กรุงเทพฯ--24 มิ.ย.--พม.
วันนี้ (๒๔ มิ.ย.๕๖) เวลา ๑๔.๓๐ น. นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิดการประชุม สมัชชาสตรีและครอบครัวระดับชาติ ประจำปี ๒๕๕๖ เพื่อแก้ไขวิกฤติสังคม และเสริมพลังครอบครัวสร้างสมดุลประชากร ณ โรงแรมปริ๊นซ์ พาเลซ มหานาค กรุงเทพฯ
นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ความเป็นมาของสมัชชาสตรีและครอบครัว เกิดจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๑ โดยได้นำระเบียบทั้ง ๒ ฉบับ มาบูรณาการเข้าด้วยกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผล ลดความซ้ำซ้อนของการทำงาน โดยมอบหมายให้สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ทำหน้าที่เป็นเลขานุการ ในการจัดสมัชชานับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๒ เป็นต้นมา และผลจากความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ จากที่ประชุมในทุกๆ ครั้ง รวมทั้งครั้งนี้ต้องจัดทำเป็นมติเสนอต่อรัฐบาล โดยมีคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถานภาพสตรีแห่งชาติ (กยส.) และคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ครอบครัวแห่งชาติ (กยค.) พิจารณากลั่นกรองเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาใช้เป็นแนวทางการกำหนดนโยบาย การบริหาร หรือ การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายหรือระเบียบปฏิบัติต่อไป
นายสันติ กล่าวต่อไปว่า กรอบแนวคิดหลักในการจัดสมัชชาสตรีและครอบครัวระดับชาติ ประจาปี ๒๕๕๖ สมัชชาสตรีและครอบครัว เป็นกระบวนการที่สานสามพลัง ได้แก่ ๑) พลังภาครัฐและการเมือง ซึ่งเป็นภาคส่วนในการกำหนดนโยบาย มาตรการ กลไก และงบประมาณ ๒) พลังทางปัญญา สร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ภายใต้ฐานองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง และ ๓) พลังทางสังคม เป็นพลังของภาคประชาชน ประชาสังคม ทุกภาคส่วน ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็น และเจตนารมณ์ ทั้งสามพลังนี้ขับเคลื่อนไปด้วยกัน เพื่อผลักดันให้เกิดข้อเสนอและมาตรการเพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของสตรี และเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัว ส่วนการกำหนดประเด็น ในการประชุมสมัชชาฯ พิจารณาจากข้อเสนอจากสมัชชาสตรีและสมัชชาครอบครัวในระดับจังหวัด ข้อเสนอจากหน่วยงาน องค์กร และภาคีเครือข่าย รวมถึงสถานการณ์ด้านสตรีและครอบครัว นโยบายของรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเป็นประเด็น ที่สามารถบูรณาการได้ทั้งเป้าหมายด้านสตรีและด้านครอบครัว โดยสรุปประเด็นสมัชชา จำนวน ๔ หัวข้อ ดังนี้ ๑) การตั้งครรภ์ไม่พร้อม ๒) ความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ๓) การเสริมสร้างความเข้มแข็ง ของเครือข่าย เพื่อพัฒนาสตรีและครอบครัว และ ๔) เสริมพลังครอบครัว สร้างสมดุลประชากรอย่างมีคุณภาพ
“สำหรับรูปแบบของการจัดประชุม ประกอบด้วย การเสวนาหัวข้อ สถานการณ์สตรีและครอบครัว และความก้าวหน้าการดำเนินงานตามมติสมัชชาสตรีและสมัชชาครอบครัว ปี ๒๕๕๕ และวาระการประชุมเพื่อพิจารณาประเด็นและมติสมัชชาสตรีและครอบครัว ห้องที่ ๑ การตั้งครรภ์ไม่พร้อม ห้องที่ ๒ ความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ห้องที่ ๓ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายเพื่อพัฒนาสตรีและครอบครัว และ ห้องที่ ๔ เสริมพลังครอบครัว สร้างสมดุลประชากรอย่างมีคุณภาพ” นายสันติ กล่าวตอนท้าย