พม.จัดงานสัมมนา เรื่อง “๑๐ ปี พระราชบัญญัติคุ้มตรองเด็ก พ.ศ.๒๕๔๖ กลไกความหวังกับการคุ้มครองเด็ก”

ข่าวทั่วไป Thursday June 20, 2013 11:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 มิ.ย.--พม. นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิดการสัมมนา เรื่อง “๑๐ ปี พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.๒๕๔๖ กลไกความหวังกับการคุ้มครองเด็ก” เพื่อถอดบทเรียน สรุปประเมินผล และกำหนดทิศทางการดำเนินงานในการสงเคราะห์ คุ้มครองสวัสดิภาพ และส่งเสริมความประพฤติเด็ก ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติฯ และสู่ประชาคมอาเซียน จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๐ — ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๖ ณ โรงแรมแม่น้ำ รามาดาพลาซ่า ถนนเจริญกรุง กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย คณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติและคณะอนุกรรมการ คณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัด ๗๖ จังหวัดๆละ ๕ คน คณะกรรมการคุ้มครองเด็กกรุงเทพฯ คณะทำงานพัฒนาระบบคุ้มครองเด็ก นักบริหาร นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง รวมกว่า ๕๐๐ คน นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ประเทศไทยประสบผลก้าวหน้าอย่างสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างทางกฎหมาย เพื่อคุ้มครองเด็กในภาวะเสี่ยง การประกาศใช้ พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก เมื่อ ปี พ.ศ.๒๕๔๖ เป็นเครื่องชี้วัดที่สำคัญที่สุดของความก้าวหน้านี้ พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก คือความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งยกสถานะของประเทศไทยให้เป็นผู้นำด้านการส่งเสริมสิทธิเด็กของภูมิภาคและนานาชาติ พ.ร.บ.นี้ตั้งอยู่บนหลักการที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก ระบุถึงวิธีอันหลากหลายซึ่งความรุนแรง และการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ สามารถทำร้ายเด็ก ทำลายอนาคตของพวกเขา พ.ร.บ.นี้ให้การปกป้องคุ้มครองเด็กไทยทั้งหมด ไม่ว่าพวกเขาจะมีสถานะทางเศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย มีชาติพันธุ์ หรือนับถือศาสนาใด เนื้อหาของ พ.ร.บ. ประกาศอย่างแจ้งชัดว่า การดูแลให้เด็กมีความเป็นอยู่ที่ดี คือหน้าที่รับผิดชอบของทุกคน และจะไม่ยอมให้มีการทารุณกรรมเด็ก พร้อมทั้งระบุถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทย ที่จะให้การช่วยเหลือเด็ก โดยผ่านทางการเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัว นายวิเชียร กล่าวต่อไปว่า แนวนโยบายในการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก ที่รัฐบาลให้ความสำคัญยิ่ง มีดังนี้ ๑) รับเป็นภาคีพิธีสารของสหประชาชาติ เพื่อให้เด็กได้รับความยุติธรรมในระดับสากล ประเทศไทยรับเป็นภาคีพิธีสารของสหประชาชาติ เมื่อวันที่ ๒๖ ก.ย.๕๕ ซึ่งเป็นประเทศแรกในทวีปเอเชียที่เข้าเป็นพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เรื่องกระบวนการติดต่อร้องเรียน ทั้งนี้เพื่อให้เด็กและผู้แทนของเด็กสามารถแจ้งเรื่องการละเมิดสิทธิต่อคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ ๒) นโยบาย OSCC ศูนย์ช่วยเหลือสังคม ด้วยนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาสังคม โดยเฉพาะปัญหาสำคัญใน ๔ เรื่อง ได้แก่ ๑.การตั้งครรภ์ไม่พร้อม ๒.การค้ามนุษย์ ๓.แรงงานเด็ก และ ๔.การใช้ความรุนแรงต่อเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ และคนพิการ นายกฯได้มอบหมายให้กระทรวงฯ เป็นเจ้าภาพร่วมกับส่วนราชการและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง พัฒนารูปแบบการให้บริการระบบ OSCC ศูนย์ช่วยเหลือสังคม เพื่อบูรณาการความช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาสังคมอย่างเป็นองค์รวม และดำเนินการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มุ่งเน้นให้ประชาชนที่ประสบปัญหาได้รับความคุ้มครองอย่างสะดวกและรวดเร็ว ๓) ยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมของไทยสู่ประชาคมอาเซียน ปี ๒๕๕๘ กระทรวงฯ กำลังดำเนินการจัดทำคุณลักษณะเด็กและเยาวชนไทยที่พร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยจำแนกตามช่วงอายุ ได้แก่ ๑.แรกเกิด — ๖ ปี ๒.อายุ ๖ — ๑๒ ปี ๓.อายุ๑๒ — ๑๘ ปี และ ๔.๑๘-๒๕ ปี และ ๔) การปรับปรุงกลไกการดำเนินงานเพื่อการคุ้มครองเด็ก กลไกที่สำคัญยิ่งในการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.๒๕๕๖ คือ คณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ คณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัด และคณะกรรมการคุ้มครองเด็กกรุงเทพฯ ปัจจุบันกระทรวงฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ในการบริหารจัดการระบบงานคุ้มครองเด็ก เป็นที่เรียบร้อยแล้ว นายวิเชียร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการจัดสัมมนาครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๐ — ๒๑ มิ.ย. ๕๖ เพื่อถอดบทเรียน สรุปประเมินผล และกำหนดทิศทางการดำเนินงานในการสงเคราะห์ คุ้มครองสวัสดิภาพ และส่งเสริมความประพฤติเด็ก ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. และสู่ประชาคมอาเซียน เพื่อติดตามผลและวางระบบในการบริหารจัดการตามยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนตั้งครรภ์ไม่พร้อม สู่เป้าหมายที่เป็นศูนย์และเพื่อเปิดพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะในการดำเนินงาน ระหว่างนักบริหาร นักวิชาการ และคณะกรรมการคุ้มครองเด็ก ทั้งระดับชาติ ระดับจังหวัด และกรุงเทพฯ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ