ทีเส็บเดินหน้าตามแผนแม่บทดันเชียงใหม่ ศูนย์กลางธุรกิจไมซ์ภาคเหนือ จัดสัมมนา “Year of MICE เชียงใหม่พร้อม” สร้างความเข้าใจ กระตุ้นความร่วมมือ

ข่าวทั่วไป Tuesday June 18, 2013 17:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 มิ.ย.--โอกิลวี่ พับลิค รีเลชั่นส์ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บโดยความร่วมมือของจังหวัดเชียงใหม่ จัดงานสัมมนา “Year of MICE เชียงใหม่พร้อม” ระดมผู้ประกอบการไมซ์ภาคเหนือทั้งภาครัฐ เอกชน ตลอดจนสื่อมวลชน ร่วมเรียนรู้ แสดงความเห็น และแบ่งปันประสบการณ์ เตรียมความพร้อมนำเชียงใหม่สู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการประชุม การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล และการแสดงสินค้าในระดับภูมิภาค สนองนโยบายรัฐบาลที่กำหนดให้ปี 2556 เป็น “ปีแห่งไมซ์จังหวัดเชียงใหม่” นายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยในการเปิดงานสัมมนาว่า “งานสัมมนาในครั้งนี้ ถือเป็นการดำเนินงานตามแผนแม่บท พัฒนาเชียงใหม่ให้เป็นจุดหมายปลายทางแห่งไมซ์ — นครแห่งชีวิตและความมั่งคั่ง ระยะที่ 1 ซึ่งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันจัดทำขึ้นเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา งานสัมมนาครั้งนี้จึงเน้นการทำความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้องในระดับปฏิบัติการจริงเกี่ยวกับธุรกิจไมซ์ รวมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับประโยชน์และศักยภาพของธุรกิจไมซ์ อันมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเชียงใหม่สู่ความเป็นนครแห่งความมั่งคั่ง และเป็นศูนย์กลางธุรกิจไมซ์ของภาคเหนือในอนาคต” ในการจัดทำแผนแม่บทการทำงานเพื่อพัฒนาเชียงใหม่ให้เป็นจุดหมายปลายทางแห่งไมซ์ — นครแห่งชีวิตและความมั่งคั่ง ที่ได้ดำเนินการร่วมกันระหว่างจังหวัดเชียงใหม่และทีเส็บนั้น ได้กำหนดการพัฒนาออกเป็น 3 ระยะ คือ ในระยะแรก ปี 2556 จะเน้นการทำตลาดในประเทศและวางรากฐานอุตสาหกรรมไมซ์ ทั้งในด้านการกำหนดเป้าหมายให้เชียงใหม่เป็นเมืองยุทธศาสตร์ไมซ์ การรณรงค์ให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ และขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งส่งเสริมการจัดประชุมของตลาดในประเทศ ส่วนในระยะที่ 2 ระหว่างปี 2557-2558 จะขยายการส่งเสริมออกไปในระดับภูมิภาค ผ่านกรอบความร่วมมือ GMS, BIMSTEC, และเมืองพี่เมืองน้องของจังหวัด การขยายตลาดร่วมกัน โดยยังคงเน้นการสร้างสมดุลระหว่างธุรกิจและวัฒนธรรม และในระยะที่ 3 ระหว่างปี 2559-2560 คือ การเร่งพัฒนาและประกาศความพร้อมในการเป็น “นครแห่งไมซ์” ระดับโลก (Global MICE City) ส่งเสริมการจัดงานระดับใหญ่ (Mega Event) หรือการประชุมสัมมนาในระดับโลกต่อไป นายนพรัตน์ เมธาวีกุลชัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “ไมซ์เป็นหนึ่งในธุรกิจสำคัญที่มีศักยภาพจะช่วยผลักดันให้เชียงใหม่ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญในภูมิภาคนี้ เนื่องจากรายได้จากไมซ์สูงกว่ารายได้จากการท่องเที่ยวธรรมดาถึง 2-3 เท่า ดังนั้นการเปิดโอกาสให้มีการถ่ายทอดความรู้ข้อมูลในเชิงธุรกิจระหว่างกันมากขึ้น จะก่อให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่ก่อนที่เชียงใหม่จะก้าวสู่การเป็นจุดหมายปลายทาง แห่งไมซ์ (MICE Destination) อย่างเต็มรูปแบบนั้น จำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องมีความเข้าใจ และร่วมมือกันผลักดันให้มีการพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน การสัมมนา “Year of MICE เชียงใหม่พร้อม” ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะมีการนำนโยบายถ่ายทอดลงสู่ระดับปฏิบัติการ โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ทำงานจริงในพื้นที่ เชื่อว่าความสำเร็จของเชียงใหม่จะกลายเป็นโมเดลหรือกรณีศึกษาที่เป็นตัวอย่างสำหรับการพัฒนาเมืองไมซ์แห่งอื่น ๆ ต่อไป” โครงการอบรมสัมมนา “Year of MICE เชียงใหม่พร้อม” ในครั้งนี้ จัดขึ้นโดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนศักยภาพและความพร้อมของจังหวัดเขียงใหม่ให้สามารถก้าวสู่ฐานะ “นครแห่งไมซ์” ทั้งในระดับประเทศ และระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub-region Economic Corridor) รองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน กิจกรรมครั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง ผู้กำหนดนโยบาย ผู้ดำเนินธุรกิจในสายไมซ์ ตลอดจนสื่อมวลชน ที่จะมาร่วมบรรยายในหัวข้อสำคัญต่าง ๆ เริ่มด้วย นายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นาย จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการ สายงานบริหารและสนับสนุนกลยุทธ์ ทีเส็บ นายวรพงศ์ หมู่ชาวใต้ ประธานคณะกรรมการด้านการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ นายศราวุฒิ ศรีศกุน รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาพิงคนคร ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) และนายสมฤทธิ์ ลือชัย สื่อมวลชนและวิทยากรพิเศษด้านการสื่อสาร โดยเนื้อหาของงานจะเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไมซ์ในภาพรวม ครอบคลุมถึงการอบรมความรู้ทั่วไปสำหรับการจัดสัมมนา เทคนิคการจัดกิจกรรม นิทรรศการ และงานแสดงสินค้าอย่างมืออาชีพ โดยทั้งหมดมุ่งเน้นให้ความรู้โดยตรงแก่เจ้าหน้าที่หน่วยงานราชการ ผู้ประกอบการท้องถิ่นระดับปฏิบัติการ คณาจารย์ นักเรียน นักศึกษา ที่ศึกษาหลักสูตรเกี่ยวกับไมซ์จากสถาบันการศึกษา ในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง จำนวนกว่า 300 คน ให้สามารถ นำองค์ความรู้ไปปฏิบัติงานได้จริง ธุรกิจไมซ์ในเชียงใหม่เป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีศักยภาพสูง โดยในปี 2555 ที่ผ่านมา จังหวัดเชียงใหม่มีมูลค่ารวมในอุตสาหกรรมไมซ์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศคิดเป็นมูลค่า 3,859.3 ล้านบาท แบ่งเป็นนักเดินทางกลุ่มไมซ์ในประเทศจำนวน 22,150 คน คิดเป็นมูลค่า 94.52 ล้านบาท และนักเดินทางกลุ่มไมซ์ชาวต่างชาติจำนวน 46,826 คน สร้างรายได้เป็นมูลค่ากว่า 3,764.8 ล้านบาท เทียบกับปี 2554 ซึ่งมีมูลค่ารวมในอุตสาหกรรมไมซ์ของจังหวัดเชียงใหม่ 3,355.9 ล้านบาท คิดเป็นการเติบโตประมาณ ร้อยละ 15 สำหรับศักยภาพด้านสาธารณูปโภคของจังหวัดเชียงใหม่ในการผลักดันให้ก้าวสู่การเป็น “นครแห่งไมซ์” คือ การมีศูนย์ประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ซึ่งเป็นหนึ่งใน 9 ของศูนย์ประชุมที่มีมาตรฐานในระดับนานาชาติของประเทศไทย มีขนาดพื้นที่การจัดงานแสดงสินค้า จำนวนทั้งสิ้น 10,000 ตารางเมตร และมีพื้นที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือ ตั้งอยู่บนเนื้อที่ทั้งสิ้นถึง 335 ไร่ เชียงใหม่มีจำนวนโรงแรมและห้องพักภายในจังหวัดรวมกว่า 33,000 ห้อง สนามบินนานาชาติใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย รองจากสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง ตามลำดับ โดยมีการบินภายในประเทศสัปดาห์ละ 401 เที่ยว และการบินระหว่างประเทศสัปดาห์ละ 76 เที่ยว ปัจจุบัน สนามบินนานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่รองรับผู้โดยสารได้ 8 ล้านคนต่อปี และรองรับการขนส่งสินค้าทางอากาศได้ปีละ 30,000 ตัน มีเที่ยวบินขึ้นลงรวม 12,377 เที่ยวบิน และในช่วงฤดูท่องเที่ยวมีสายการบินอีก 7 สายการบินขอเพิ่มเที่ยวบินและเปิดเส้นทางบินตรงสู่จังหวัดเชียงใหม่เพิ่มเติม ได้แก่ สายการบินแอร์บากัน สายการบินไชน่าอีสเทิร์น สายการบินโคเรียนแอร์ สายการบินซิลค์แอร์ สายการบินไทยแอร์เอเชีย สายการบินไชน่าแอร์ไลน์ สายการบินแอร์เอเชีย นอกจากนี้ การพัฒนาความร่วมมือระดับภูมิภาค ไม่ว่าจะในกรอบของอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) หรือกรอบความร่วมมือทางวิชาการและเศรษฐกิจระหว่าง 7 ประเทศในอ่าวเบงกอลหรือ BIMSTEC จะทำให้ความต้องการด้านการจัดประชุมและนิทรรศการเพิ่มขึ้น เชียงใหม่ ซึ่งตั้งอยู่ในใจกลางของภูมิภาคความร่วมมือเหล่านี้ จึงมีโอกาสดีที่จะเป็นศูนย์กลางธุรกิจไมซ์ เชียงใหม่จึงจำเป็นจะต้องมีการพัฒนาเพื่อรองรับโอกาสเหล่านี้ ซึ่งในท้ายที่สุดจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศไทยโดยรวม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ