กรุงเทพฯ--20 มิ.ย.--แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น
โรงพยาบาลกรุงเทพ เผยไลฟ์สไตล์ผู้ชายไทยในปัจจุบันเสี่ยงถูกสารพันโรคร้ายรุมเร้าโดยไม่รู้ตัว จัดสัปดาห์สุขภาพเพศชาย รณรงค์สร้างมิติใหม่ให้คุณสุภาพบุรุษหันมาดูแลสุขภาพให้แข็งแรงห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ พร้อมแนะวิธีรับมือโรคเงียบที่อาจมาเยือนแบบคาดไม่ถึง อาทิ โรคต่อมลูกหมากโต โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ โรคกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ และโรคความดันโลหิตสูง
นพ.ดำรงพันธ์ วัฒนะโชติ ผู้อำนวยการศูนย์โรคทางเดินปัสสาวะกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า ไลฟ์สไตล์ของผู้ชายไทยในปัจจุบันนั้นเมื่อเริ่มย่างเข้าสู่วัยทำงาน บทบาทความรับผิดชอบในตำแหน่งหน้าที่การงานก็มักจะมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะในสังคมที่เร่งรีบและมีการแข่งขันสูงนั้น มักทำให้เกิดความเครียดสะสม พักผ่อนไม่เพียงพอ นอนดึก รับประทานอาหารแบบไม่ถูกสุขอนามัย ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพแบบสะสม จนเมื่อย่างเข้าสู่วัยสี่สิบปีขึ้นไป ซึ่งเป็นวัยที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของระบบฮอร์โมนในร่างกายที่อาจเริ่มลดระดับลงไป เรียกว่า แอนโดรพอส (Andropause) คล้ายกับเพศหญิงในวัยที่จะหมดประจำเดือน (Menopause) แม้ว่าจะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป อาจส่งผลทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย อารมณ์ จิตใจ และสมรรถภาพทางเพศซึ่งมักจะเป็นความรู้สึกที่บกพร่องในคุณภาพชีวิตไปหากไม่มีทัศนะคติอื่นใด หรือพลังชีวิตใดที่ดีกว่าเข้ามาทดแทนได้ทัน แนวโน้มของความเสี่ยงที่ไม่ควรมองข้ามนั้นมีได้ตั้งแต่ที่พบบ่อยขึ้น คือ เรื่องมะเร็งต่อมลูกหมาก Prostate cancer ซึ่งเป็นโรคฮิตติดอันดับหนึ่งของชาวอเมริกันและกลุ่มชาวยุโรป สแกนดิเนเวีย ผู้ชายในอเมริกาเหนือ (โดยเฉพาะกลุ่มผิวดำ) มีสถิติผู้ป่วยใหม่ต่อปีมากกว่า 200,000 คน และสูญเสียชีวิตประมาณปีละเกือบถึง 30,000 คน หรือพบอุบัติการสูงสุดถึง 137 : ประชากร 100,000ประมาณ ในขณะที่มะเร็งต่อมลูกหมากแต่เดิมพบไม่มากนักในประเทศทาง เอเชีย ในประเทศไทย มีตัวเลขที่พบได้ประมาณ 4.4 : 100,000 ยังเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าในต่างประเทศ อย่างไรก็ตามจากประสบการณ์ของศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะในปัจจุบัน เราตรวจพบผู้ป่วยมากขึ้นกว่าเดิมคาดว่าไม่ต่ำกว่าหนึ่งถึงสองพันรายต่อปี ในโรงพยาบาลใหญ่ทั่วประเทศ จึงเป็นเรื่องที่ต้องได้รับการติดตามกันอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะการตรวจวินิจฉัยและการให้การรักษาที่เหมาะสม รวมทั้งเรื่องของการระวังรักษาสุขภาพในเชิงการป้องกัน
ต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งในระบบสืบพันธุ์ของเพศชาย ต่อมนี้มีลักษณะคล้ายลูกเกาลัดอยู่ตรงบริเวณใต้กระเพาะปัสสาวะด้านหน้าทวารหนัก ต่อมลูกหมากเป็นส่วนที่หุ้มรอบท่อปัสสาวะส่วนต้น ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะส่วนโคน มีหน้าที่ผลิตน้ำเมือกเหลวๆ ในระหว่างที่มีเพศสัมพันธ์ น้ำเมือกจากต่อมลูกหมากจะถูกขับออกมาปนกัน ซึ่งปกติขนาดของต่อมลูกหมากอยู่ภายใต้อิทธิพลของฮอร์โมนเพศชายในขณะที่ถ้าขาดฮอร์โมนเพศชายหรือมีการเพิ่มฮอร์โมนเพศหญิง จะทำให้ต่อมลูกหมากฝ่อเล็กลงได้ โรคที่มักพบในต่อมลูกหมากที่สำคัญมี 3 โรค ได้แก่
1. โรคต่อมลูกหมากโต ซึ่งพบได้ในเพศชายอายุตั้งแต่ 40 ปี โดยเฉพาะเข้าอายุ 50-60 ปี ต่อมลูกหมากที่โตขึ้นนี้ จะกดเบียดท่อปัสสาวะให้แคบลง ทำให้มีอาการปัสสาวะผิดปกติ เช่นปัสสาวะบ่อยในตอนกลางคืนหรือกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะขัด ใช้เวลาปัสสาวะนาน ไม่พุ่ง หรือออกเป็นหยดๆ
2. มะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นโรคซึ่งพบในเพศชายอายุ 50 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่ในระยะแรกๆมักไม่แสดงอาการหรืออาจจะมีอาการคล้ายโรคต่อมลูกหมากโต รวมทั้งปัสสาวะหรือน้ำอสุจิมีเลือดปน มะเร็งในระยะต้นสามารถตรวจพบได้เมื่อแพทย์ตรวจร่างกาย โดยสวมถุงมือคลำต่อมลูกหมากผ่านทางช่องทวารหนัก เมื่อมีการตรวจเช็คสุขภาพประจำปีและหรือตรวจเลือดร่วมด้วย เพื่อหาระดับของค่าพีเอสเอ (: PSA เอนไซม์ต่อมลูกหมาก)
3. ต่อมลูกหมากอักเสบ เป็นภาวะที่มีการอักเสบติดเชื้อแบคทีเรียของเนื้อต่อมลูกหมากรวมทั้งจากเชื้อหนองในเทียม การอักเสบมักจะผ่านเข้าไปทางท่อปัสสาวะ ส่วนน้อย ผ่านทางกระแสเลือด บ่อยครั้งที่ตรวจไม่พบเชื้อใดๆ พบในกลุ่มอายุระหว่าง 30-40 ปีเป็นส่วนใหญ่
ปกติในการตรวจวินิจฉัยโรคของต่อมลูกหมากนี้ แพทย์จะสอบถามประวัติและอาการเพื่อแยกแยะทั้งสามโรคนี้ไปด้วยพร้อมๆกัน การตรวจร่างกาย ตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือดโดยเฉพาะ PSA พีเอสเอ เหล่านี้ถือว่าเป็นการตรวจขั้นพื้นฐาน รวมทั้ง แพทย์จะสวมถุงมือและตรวจคลำต่อมลูกหมากผ่านทางท่อทวารหนัก “ดีอาร์อี” (Digital Rectal Examination) ทั้งนี้เพราะเหตุว่า ต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะที่อยู่ภายในไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอกนั่นเอง เป็นข้อมูลที่จะนำมาวินิจฉัยรวมกับอาการและผลการตรวจอื่นๆ เช่น ผลการตรวจเลือด ปัสสาวะ และหรือการตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ ต่อมลูกหมาก ทั้งหมดนี้จึงจะสามารถนำมาวินิจฉัย และวางแผนการตรวจรักษาที่เหมาะสมได้โดยอธิบายและแนะนำให้กับผู้ป่วยและญาติเพื่อไม่ต้องเป็นห่วงกังวลใดๆ และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและร่วมมือในการรักษาตนเองด้วย ดังนั้นต่อมลูกหมาก จึงเป็นส่วนหนึ่งของอวัยวเฉพาะในเพศชาย ที่มีความสำคัญในการระวังรักษาสุขภาพ เป็นเรื่องที่ ไม่ควรมองข้าม แต่กลับเป็นเรื่องที่น่าสนใจ น่าจะรับรู้และแบ่งปันความเอาใจใส่กันได้ทั้งครอบครัว
ศ.นพ.สมบุญ เหลืองวัฒนากิจ ศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะ คลินิกสุขภาพเพศชาย กล่าวเสริมว่า นอกจากโรคต่อมลูกหมากแล้ว ยังมีอีกหนึ่งอาการที่คุณผู้ชายทั้งหลายควรระวังนั่นคือ อาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (Erectile Dysfunction) หรือที่เรานิยมเรียกสั้น ๆ ว่า โรคอีดี หมายถึง การที่อวัยวะเพศไม่สามารถแข็งตัว หรือแข็งตัวได้ไม่นานพอที่จะมีเพศสัมพันธ์ได้สำเร็จจนเป็นที่พึงพอใจอยู่เป็นประจำหรืออย่างต่อเนื่อง มีสาเหตุหลักๆ มาจากเส้นเลือดตีบ เส้นประสาทเสื่อม ซึ่งเกิดจากเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ยาบางชนิด ภาวะฮอร์โมนเพศชายบกพร่อง อายุที่มากขึ้นหรือหลาย ๆ สาเหตุร่วมกัน และปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ อีกมากมาย ปัจจุบันนี้เข้าใจว่าอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศและอาการต่อมลูกหมากโต อาจจะมีสาเหตุร่วมกัน เนื่องจากพบร่วมกันได้มาก และจากการศึกษายังพบอีกว่า คนที่มีอาการต่อมลูกหมากโตยิ่งรุนแรงก็จะยิ่งพบภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้มากยิ่งขึ้นด้วย เมื่อเทียบกับคนที่ไม่มีอาการในช่วงอายุเดียวกันซึ่งอาจจะเกิดจากภาวะการทำงานมากเกินไปของระบบประสาทซิมพาเธติก ทำให้มีการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบในต่อมลูกหมาก รวมทั้งเส้นเลือดในองคชาติ บางคนเชื่อว่าเกิดจากการที่เลือดไปเลี้ยงอวัยวะในอุ้งเชิงกรานได้น้อยลง มีผลทำให้เกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ การโตของต่อมลูกหมาก การบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะลดลง การยืดขยายของกระเพาะปัสสาวะได้น้อยลงและเกิดความเสื่อมของเส้นประสาทในองคชาติ ที่กระตุ้นให้องคชาติแข็งตัวได้ การรักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ จะรักษาเป็นขั้นตอน คือ ตรวจร่างกายในห้องปฏิบัติการ เช่น เบาหวาน ไขมัน การทำงานของตับ ไต ในรายที่ความต้องการทางเพศลดลงหรือตรวจร่างกายพบลูกอัณฑะขนาดเล็ก จำเป็นต้องได้รับการตรวจฮอร์โมนเพศชายร่วมด้วย การรักษาจะเริ่มจากวิธีง่ายๆ เช่น ยารับประทาน การใช้ปั๊มสุญญากาศ ถ้าไม่ได้ผลหรือไม่พึงพอใจ จะใช้ยาฉีดหรือการผ่าตัดใส่แกนองคชาติเทียม หรือใช้หลาย ๆ วิธีร่วมกัน เช่น ยารับประทาน 2 ชนิดร่วมกัน ปัจจุบันแพทย์จะอธิบายวิธีการรักษาแต่ละชนิดให้คนไข้ทราบถึงข้อดีข้อเสีย จากนั้นคนไข้จะตัดสินใจเองว่าชอบวิธีใด คนไข้ส่วนใหญ่จะเลือกใช้วิธีง่าย ๆ ราคาเหมาะสมและไม่มีข้อห้ามในการใช้ จึงมักจะเลือกใช้ยารับประทาน ในรายที่ไม่ได้ผลจากวิธีง่าย ๆ ที่กล่าวมาแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะใช้ยาฉีดเข้าโคนองคชาติ เพื่อทดสอบดูสภาวะของเส้นเลือดและการตอบสนองต่อยาฉีด ในรายที่ได้ผลและไม่กลัวการฉีดยาเข้าตนเอง ก็จะเลือกวิธีนี้ แต่ในรายที่ไม่ได้ผลหรือไม่ชอบใจ ก็อาจจะต้องทำการผ่าตัดใส่แกนองคชาติเทียม อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ ภายหลังจากที่ไม่ได้ผลด้วยการรักษาง่าย ๆ นี้ จะต้องได้รับการตรวจด้วยวิธีพิเศษขึ้นกับวิธีการรักษานั้นๆ
นพ.จรัสพงศ์ ดิศรานันท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบปัสสาวะ เพิ่มเติมว่า นอกจากโรคที่กล่าวมาข้างต้นนั้นมีอีกโรคที่ผู้ชายสูงวัยไม่ควรละเลย คือ ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน หรือ Overactive Bladder ซึ่งเป็นภาวะที่ผู้ป่วยต้องรีบไปห้องน้ำทันทีที่ปวดปัสสาวะ ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะหรือรอนานได้ อาจมีอาการปัสสาวะบ่อย หรือบางรายอาจมีปัสสาวะเล็ดราดก่อนถึงห้องน้ำ ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของภาวะนี้แน่ชัด เชื่อว่าเกิดจากกล้ามเนื้อที่ผนังกระเพาะบีบตัวบ่อยกว่าปกติ โดยที่ไม่ได้มีสาเหตุจากการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะหรือระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะทำงานผิดปกติ อาการดังกล่าวจะรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวันทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเดินทางออกไปทำกิจกรรมต่างๆ นอกบ้าน เพราะกังวล กลัวเข้าห้องน้ำไม่ทัน หรืออาจทำให้เกิดอุบัติเหตุจากการรีบเร่งเข้าห้องน้ำโดยเฉพาะผู้สูงอายุ การควบคุมการปัสสาวะในคนปกติ จะปวดปัสสาวะมากเมื่อกระเพาะปัสสาวะมีความจุประมาณ 300-500 ลูกบาศก์เซนติเมตร และสามารถกลั้นปัสสาวะได้จนกว่าจะถึงห้องน้ำ กระเพาะปัสสาวะจึงบีบตัวขับปัสสาวะออกมา แต่ผู้ป่วยภาวะนี้เริ่มปวดมากเมื่อกระเพาะปัสสาวะมีความจุประมาณ 150-200 ลูกบาศก์เซนติเมตร และกระเพาะปัสสาวะบีบตัวเกือบทันที ไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้ผู้ป่วยปัสสาวะบ่อยและกลั้นไม่อยู่ การตรวจวินิจฉัยภาวะนี้ไม่ได้มีความยุ่งยาก และสามารถรักษาในการควบคุมการปัสสาวะเป็นปกติได้ สำหรับสาเหตุของอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่นี้อาจเกิดจาก โรคประจำตัว ประวัติการผ่าตัดในอดีต รวมทั้งปริมาณและชนิดของเครื่องดื่มในแต่ละวัน แพทย์อาจให้ผู้ป่วยจดบันทึกการปัสสาวะเพื่อช่วยให้วินิจฉัยได้แม่นยำมากขึ้น ตรวจร่างกายระบบทางเดินปัสสาวะ ต่อมลูกหมาก และระบบประสาท หรือตรวจทางห้องปฏิบัติการเบื้องต้นเช่นตรวจปัสสาวะเพื่อดูว่ามีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะหรือไม่ หรือมีนิ่วในกระเพาะปัสสาวะหรือไม่
การรักษาจำเป็นต้องทำควบคู่กันไปทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การฝึกกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน และการใช้ยาเพื่อให้ได้ผลในการรักษาสูงสุด สำหรับผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาข้างต้นอาจต้องใช้ยาฉีดเข้าผนังกระเพาะปัสสาวะ เพื่อลดการบีบตัวของเพาะปัสสาวะ แต่วิธีที่ดีที่สุดนั้นคือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การควบคุมปริมาณน้ำดื่ม งดเครื่องดื่มจำพวกน้ำชา กาแฟ น้ำอัดลม และ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เนื่องจากเครื่องดื่มเหล่านี้จะทำให้มีปริมาณปัสสาวะมากขึ้น และคาเฟอีนในน้ำชา กาแฟและน้ำอัดลมบางชนิดอาจกระตุ้นให้กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวขึ้น ทำให้อาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่แย่ลง การฝึกกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานเพื่อช่วยให้กลั้นปัสสาวะได้ดีขึ้นและลดความไวของกระเพาะปัสสาวะ การฝึกกลั้นปัสสาวะ และไปเข้าห้องน้ำเมื่อจำเป็นเท่านั้น ไม่ควรไปปัสสาวะเมื่อไม่มีอาการปวดปัสสาวะการใช้ยารับประทานเพื่อลดการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ
นอกจากนี้ นพ.สุรชัย รุ่งธนาภิรมย์ ผู้อำนวยการคลินิกอายุรกรรม ได้เสริมว่ายังมี โรคความดันโลหิตสูงอีกโรคหนึ่งที่คุณผู้ชายควรระวัง เพราะส่วนใหญ่จะไม่มีอาการจนกว่าจะเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจล้มเหลว โรคไตวายและโรคอัมพาต การตรวจวัดความดันสม่ำเสมอจะช่วยวินิจฉัยโรคความดันโลหิตสูงระยะเริ่มแรกและการควบคุมความดันโลหิตให้ได้ถึงเกณฑ์ปกติตั้งแต่เริ่มวินิจฉัย จะช่วยให้ไม่เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น การรักษาโรคความดันโลหิตสูงที่เริ่มเป็นหรือระดับความดันโลหิตยังสูงไม่มาก จะเน้นที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมซึ่งถ้าหากผู้ป่วยสามารถปฏิบัติได้อย่างสม่ำเสมอจะทำให้ความดันโลหิตกลับมาอยู่ในระดับปกติได้ ( ความดันโลหิตไม่เกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอท ) โดยไม่ต้องอาศัยการรับประทานยา โดยมากกว่า 90 % ของผู้ป่วยความดันโลหิตสูงจะเป็นชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุ มักพบเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป พบว่ามีปัจจัยบางอย่างที่มีความเกี่ยวข้อง ได้แก่ มีประวัติครอบครัวเป็นโรคความดันโลหิตสูงชนิดไม่ทราบสาเหตุจะมีโอกาสเป็นความดันโลหิตสูงมากกว่าคนที่ไม่มีประวัติดังกล่าว 3 เท่า นอกจากนี้ กรรมพันธุ์ ความอ้วน การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา ความเครียด การรับประทานอาหารรสเค็มหรือ ผู้ที่ทำงานนั่งโต๊ะในสำนักงาน จะมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้ที่ทำงานใช้กำลัง ส่วนอีก 10 % จะเป็นโรคความดันโลหิตสูงแบบมีสาเหตุ มักพบในคนที่มีอายุน้อยกว่า 30 ปี สาเหตุเกิดจาก ภาวะไตวาย โรคเนื้องอกของสมอง โรคคอพอกชนิดตาโปน โรคของต่อมหมวกไต ภาวะครรภ์เป็นพิษ ผลจากการใช้ยา เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิดบางชนิด หรือยาลดน้ำมูกที่มีส่วนผสมของสารประกอบ pseudoephedrine โดยส่วนใหญ่ความดันโลหิตสูงมักจะไม่มีอาการ อาจตรวจพบโดยบังเอิญขณะไปตรวจรักษาโรคอย่างอื่น แต่ผู้ป่วยบางรายที่มีความดันโลหิตสูงมากๆ มักมีอาการปวดทั่วศีรษะ ปวดที่ท้ายทอย หรือวิงเวียนศีรษะร่วมด้วยได้ และผู้ป่วยบางส่วนที่มีภาวะความดันโลหิตสูงนานๆ อาจมาด้วยภาวะแทรกซ้อนจากความดันโลหิตสูงได้ เช่น อาการหัวใจวายเฉียบพลัน, ไตวาย , เส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การควบคุมน้ำหนัก หลีกเลี่ยงอาหารเค็ม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดบุหรี่ และแอลกอฮอลล์ เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งมีส่วนช่วยในการควบคุม ความดันโลหิตและลดปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ของโรคหลอดเลือดหัวใจ แต่หากหลังการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วยังไม่สามารถควบคุมความดันโลหิตได้ การรักษาโรคโดยการใช้ยาเป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้นผู้ป่วยควรพบแพทย์เพื่อตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอหลังจากที่ทราบว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง
ศูนย์โรคทางเดินปัสสาวะกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ รณรงค์ให้คุณผู้ชายทุกคนหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ขอเชิญร่วม “งานสัปดาห์สุขภาพเพศชาย” พบกิจกรรมเสริมสุขภาพที่น่าสนใจมากมาย อาทิ การตรวจประเมินหาความเสี่ยงต่อมลูกหมากโต ตรวจภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ตรวจภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน วัดความดันโลหิตสูง ฝึกออกกำลังกายเสริมสุขภาพทางเพศ เคล็ดลับสุดยอดอาหารเพิ่มพลังเสริมสุขภาพ และฟังเสวนาไขปัญหาสารพันสุขภาพเพศชายในหัวข้อที่น่าสนใจต่างๆ เช่น ต่อมลูกหมากโตและมะเร็งต่อมลูกหมาก...ภัยเงียบของผู้ชาย, หย่อนสมรรถภาพทางเพศ ที่มาของโรคหลอดเลือดสมองและความดันสูง, ทำอย่างไร...ถ้าปัสสาวะกลั้นไม่อยู่?, ความดันคุมได้หัวใจเต้นดี พร้อมร่วมสนุกกับเกมส์ และรับของที่ระลึกมากมาย ในวันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน 2556 เวลา 8.00 — 12.00 น. ณ ห้องประชุมนพ.พงษ์ศักดิ์ วิทยากร ชั้น 7 อาคารเวชศาสตร์ฟื้นฟู รพ.กรุงเทพ ซ.ศูนย์วิจัย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและสำรองที่นั่งโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้ที่ Contact Center โทร. 1719