กรุงเทพฯ--20 มิ.ย.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์
ม.อ. ระดมสมองแก้ปัญหานาร้างในจังหวัดปัตตานี หลังชาวนามองว่า การทำนาไม่ทำให้ตัวเองร่ำรวย หันปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นทดแทนที่ได้ผลตอบแทนดีกว่า ขณะที่บางส่วนอพยพไปทำงานต่างถิ่นหรือขายที่นาให้นายทุน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สมปอง ทองผ่อง รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี(Asst.Prof. Sompong Tongpong, President of Prince of Songkla University - Pattani Campus) เปิดเผยว่า โครงการวิจัยการพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการลุ่มน้ำสายบุรี ได้จัดสัมมนาวิชาการ เรื่อง ตอบโจทย์นาร้าง: ความจริง ปัญหาและทางออก โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาเป็นเกษตรกรจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และผู้ที่มีปัญหานาร้าง จำนวนกว่า 40 คน ที่ร่วมกันระดมสมองถึงสาเหตุที่เกษตรกรปล่อยทิ้งนาร้าง จนอาจส่งผลกระทบต่อมั่นคงทางอาหารในเขตพื้นที่ภาคใต้
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นุกูล รัตนดากุล ที่ปรึกษาเครือข่ายลุ่มน้ำสายบุรีและนักวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า สาเหตุที่เกิดปัญหานาร้างมาจากระบบการระบายน้ำของชลประทานที่ไม่เพียงพอ หรือบางพื้นที่เกิดน้ำท่วมขังที่นาจากการสร้างถนนยกพื้นสูง ทำให้ที่นาจำนวนมากต้องถูกปล่อยทิ้งร้าง ซึ่งปัญหาดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลให้การพัฒนาในพื้นที่ขาดความยั่งยืน
ขณะเดียวกัน จากการศึกษาและเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้แสดงความคิดเห็น ยังพบว่า อาชีพชาวนาในปัจจุบันไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม และชาวนาบางส่วนมองว่า อาชีพทำนาไม่สามารถสร้างความร่ำรวยให้แก่ตัวเองได้ จึงหันไปปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า หรือบางส่วนก็อพยพไปทำงานต่างถิ่นทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการขายที่นาให้แก่นายทุน
ทั้งนี้ จากรายงานวิจัย เรื่อง สาเหตุและผลกระทบจากปัญหานาร้างในจังหวัดปัตตานี โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สมบูรณ์ เจริญจิระตระกูล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พบว่า ปัญหานาร้างในจังหวัดปัตตานีเริ่มต้นเมื่อปี 2524 และปรากฏชัดขึ้นในปี 2540 ก่อนปัญหาทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งจากข้อมูลตัวเลของทางราชการนั้น รายงานว่า ในปี 2548 จังหวัดปัตตานีมีพื้นที่นารวม 323,786 ไร่ เป็นพื้นที่นาร้าง 61,906 ไร่ หรือคิดเป็น 19.12%
“นับตั้งแต่ที่มีความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เริ่มในปี 2547 รัฐบาลได้พยายามแก้ปัญหาด้วยการจัดสรรงบประมาณทำโครงการต่างๆ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของชาวนาให้ดีขึ้น แต่โครงการก็ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากขาดการมีส่วนร่วมของชาวนาในพื้นที่ ส่งผลให้ปัจจุบันปัญหานาร้างได้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของชาวนา ความเป็นครอบครัว ความเอื้ออาทรกันในชุมชน วัฒนธรรมข้าว รวมถึงผลกระทบเชิงสิ่งแวดล้อมและในที่สุดส่งผลให้การพึ่งพาตนเองได้ของครัวเรือนและชุมชนมีน้อยลง” รองศาสตราจารย์ ดร.สมบูรณ์ เจริญจิระตระกูล กล่าว