ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ฯ กทม.รายงานยผลการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้ชาวกรุง ครบ 1 ปี

ข่าวทั่วไป Friday August 8, 1997 10:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--8 ส.ค.--กปส.กทม.
ที่ศูนย์รับร้องทุกข์และป้องกันภัย กรุงเทพมหานคร วันที่ 7 สิงหาคม 2540 เวลา 11.30 น. นาสมคาด สืบตระกูล เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์รับร้องทุกข์และป้องกันภัยกรุงเทพมหานคร นายสมบูรณ์ อานิกวงศ์ชัย ผู้ช่วยปลัดกรุงเทพมหานคร นายชาญชัย ภาวสุทธิการ ผู้อำนวยการปกครองและทะเบียน นายวัตตะ ฮุนพงษ์สิมานนท์ ผู้อำนวยการกองคอมพิวเตอร์ พร้อมด้วยหัวหน้าคณะผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานคร 6 คณะ ร่วมแถลงข่าว ศูนย์รับร้องทุกข์และป้องกันภัยกรุงเทพมหานคร รายงานผลการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ครบรอบ 1 ปี
นายสมคาด เปิดเผยว่า ศูนย์รับร้องทุกข์และป้องกันภัยกลางกรุงเทพมหานคร ได้รับแจ้งเรื่องราวร้องทุกข์ในรอบ 1 ปี (ตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2539 - 31 กรกฎาคม 2540) จำนวนทั้งสิ้น 21,218 ราย โดยเรื่องร้องทุกข์ดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นปัญหาทางกายภาพโดยทั่วไปๆ ไป เช่น ปัญหาเกี่ยวกับการจราจร ท่อระบายน้ำ บาทวิถี ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ปัญหาเหตุเดือดร้อนรำคาญ ปัญหาที่เกิดจากการประกอบการ ปัญหาขยะ รักษาความสะอาด ปัญหาอาคาร ขอความเป็นธรรม และปัญหาอื่นๆ ซึ่งปัญหาดังกล่าวได้ดำเนินการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว 13,792 ราย (คิดเป็น 65.85%) อยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไข 7,246 ราย (คิดเป็น 34.15%) ทั้งนี้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนกรุงเทพมหานคร ได้รับแจ้งเรื่องราวร้องทุกข์ 3 ทางคือ 1. การรับแจ้งเรื่องราวร้องทุกข์ ทางโทรศัพท์ โทรสาร และประชาชนร้องเรียนด้วยตนเอง (ศูนย์รับร้องทุกข์) โดยปัญหาที่ประชาชนร้องเรียนเข้ามาสูงสุด 10 ประเภทแรก เรียงตามลำดับจากมากไปหาน้อย คือ น้ำท่วม ปัญหาจราจร ขยะ รักษาความสะอาด อาคารสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ท่อระบายน้ำ เหตุเดือดร้อนรำคาญ จอดรถและวางสิ่งของบนบาทวิถี ฝาท่อชำรุดหรือหาย และอื่นๆ 2. การรับแจ้งเรื่องราวร้องทุกข์ทางหนังสือราชการ หนังสือทั่วไป (สำนักงานเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร) ปัญหาที่ประชาชนร้องเรียน 10 ประเภทแรกคือ เหตุเดือดร้อนจากการประกอบกิจการ อาคาร ถนน/ทางเท้า ร้องเรียนกล่าวโทษเจ้าหน้าที่ สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ หาบเร่ แผงลอย ท่อระบายน้ำ บุกรุกที่สาธารณะ ขยะ รักษาความสะอาด ปิดกั้นกีดขวางทางสัญจร 3. การรับเรื่องราวร้องทุกข์ทางสื่อมวลชน (กองประชาสัมพันธ์) ปัญหาที่ประชาชนร้องเรียน 10 ประเภทแรก คือ ถนน/ทางเท้า เหตุเดือดร้อนจากการประกอบกิจการ ปิดกั้นกีดขวางทางสัญจร ร้องเรียนกล่าวโทษเจ้าหน้าที่ ขยะ รักษาความสะอาด ป้ายประกาศ เครื่องหมายจราจร สะพาน น้ำท่วม หาบเร่ แผงลอย และอื่นๆ
นายสมคาด กล่าวต่อไปว่า เพื่อให้การดำเนินงานของศูนย์รับร้องทุกข์ฯ มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ทางศูนย์ฯ ได้มีการประสานกับรายการวิทยุ "ร่วมด้วยช่วยกัน" เพื่อต่อสายตรงมายังผู้รับผิดชอบแจ้งให้ ดำเนินการแก้ไขปัญหา รวมทั้งชี้แจงกับประชาชนโดยตรง ในกรณีปัญหาดังกล่าวมีอุปสรรค ข้อขัดข้อง อย่างไรก็ดี ในกรณีการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสำนักงานเขตเข้าไปแก้ไขในทันที ที่ผ่านมานั้นยังไม่สามารถทำได้ทุกเขต ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจึงได้ให้นโยบายว่า เมื่อได้รับเรื่องร้องทุกข์จากประชาชนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูในพื้นที่ทันที เพื่อดำเนินการแก้ไข กรณีที่ไม่สามารถแก้ไขได้ให้ติดตั้งป้ายประกาศไว้ด้วย นอกจากนี้ จะมีการปรับปรุงสมรรถนะของหน่วยเร่งด่วน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหา รวมทั้ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครยังได้มอบหมายให้ผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานคร 6 คณะ ออกตรวจพื้นที่เพื่อรับทราบปัญหาอุปสรรค เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาร้องเรียน ของสำนักงาน และเขต ซึ่งการตรวจพื้นที่ของคณะผู้ตรวจนอกจากรับทราบปัญหาและอุปสรรคแล้ว จะเป็นการประเมินผลการทำงานของผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการเขต และหน่วยงานต่างๆ เพื่อเสนอคณะผู้บริหารด้วย--จบ--

แท็ก เลขานุการ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ