กรุงเทพฯ--24 มิ.ย.--ไทยออยล์
“ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะเคลื่อนไหวในกรอบ 96-106 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 90-98 เหรียญฯ”
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน (24 - 28 มิ.ย. 56)
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้คาดว่าจะยังคงผันผวน หลังข่าวการยุตินโยบาย QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ( FED)ส่งผลให้นักลงทุนเกิดความไม่มั่นใจ ขณะเดียวกันตลาดคาดว่าจะมีความคืบหน้าในการกำหนดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจยุโรป อย่างไรก็ตามมีปัจจัยที่มาสนับสนุนราคา ได้แก่ ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะดีขึ้น รวมถึงความรุนแรงที่ทวีขึ้นในซีเรีย และความขัดแย้งระหว่างซูดาน-ซูดานใต้ที่ยังไม่จบสิ้น ทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงไม่มากนัก
ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
การตอบรับของนักลงทุน หลัง FED ยืนยันจะยังคงดำเนินนโยบายเข้าซื้อพันธบัตรมูลค่า 85,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือนต่อไป แต่ก็ส่งสัญญาณว่าจะชะลอนโยบายดังกล่าวในช่วงปลายปี และคาดว่าจะสามารถยุติการเข้าซื้อพันธบัตรได้ในช่วงกลางปีหน้า ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้มีการเทขายสินทรัพย์เสี่ยงรวมทั้งน้ำมันอย่างหนักในปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
ตลาดจับตาการประกาศ จีดีพี ไตรมาส 1/56 ของสหรัฐฯ (ครั้งที่ 3) ว่าจะมีการปรับตัวเลขจากการประกาศครั้งที่แล้วที่ 2.4% อย่างไร รวมถึงตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นและความรู้สึกผู้บริโภค และยอดผู้ขอรับสิทธิประโยชน์จากการว่างงานที่คาดว่าจะดีขึ้นจะเป็นปัจจัยหนุนราคาน้ำมัน
ความรุนแรงในซีเรียที่เพิ่มขึ้นหลังสหรัฐฯ ประกาศให้การสนับสนุนกลุ่มผู้ประท้วงอย่างเต็มรูปแบบด้วยอาวุธและกองกำลังทางการทหาร ซึ่งอาจทำให้เหตุการณ์ความไม่สงบลุกลามไปยังประเทศเพื่อนบ้านและส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบในตะวันออกกลางปรับลดลง
นักลงทุนยังมีความกังวลในความไม่แน่นอนของอุปทานน้ำมันดิบ หลังซูดานประกาศจะยุติการขนส่งน้ำมันของซูดานใต้ทั้งหมดที่ผ่านพรมแดนของตนในเวลา 60 วัน นับจากต้นเดือน มิ.ย. ประกอบกับ การปิดซ่อมบำรุงแหล่งผลิตน้ำมันดิบในทะเลเหนือในเดือนนี้ทำให้คาดว่าการผลิตจะลดลงประมาณ 330,000 บาร์เรลต่อวัน
การประชุมคณะกรรมาธิการทางเศรษฐกิจยุโรปในวันที่ 27-28 มิ.ย. นี้ ตลาดคาดว่าจะมีความคืบหน้าในเรื่องนโยบายทางการเงินของประเทศสมาชิก ความพยายามในการกระตุ้นการจ้างงานและการเติบโตของเศรษฐกิจยุโรป และแผนการจัดตั้งธนาคารสหภาพยุโรป (Banking Union)
แนวทางการบริหารของนายฮัสซัน โรฮานี ประธานาธิบดีคนใหม่ของอิหร่าน ซึ่งตลาดมองว่านโยบายต่างประเทศจะได้รับการผ่อนปรนและมีโอกาสมากขึ้นที่จะเปิดการเจรจากับชาติตะวันตกในกรณีโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ทำให้ ตลาดคาดหวังว่ามาตรการคว่ำบาตรอิหร่านอาจจะลดลง
ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญที่จะประกาศในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีชี้วัดภาวะเศรษฐกิจเยอรมนี (Ifo) ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน และยอดขายบ้านใหม่ การใช้จ่ายและรายได้ส่วนบุคคล ยอดขายบ้านรอปิดการขายของสหรัฐฯ ดัชนีชี้วัดภาคการผลิตของเมืองชิคาโก ดัชนีภาคการผลิตของจีน (HSBC และ Official)
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (17 — 21 มิ.ย. 56)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 4.16 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาปิดที่ 93.69 เหรียญฯ และเบรนท์ปรับลดลง 5.02 เหรียญฯ ปิดที่ 100.91 เหรียญฯ ส่วนดูไบปรับลดลง 2.36 เหรียญฯ มาอยู่ที่ 99.87 เหรียญฯ
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลงอย่างมาก เนื่องจากความกังวลของตลาดต่อแผนการยุติมาตรการ QE4 ของสหรัฐฯ หลังการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ ในช่วงกลางสัปดาห์ กดดันให้ราคาปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ความไม่สงบในซีเรียที่บานปลาย ประกอบกับ ตัวเลขเศรษฐกิจทั้งดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีตลาดบ้านสหรัฐฯ ดัชนีภาคอุตสากหรรมรัฐนิวยอร์ค และความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจยูโรโซนที่ออกมาดีขึ้นเป็นปัจจัยหนุนราคาน้ำมันในช่วงต้นสัปดาห์