กรุงเทพฯ--21 มิ.ย.--กระทรวงวัฒนธรรม
เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2556 ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายสนธยา คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม จัดการประชุมร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน เพื่อระดมความคิดเห็นในการพัฒนาเมืองประวัติศาสตร์เวียงกุมกาม ตามที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้หาแนวทางการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว เพิ่มค่าใช้จ่ายและเพิ่มเวลาในการพักผ่อนให้ยาวขึ้น รวมทั้งการจัดประเพณีท้องถิ่นของแต่ละจังหวัดให้ช่วงเวลาสอดคล้องกัน ทั้งนี้ เป้าหมายการพัฒนาเมืองประวัติศาสตร์เวียงกุมกามนั้น จะต้องสอดคล้องกับประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตของชุมชน และส่งเสริมในเรื่องของการท่องเที่ยว โดยในเบื้องต้น จะเริ่มจากแผนงานในระยะเร่งด่วน ปรับปรุงและยกระดับพื้นที่เวียงกุมกามให้รองรับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมใน ช่วงฤดูท่องเที่ยวตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2556 — เมษายน 2557 ทั้งการปรับพื้นที่ให้น่าสนใจ มีสวนไม้ดอก การแสดงศิลปวัฒนธรรม การจัดงานเทศกาลสำคัญ ตลอดจนปรับปรุงสถานที่ ภูมิทัศน์ ป้ายสัญลักษณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก และความปลอดภัย
นายสนธยา กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาได้มีการจัดเวทีเสวนาระดมความคิดเห็นจากประชาชน นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้สนใจในพื้นที่ โดยส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า ควรมีการขยายพื้นที่เส้นทางการท่องเที่ยงเมืองประวัติศาสตร์เวียงกุมกาม ให้กระจายไปสู่ชุมชนรอบเมืองประวัติศาสตร์เวียงกุมกาม เช่น เขตเทศบาลหนองหอย เนื่องจากชุมชนต้องการมีส่วนร่วมในการท่องเที่ยวด้วย รวมทั้งต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แนะแนวทางการบริหารการท่องเที่ยว เพราะคนในชุมชนไม่มีความรู้และความชำนาญเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ตลอดจนต้องการให้สนับสนุนให้เวียงกุมกามเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืนและมีนักท่องเที่ยวตลอดปี
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เสนอให้มีการพัฒนาองค์ความรู้ กระบวนการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม. การพัฒนาไปสู่อุทยานประวัติศาสตร์ที่มีชุมชนอยู่ร่วมกันได้ และการใช้เทคโนโลยีสร้าง 3 มิติในการนำเสนอ รวมถึงการบริหารจัดการพื้นที่ให้อยู่ร่วมกับชุมชนได้ ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม
นายอภินันท์ โปษยานนท์ รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า จากที่ได้ลงพื้นที่เพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาเวียงกุมกามนั้น ในเบื้องต้นได้ข้อสรุปว่า จะเปิดการท่องเที่ยวในวันที่ 15 กันยายนนี้ โดยกรมศิลปากร จะรับหน้าที่ดูแลโบราณสถานทั้งหมด ส่วนวิยาลัยนาฏศิลป เชียงใหม่ จะดูแลเรื่องการแสดงเชิงประวัติศาสตร์ และวิถีชีวิต โดยให้นักศึกษาจากวิทยาลัยนาฎศิลป เชียงใหม่ และลูกหลานคนในพื้นที่ เข้าร่วมแสดงด้วย โดยมีแผนงานจัดกิจกรรม 56 กิจกรรม ตั้งเป้าหมายดึงนักท่องเที่ยวในกลุ่มที่มาจัดการประชุมที่จังหวัดเชียงใหม่ และนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในฤดูการท่องเที่ยว ในระยะเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนกันยายนนี้ อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ จะมีการทำประชาพิจารณ์เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ด้วย โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 80 ล้านบาท