บีโอไอเผยยอดขอส่งเสริม 5 เดือนมูลค่าลงทุนขยายตัว 70% กลุ่มบริการ สาธารณูปโภค ยานยนต์ ชิ้นส่วน ลงทุนเพิ่มหลายเท่าตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 20, 2013 11:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 มิ.ย.--บีโอไอ บีโอไอเผยสถิติยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนช่วง 5 เดือน มูลค่าเงินลงทุนสูงถึง 564,800 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 70 โดยกลุ่มบริการและสาธารณูปโภคจ่อขยายลงทุนมากที่สุด ตามด้วยกลุ่มยานยนต์ ชิ้นส่วน โลหะ และเครื่องจักร ส่วนการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศขยายตัวร้อยละ 24 ญี่ปุ่นรั้งอันดับหนึ่งลงทุนในไทย นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เปิดเผยถึงภาวะการลงทุนภาคอุตสาหกรรมช่วง 5 เดือน ( มกราคม — พฤษภาคม 2556 ) ที่ผ่านมาว่า มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 919 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 564,800 ล้านบาท จำนวน โครงการเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อนที่มี 779 โครงการ ขณะที่มูลค่าเงินลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 สำหรับกิจการที่ได้รับความสนใจยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดในช่วง 5 เดือน คือการลงทุนในกลุ่มบริการและสาธารณูปโภค จำนวน 215 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 260,100 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 224 หรือกว่า 2 เท่าตัว โดยมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ อาทิ กิจการขนส่งทางอากาศ 15 โครงการ ลงทุนรวมกว่า 160,000 ล้านบาท กิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ 2 โครงการลงทุน 34,000 ล้านบาทกิจการท่าเรือรับก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Terminal) ลงทุนประมาณ 21,000 ล้านบาท กิจการเขตอุตสาหกรรม 5 โครงการ ลงทุนประมาณ 9,100 ล้านบาท กิจการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล 2 โครงการ ลงทุนประมาณ7,300 ล้านบาท กิจการศูนย์กระจายสินค้า 6 โครงการ ลงทุนประมาณ 6,500 ล้านบาท กิจการโรงแรม 2 โครงการ ลงทุนประมาณ 2,800 ล้านบาท เป็นต้น รองลงมาเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร ยานยนต์ และชิ้นส่วน มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมจำนวน 196 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 136,100 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 108 หรือกว่า 1 เท่าตัวโครงการขนาดใหญ่ที่เตรียมจะลงทุน ได้แก่ กิจการประกอบรถยนต์และผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์ ลงทุน 33,000 ล้านบาท กิจการผลิตชิ้นส่วนโลหะและโลหะปั๊มขึ้นรูป 3 โครงการ ลงทุน 24,200 ล้านบาท กิจการผลิตเครื่องยนต์ดีเซล มูลค่าลงทุนประมาณ 18,000 ล้านบาท กิจการประกอบรถกระบะ ลงทุนประมาณ 15,000 ล้านบาท กิจการผลิตแม่พิมพ์ 2 โครงการ ลงทุนประมาณ 2,200 ล้านบาท และกิจการผลิตชิ้นส่วนประเภทต่างๆ รวม 6 โครงการ ลงทุนรวมประมาณ 18,000 ล้านบาท อันดับสาม เป็นการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจากกลุ่มเกษตรกรรม และผลผลิตจากการเกษตร มีจำนวน 237 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 91,900 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 230 หรือกว่า 2 เท่าตัวโครงการขนาดใหญ่ที่เตรียมจะลงทุน ได้แก่ กิจการผลิตเครื่องดื่มจากพืชผักผลไม้ 4 โครงการ ลงทุนรวมกว่า 8,100 ล้านบาท กิจการผลิตยางแท่งและยางผสม 10 โครงการ มูลค่าลงทุนรวมประมาณ 7,000 ล้านบาท กิจการผลิตอาหารกระป๋องและอาหารแช่แข็ง 6 โครงการ ลงทุน 7,000 ล้านบาท กิจการผลิตแป้งและแป้งแปรรูป จำนวน 8 โครงการ ลงทุนรวมประมาณ 5,600 ล้านบาท กิจการผลิตน้ำมันจากปาล์มและรำข้าว 4 โครงการ ลงทุนประมาณ 4,000 ล้านบาท กิจการห้องเย็นและรถห้องเย็น 8 โครงการ มูลค่าลงทุน 3,700 ล้านบาท กิจการผลิตผงชูรส เงินลงทุน 3,500 ล้านบาท กิจการผลิตอาหารสัตว์ 4 โครงการ ลงทุน 4,100 ล้านบาท และกิจการเลี้ยงสัตว์ 3 โครงการ ลงทุนประมาณ 3,500 ล้านบาท เป็นต้น ทั้งนี้ สถิติขอรับส่งเสริมในช่วง 5 เดือน พบว่าเป็นการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ หรือ เอฟดีไอ (Foreign Direct Investment: FDI) จำนวน 526 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 255,848 ล้านบาท ซึ่งแม้ว่าจำนวนโครงการจะลดลงเล็กน้อยร้อยละ 3.8 แต่มูลค่าเงินลงทุนกลับพบว่าขยายตัวร้อยละ 24.4 เมื่อเทียบกับการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศในช่วง 5 เดือนของปี 2555 ที่ผ่านมา โดยนักลงทุนต่างชาติที่ยื่นขอรับส่งเสริมมากที่สุดยังคงเป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น ยื่นขอรับส่งเสริมจำนวน 282 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 167,767 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับมูลค่าเงินลงทุนจากญี่ปุ่นในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อันดับสองคือ มาเลเซีย ยื่นขอรับส่งเสริมจำนวน 156 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 16,850 ล้านบาท อันดับสามฮ่องกง ยื่นขอรับส่งเสริม 14 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 15,246 อันดับสี่สิงคโปร์ ยื่นขอส่งเสริมจำนวน 33 โครงการ เงินลงทุนรวม 10,4802 ล้านบาท อันดับห้า โครงการลงทุนจากเนเธอร์แลนด์ จำนวน 10 โครงการ เงินลงทุนรวม 9,112 ล้านบาท

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ