กรุงเทพฯ--20 มิ.ย.--กรมป่าไม้
ห้องประชุมทองใหญ่ ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี — วันที่ 15 มิถุนายน 2556 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินโครงการปลูกป่าและฟื้นฟูป่าต้นน้ำและโครงการประชาอาสาปลูกป่า 800 ล้านกล้า 80 พรรษามหาราชินีฯ ร่วมกระทรวงมหาดไทยในซักซ้อมแนวทางการทำงานภายใต้โครงการดังกล่าวให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 35 จังหวัด ตลอดจนผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินการภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยได้จัดสรรเงินกู้สำหรับดำเนินการตามแผนงานฟื้นฟู และอนุรักษ์ป่าและระบบนิเวศ ในปี 2555จำนวน 925.57 ล้านบาท เพื่อให้กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุพืช ดำเนินการจัดทำฝาย เพาะชำกล้าไม้ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ และในปี 2556 —2556 ได้อนุมัติแผนแม่บทการฟื้นฟูป่าและอนุรักษ์ป่าและระบบนิเวศ (25 ลุ่มน้ำ) ซึ่งเป็นแผน 5 ปี (2556-2560) วงเงิน 10,000 ล้านบาท
ด้านนายบุญชอบ สุทธมนัสวงศ์ อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2556 อนุมัติให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการแผนแม่บทการฟื้นฟูป่าและอนุรักษ์ป่าและระบบนิเวศ (25 ลุ่มน้ำ) ซึ่งเป็นแผน 5ปี (2556-2560) วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยในปี 2556 อนุมัติวงเงินดำเนินโครงการ จำนวน 2,085.3361 ล้านบาท ให้ 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยในส่วนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีเป้าหมายในการ เพิ่มความสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ให้กลับคืนความอุดมสมบูรณ์ในปี 2556 ไม่น้อยกว่า 345,481 ไร่ เพะชำกล้าไม้ จำนวน 135 ล้านกล้า และสนับสนุนกล้าไม้ อีกไม่น้อยกว่า 180 ล้านกล้า เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพของการเป็นแหล่งดูดซับน้ำ กักเก็บน้ำ และชะลอการไหลของน้ำ พร้อมทั้งเสริมความชุ่มชื้นของ ระบบนิเวศป่าไม้ ป้องกัน อนุรักษ์ดิน น้ำ โดยการจัดทำฝายถาวรและกึ่งถาวร ไม่น้อยกว่า 2,300 แห่ง และปลูกหวาย จำนวน 15,000 ไร่
อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวต่อว่า ในแผนแม่บทการฟื้นฟูป่าและอนุรักษ์ป่าและระบบนิเวศ (25ลุ่มน้ำ) ซึ่งเป็นแผน 5 ปี (2556-2560)วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยแยกเป็น Module A จำนวน 5,790.1853 ล้านบาท และ Module B จำนวน 4,209.8147 ล้านบาท โดยเป็นในส่วนของกรมป่าไม้ได้รับจัดสรรตามแผน 5 ปี (2556-2560) จำนวน 3,094.6998 ล้านบาทแบ่งเป็น Module A. จำนวน 2,285.1838 ล้านบาท และ Module B จำนวน 809.5160 ล้านบาท สำหรับในปี 2556 กรมป่าไม้ ได้รับอนุมัติจำนวน 667.8398 ล้านบาท มีกิจกรรมที่ดำเนินการได้แก่กิจกรรมเพาะชำ 50 ล้านกล้า ปลูกป่า 80,000ไร่ บำรุงกล้าจากปีที่ผ่านมา 82.6ล้านกล้า กิจกรรมบำรุงแฝก 20 ลก. และจัดทำ ฝายถาวร 800ฝาย ฝายกึ่งถาวร 1,5000 ฝาย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กำหนดขั้นตอน วิธีการทำงาน โดยการจัดตั้งคณะทำงานปฏิบัติงานระดับจังหวัด เพื่อสำรวจ คัดเลือก และรับรองความถูกต้องของพื้นที่ รวมทั้งการจัดทำพิกัดของหน่วยงานที่รับผิดชอบเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัด ลงนามรับรองความถูกต้องของข้อมูล และมีการตั้งคณะกรรมการติดตามผลการดำเนินงานของโครงการ จำนวน 3 คณะ ได้แก่คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) คณะกรรมการของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะของกระทรวงมหาดไทย เพื่อรายงานผลการดำเนินงานให้คณะรัฐมนตรีทราบเป็นระยะต่อไป ทั้งนี้ กรมป่าไม้ ได้มีการกำชับเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการทุกกิจกรรมจัดทำรายละเอียดการดำเนินงานทุกขั้นตอนให้เกิดความโปร่งใส และพร้อมที่จะตรวจสอบได้ตลอดเวลา อธิบดีกล่าวปิดท้าย.