กรุงเทพฯ--20 มิ.ย.--พีอาร์ แอนด์ แอสโซซิเอส
งานวิจัยสารสกัดพริก สกว.สุดเจ๋ง ฝรั่งเศสขอใช้สิทธิ์ในการใช้ข้อมูลประโยชน์ของพริกเพื่อขยายตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสัตว์ในยุโรปและอเมริกา นักวิจัยระบุใช้ “พริกปลอดภัย” เป็นผลิตภัณฑ์สารเสริมในอาหารสัตว์แก้ปัญหาการดื้อยาและการตกค้างของยาปฏิชีวนะในเนื้อสัตว์ อีกทั้งช่วยเพิ่มมูลค่าของพริกและเพิ่มรายได้แก่เกษตรกรไทย
ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ นายฟรองซัวส์ โกติเยร์ (Mr. Francoise Gautier) ที่ปรึกษาบริษัท Gautier Agro Consult จากประเทศฝรั่งเศส ร่วมกันลงนามในสัญญาการขอใช้สิทธิ์จากผลงานวิจัย “สารสกัดพริก” เพื่ออุตสาหกรรมสารเสริมในอาหารสัตว์ ณ โรงแรมโนโวเทล สยามสแควร์ เมื่อเร็ว ๆ นี้
รศ. ดร.จันทร์จรัส เรี่ยวเดชะ ผู้อำนวยการฝ่ายเกษตร สกว. เปิดเผยว่าในปี 2547 ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปได้ประกาศห้ามใช้ยาปฏิชีวนะ เพื่อเร่งการเจริญเติบโตในสัตว์ทุกชนิด เนื่องจากทำให้เกิดการตกค้างในเนื้อสัตว์ รวมถึงการดื้อยาปฏิชีวนะในผู้บริโภค กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ทั่วโลกจึงมองหาทางเลือกอื่น ซึ่งวิธีที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดก็คือการใช้สารจากธรรมชาติ ได้แก่ พืชอาหารและเครื่องเทศ ล่าสุดทีมนักวิจัยไทยได้ทำการวิจัยและค้นพบว่าพริกเป็นพืชวัตถุดิบที่สามารถนำมาสกัดเป็นสารที่ให้ผลดีต่อการเจริญเติบโตของสัตว์ในกลุ่มสุกรและสัตว์ปีก
ดังนั้น สกว.จึงให้การสนับสนุนนักวิจัยให้ดำเนินการวิจัยตั้งแต่ต้นน้ำ คือ การเตรียมการเรื่องวัตถุดิบพริกให้มีคุณภาพสูง มีสารสำคัญสูง และเป็นพริกปลอดภัย ในส่วนของอุตสาหกรรมกลางน้ำได้พัฒนาเทคโนโลยีในการ สกัดพริกที่มีประสิทธิภาพสูงและต้นทุนต่ำ ขณะที่อุตสาหกรรมปลายน้ำ สกว.ได้ทำหน้าที่ผลักดันผลผลิตที่ได้จากการวิจัยและพัฒนาให้ถูกนำมาใช้ประโยชน์จริงทางการค้าในรูปของผลิตภัณฑ์สารเสริมในอาหารสัตว์ ภายใต้ชื่อ “Biocap?” โดยมีบริษัทเบทเทอร์ฟาร์มา จำกัด ซึ่งเป็นผู้ร่วมทุนวิจัยและได้รับสิทธิ์เป็นผู้จัดจำหน่ายในประเทศและกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ด้าน ศ. ดร.นันทวัน บุณยะประภัศร ผู้ประสานงานและที่ปรึกษาโครงการสุมนไพรเพื่อคุณภาพชีวิต จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งรับผิดชอบดูแลโครงการวิจัยชุดพริก เปิดเผยว่า ทีมนักวิจัยได้ค้นพบสารสกัดพริกที่มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อวงการปศุสัตว์ไทย โดยเฉพาะผลต่อไก่เนื้อ ไก่ไข่ และสุกร ในส่วนของไก่เนื้อ พริกจะช่วยเร่งการเจริญเติบโต ด้วยการออกฤทธิ์กระตุ้นการกินอาหาร กระตุ้นน้ำย่อย กระตุ้น ภูมิคุ้มกันโรค และลดผลกระทบจากความเครียด ด้านผลต่อไก่ไข่ พริกช่วยให้แม่ไก่มีระยะการให้ไข่ยาวนานขึ้น ไข่ที่ได้มีคุณภาพดี และมีคอเลสเตอรอลต่ำกว่าไข่ปกติถึงร้อยละ 30 ขณะที่ผลต่อสุกรขุน พริกจะช่วยเร่งอัตราการเติบโต ทำให้จำหน่ายสุกรได้เร็วกว่ากำหนด 2 อาทิตย์ สุกรมีสุขภาพดี เนื้อมีคุณภาพสูง ไขมันน้อย จึงจำหน่ายได้ในราคาสูงขึ้น ส่วนในสุกรแม่พันธุ์ พริกช่วยลดผลกระทบจากความเครียดภายหลังคลอด ทำให้สามารถสร้างน้ำนมได้มากขึ้น อีกทั้งเพิ่มภูมิคุ้มกันของแม่สุกรและภูมิคุ้มกันที่ถ่ายทอดจากแม่ (passive immune) ในลูกสุกร ตลอดจน half-life ของภูมิคุ้มกันในลูกสุกรยาวขึ้นจึงลดการสูญเสียลูกสุกรลง
“ผลงานวิจัยสารสกัดพริกมีส่วนช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกและสุกร ทั้งค่ายาที่ใช้ในการควบคุมโรคสำหรับสัตว์ และค่าอาหารสัตว์ที่ลดลงได้ถึงร้อยละ 5 ส่งผลให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ขณะเดียวกันประโยชน์ที่ได้จากผลงานวิจัยในครั้งนี้ยังช่วยให้ผู้บริโภคได้รับประทานอาหารจากเนื้อสัตว์ที่ปลอดภัย ไม่มีสารจากยาปฏิชีวนะปนเปื้อน และเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ คือ มีปริมาณไขมันต่ำ เหมาะกับบผู้สูงอายุ และผู้ที่มีแนวโน้มจะเป็นโรคความดันโลหิตหรือมีไขมันในเลือดสูง”
ทั้งนี้ ความสำเร็จของโครงการวิจัยดังกล่าวเกิดขึ้นได้จากการสร้างเครือข่ายนักวิจัยที่เข้มแข็งและรูปแบบ การทำวิจัยแบบสหสาขา ภายใต้ความร่วมมือของนักวิจัยจาก 12 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ปัจจุบัน สกว.ได้ทำการจดสิทธิบัตรผลงานวิจัยสารสกัดพริกไว้แล้วทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งนำมา ใช้ประโยชน์จริงในรูปผลิตภัณฑ์สารเสริมในอาหารสัตว์ และเป็นที่ยอมรับของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรและสัตว์ปีก โดยมียอดจำหน่ายในประเทศกว่า 7 ล้านบาท ล่าสุดบริษัท Gautier Agro Consult จากประเทศฝรั่งเศส ได้แสดงความจำนงขออนุญาตใช้สิทธิ์ในการใช้ข้อมูลประโยชน์จากพริกในปศุสัตว์ โดยให้ผลตอบแทนร้อยละ 3 ของยอดจำหน่าย และประกันขั้นต่ำที่ 10.25 ล้านบาท เป็นเวลา 7 ปี ซึ่งถือเป็นการช่วยขยายตลาดในยุโรปและอเมริกา อีกทั้งสะท้อนให้เห็นว่าผลงานวิจัยครั้งนี้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล