาวาท (globaloney) ที่ชี้ว่า กระบวนการโลกาภิวัตน์เป็นตำนานที่ไร้สาระ ไม่จริง1 เพราะจากรายงานการศึกษาดัชนีการเชื่อมโยงข้ามชาติ พบว่า โลกปัจจุบันมีการติดต่อเชื่อมโยงกันทั่วโลกในสัดส่วนร้อยละ 10 - 20 โดยเป็นการไหลเวียนข้ามชาติภายในภูมิภาคสูงถึงร้อยละ 50 — 60 ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าว บ่งชี้ว่า ประเทศต่างๆ ยังคงมีศักยภาพอย่างมหาศาลสำหรับนำมาใช้สนับสนุนการติดต่อเชื่อมโยงระหว่างกันได้มากขึ้น โดยปัจจุบัน การติดต่อเชื่อมโยงระหว่างกันยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วงเกิดวิกฤติทางการเงิน ทั้งยังมีโอกาสสร้างรายได้สูงถึงหลายล้านล้านเหรียญสหรัฐ และในช่วงการเติบโตที่ชะลอตัวนี้ ควรส่งเสริมให้มีการเชื่อมโยงข้ามชาติมากขึ้น เพื่อทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการฟื้นตัวและการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม” ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกส่วนใหญ่ได้ใช้การส่งออกเป็นกลยุทธ์ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละประเทศให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ใช้กลยุทธ์ดังกล่าว
เสริมด้วยการพัฒนาของภาคเอกชนที่มุ่งเน้นขยายจุดการผลิตในหลากหลายประเทศอย่างครบวงจรทั่วทั้งภูมิภาค การค้าของไทยซึ่งเป็นเสาหลักที่แข็งแกร่งของประเทศ และติดอันดับที่ 5 ของโลก ได้นำมาใช้ควบคู่กับการส่งออกเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยโดยรวม การค้าของไทยยังคงมีภูมิภาคเอเชียเป็นตลาดหลัก โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญๆ ได้แก่ จีน (ร้อยละ 12) ญี่ปุ่น (ร้อยละ 11) ฮ่องกง (ร้อยละ 7) มาเลเซีย (ร้อยละ 5) สิงคโปร์ (ร้อยละ 5) อินโดนีเซีย (ร้อยละ 4) และเวียดนาม (ร้อยละ 3)
ดัชนีการเชื่อมโยงข้ามชาติ ปี 2555 ยังมีการวิเคราะห์การเชื่อมโยงของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งระบุว่าการเปลี่ยนแปลงศูนย์กลางเศรษฐกิจของโลกทำให้การเชื่อมโยงของภาคอุตสาหกรรมมีการปรับเปลี่ยนตามไปด้วย การย้ายการผลิตและการบริโภคไปยังตลาดเกิดใหม่มีผลต่ออุตสาหกรรม 3 ประเภทหลัก ซึ่งได้แก่ ยา รถยนต์นั่งส่วนบุคคล และโทรศัพท์มือถือ
จีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย คาดว่าจะมีการเติบโตสูงสุดไปจนถึงปี 2559 สถาบันไอเอ็มเอสได้จัดให้จีนเป็นตลาดเกิดใหม่ระดับ 1 ของอุตสาหกรรมยา (Tier I “pharmerging” market) โดยคาดว่า จีนจะมีการใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นจาก 67,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 161,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2554 — 2559 ขณะที่กลุ่มประเทศ BRIC (ซึ่งได้แก่ประเทศบราซิล รัสเซีย และอินเดีย) ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ระดับ 2ของอุตสาหกรรมยา ที่คาดว่าจะมีการใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นจาก 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐเป็น 103,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับตลาดการค้ายาของไทยซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าตลาดรวม 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 129,000 ล้านบาท)2 และ็เน้นการนำเข้าเป็นส่วนใหญ่ แต่มีการส่งออกยาที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งถึงร้อยละ 66 ขณะที่มีการนำเข้าร้อยละ 65 นับตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา
การเป็นผู้ผลิตและส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้การค้าของไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยคาดการณ์ว่าในปี 2556 การส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ไทยจะมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ที่มีมูลค่าการส่งออกรวมทั้งสิ้น 11,000 — 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และคิดเป็นร้อยละ 48 ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยทั้งหมด ส่งผลให้ไทยเป็นผู้ส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์อันดับ 1 ของภูมิภาคอาเซียน การที่ไทยก้าวขึ้นเป็นประเทศอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วและมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่ง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการใช้นโยบายมุ่งเน้นพัฒนาการส่งออกเป็นหลัก การเจรจาข้อตกลงทางการค้าแบบทวิพาคีที่ให้สิทธิพิเศษเฉพาะกลุ่ม (Preferential bilateral trade agreements)และการจัดทำนโยบายเปิดการค้าเสรีที่มีขอบเขตกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการผลิต
ชนัญญารักษ์ เพ็ชร์รัตน์ กรรมการผู้จัดการ ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส ประเทศไทยและภาคพื้นอินโดจีนกล่าวว่า “ในฐานะผู้นำในตลาดขนส่งด่วนระหว่างประเทศของไทยตลอดกว่าสี่ทศวรรษที่ผ่านมา ดีเอชแอลตระหนักดีว่าการเปิดการค้าเสรีสำหรับผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ จะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่งดีเอชแอลมีความรู้และความสามารถที่จะช่วยบริษัทต่างๆ ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจในตลาดโลกได้อย่างรวดเร็ว ด้วยปณิธานที่มุ่งตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า โดยเรามีศักยภาพพร้อมรับมือทุกสภาวะตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา”
ดัชนีการเชื่อมโยงข้ามชาติระดับโลกปี 2555 ที่ดีเอชแอลได้จัดทำขึ้นนี้ คือ รายงานการศึกษาและวิเคราะห์สภาวะโลกาภิวัตน์ทั่วโลกอย่างสมบูรณ์แบบ โดยนำข้อมูลระหว่างปี 2548 — 2554 รวมกว่า 1 ล้านจุด มาใช้วัดและวิเคราะห์การเชื่อมโยงของ 140 ประเทศทั่วโลก ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 99 ของจีดีพีระดับโลก และร้อยละ 95 ของประชากรโลก สำหรับการวัดการเชื่อมโยงข้ามชาติได้ทำทั้งในเชิงกว้างและลึกครอบคลุมทั้งด้านการค้า เงินทุน ข้อมูล และการเคลื่อนย้ายของประชากร
ผลการศึกษาสำคัญๆ จากดัชนีการเชื่อมโยงข้ามชาติระดับโลกประจำปี 2555 มีดังนี้
- โลกปัจจุบันมีการเชื่อมโยงกันทั่วโลกน้อยกว่าที่เคยมีมาในปี 2550 การเชื่อมโยงระหว่างประเทศต่างๆ ทั่วโลกลดลงอย่างเด่นชัดในช่วงเริ่มต้นของการเกิดวิกฤติทางการเงิน ปรับขึ้นมาอยู่ในระดับปานกลางตั้งแต่ปี 2552 และคาดว่าน่าจะไต่ขึ้นสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนที่จะเกิดภาวะวิกฤติทางการเงิน
- การแตกตัวของตลาดทุนออกเป็นตลาดย่อย และธุรกิจบริการอยู่ในภาวะซบเซา ขณะที่การค้าสินค้ามีการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา การไหลเวียนของข้อมูลยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่การเชื่อมโยงด้านเงินทุนมีแนวโน้มลดลง และธุรกิจด้านบริการชะลอตัวลงตั้งแต่ปี 2552
- การเชื่อมโยงทั่วโลกอ่อนตัวลงมากกว่าที่เห็นทั่วไป ซึ่งทำให้ความกลัวที่แพร่ระบาดเกี่ยวกับกระแสโลกาภิวัตน์ลดลงหรือพลิกฟื้นกลับมาเป็นการยอมรับแนวคิดดังกล่าว
- ระยะทางและพรมแดนยังคงมีบทบาทสำคัญ แม้บนระบบออนไลน์ การไหลเวียนระหว่างประเทศในด้านต่างๆ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นภายในภูมิภาคมากกว่าระหว่างภูมิภาค แม้แต่การเชื่อมโยงบนระบบออนไลน์ยังคงเกิดขึ้นภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่และลดลงตามระยะทาง
- ยุโรปเป็นภูมิภาคที่มีการเชื่อมโยงทั่วโลกสูงสุดของโลก : ตอกย้ำถึงความสำเร็จที่ได้รับจากการผนวกรวมประเทศในสหภาพยุโรปเข้าด้วยกัน และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการแยกประเทศอียูออกจากกัน โดยประเทศเนเธอร์แลนด์ยังคงครองอันดับ 1 ของดัชนีการเชื่อมโยงข้ามชาติระดับโลกของดีเอชแอลในปีนี้ และ 9 ใน 10 ประเทศที่มีการเชื่อมโยงระหว่างกันมากที่สุด เป็นประเทศในภูมิภาคยุโรป
- กลุ่มประเทศที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาราในภูมิภาคแอฟริกา (Sub-Saharan African countries) มีการเชื่อมโยงข้ามชาติเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยสูงสุด พื้นที่ตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารายังคงเป็นภูมิภาคที่มีการเชื่อมโยงกันน้อยที่สุด แต่ประเทศที่มีการเชื่อมโยงเพิ่มขึ้นมากสุดตลอดปีที่ผ่านมา 5 ประเทศแรกล้วนตั้งอยู่ในภูมิภาคแห่งนี้ทั้งสิ้น
- ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการส่งเสริมการเชื่อมโยงข้ามชาติระดับโลกคาดว่า จะมีมูลค่าสูงถึงหลายล้านล้านเหรียญสหรัฐ การเติบโตที่ชะลอตัวลง การต่อสู้อย่างหนักกับภาระหนี้สินทั่วโลก และการเชื่อมโยงข้ามชาติระดับโลกที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยเร่งการเติบโตของการค้า
- ทุกประเทศไม่ได้ใช้โอกาสในการสร้างประโยชน์จากการมีการเชื่อมโยงข้ามชาติมากขึ้น แม้ในประเทศที่มีการเชื่อมโยงกันมากที่สุด กิจกรรมที่มีการเชื่อมโยงกันโดยส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นทั้งภายในแต่ละประเทศหรือระหว่างประเทศเป็นการเชื่อมโยงกันภายในระดับภูมิภาคเท่านั้น มิได้ครอบคลุมทั่วโลก
- นโยบายภายในประเทศและระหว่างประเทศของประเทศต่างๆ จะช่วยสนับสนุนให้ประเทศเหล่านี้มีการเชื่อมโยงกันมากขึ้น ซึ่งจากรายงานดัชนีการเชื่อมโยงข้ามชาติระดับโลกของดีเอชแอลได้เสนอให้มีการกำหนดทางเลือกเชิงนโยบายหลากหลายประเภท เพื่อส่งเสริมให้มีการเชื่อมโยงข้ามชาติในเชิงลึกมากยิ่งขึ้น
- การเปลี่ยนแปลงศูนย์กลางเศรษฐกิจของโลกพลิกโฉมการเชื่อมโยงของภาคอุตสาหกรรมซึ่งรายงานของดีเอชแอลได้มีการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญที่มีต่ออุตสาหกรรม 3 ประเภทหลัก ซึ่งได้แก่ ยา รถยนต์นั่งส่วนบุคคล และโทรศัพท์มือถือ
สำหรับรายงานการศึกษาดัชนีการเชื่อมโยงข้ามชาติระดับโลกประจำปี 2555 ฉบับสมบูรณ์ของดีเอชแอล
(The DHL Global Connectedness Index 2012) พร้อมทั้งข้อมูลสนับสนุนอื่นๆ สามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้ที่ www.dhl.com/gci