กรุงเทพฯ--21 มิ.ย.--เกษตรจังหวัดมหาสารคาม
จากกระแสการตื่นตัว อาหารปลอดภัยเพื่อให้มีสุขภาพดี ชาวบ้านอำเภอนาเชือกจึงรวมกลุ่มน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในชีวิตประจำวันพร้อมผลิตพืชอาหารปลอดภัยให้กับชุมชน
ว่าที่ ร.ต.จักรภัทร ผ่องโอภาส เกษตรจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า ชาวบ้านห้วยทราย หมู่ 6 ตำบลนาเชือก อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม ได้รวมกลุ่มกัน เป็นกลุ่มที่เกิดจากความต้องการของชุมชนและสามารถตอบสนองความต้องการของชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมีแนวคิดสร้างสรรค์กลุ่ม ทั้งด้านคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อเป็นการยกระดับความเป็นอยู่ของสมาชิก ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมให้สมาชิกมีการลดรายจ่ายในครัวเรือน เพื่อให้กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรมีอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ เพื่อให้คนในชุมชนได้บริโภคอาหารที่สะอาดและถูกหลักอนามัย ส่งเสริมให้สมาชิกปลูกวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต เพื่อช่วยให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้น เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาชุมชน เพื่อรับความรู้ทางด้านการเกษตรและเคหกิจเกษตร ส่งเสริมการออมเงินเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นแกนนำในการถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชน มีการจดทะเบียนจัดตั้งเป็น "กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านห้วยหลาว " เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2535 โดยมีนางบุญเที่ยง คำยอดแก้ว เป็นประธาน ปัจจุบันมีสมาชิก จำนวน 51 คน ใช้หลักการทำงานแบบมีส่วนร่วมคือ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตัดสินใจและร่วมพัฒนาสมาชิก
เกษตรจังหวัดมหาสารคาม กล่าวต่อไปว่า กิจกรรมเด่นของกลุ่ม สมาชิกแต่ละรายได้มีการปลูกพืชอาหารปลอดภัยทั้งพืชผักกินใบ กินผล รวมถึงข้าวโพด ไว้กินเองในครัวเรือนส่วนที่เหลือจะนำไปขาย นอกจากนี้ยังปลูกถั่วลิสงไว้แปรรูป และเลี้ยงจิ้งหรีด ขายสร้างรายได้ นอกจากนี้สมาชิกกลุ่มยังได้สืบทอดอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ที่กำลังเลือนหายไปจากสังคมไทย ไปสู่รุ่นเยาวชนให้รู้จักวิธีการเลี้ยงไหม สาวไหม มัดหมี่ และทอผ้าไหมที่เน้นการฟอกย้อมด้วยสีธรรมชาตินำไปทอเป็นผ้าพื้นเรียบ ผ้าถุง ผ้าโสร่ง ผ้าขาวม้า ผ้าพันคอ และผ้าคลุมไหล่ ราคาเริ่มต้นผืนละ 500-3,000 บาท ตามชนิดผ้า ด้วยฝีมือและความประณีตประเทศเดนมาร์กได้ส่งลายผ้าไหมให้กลุ่มส่งทอไปให้คิดเป็นมูลค่าเป็นมูลค่าหลายแสนบาท ปัจจุบันกลุ่มมีเงินทุนหมุนเวียนและมูลค่าทรัพย์สิน กว่า 1.4 ล้านบาท จากความสำเร็จเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้และศึกษาดูงานของผู้ที่สนใจอย่างต่อเนื่อง เกษตรกรที่สนใจรวมกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรจังหวัด/สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน หรือขอคำปรึกษาและแก้ปัญหาการเกษตร โดยตรงกับเกษตรจังหวัดมหาสารคาม โทรศัพท์หมายเลข ๐๘๑-๗๙๐๕๒๕๖ และหมายเลข ๐๘๘-๕๔๙๗๙๔๔