ม.อ. เปิดหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการประชุม รับตลาดท่องเที่ยวเชิงประชุมสัมมนาในไทยคึกคัก

ข่าวทั่วไป Monday June 24, 2013 16:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 มิ.ย.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ คณะวิทยาการจัดการ ม.อ. เปิดหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการประชุม นิทรรศการและการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล (ไมซ์) รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแบบประชุมสัมมนาในประเทศไทยที่มีแนวโน้มคึกคัก ระบุเปิดปีแรกนักศึกษาให้การตอบรับดี คาดอนาคตเปิดหลักสูตรนานาชาติ รองรับไทยก้าวสู่ AEC ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ร้อยโทหญิง ดร.เกิดศิริ เจริญวิศาล ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยการพัฒนาการท่องเที่ยวชายแดน คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า จากแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในตลาดไมซ์ หรือการท่องเที่ยวเชิงประชุมสัมมนา ซึ่งประกอบด้วยธุรกิจการจัดการประชุม การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล การประชุมนานาชาติ และงานแสดงนิทรรศการนานาชาติ ที่เป็นไปอย่างคึกคัก โดยพบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวในลักษณะดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คณะวิทยาการจัดการ ม.อ. จึงได้เปิดการเรียนการสอนในหลักสูตรบริหารธุรกิจ สาขาการจัดการห้องประชุม นิทรรศการและการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล ขึ้นในปีการศึกษา 2556 โดยได้รับการตอบรับที่ดีจากนักศึกษาที่ให้ความสนใจเข้าเรียนหลักสูตรดังกล่าวสูงถึง 61 คน จากเป้าหมายเดิมที่คาดว่า จะรับนักศึกษาเพียง 30 คน “นักศึกษาที่ลงเรียนหลักสูตรดังกล่าว จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการธุรกิจในอุตสาหกรรมไมซ์ โดยเน้นการฝึกปฏิบัติจนเกิดเป็นความรู้และทักษะในการทำงานให้มีความเชี่ยวชาญอย่างแท้จริง โดยผู้ที่จบการศึกษาสามารถประกอบอาชีพเป็นผู้จัดงานแสดงสินค้าและนิทรรศการ ผู้จัดงานอีเว้นท์ ผู้ประกอบการธุรกิจงานประชุมและนิทรรศการ หรือผู้ปฏิบัติงานในศูนย์การประชุม” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ร้อยโทหญิง ดร.เกิดศิริ กล่าว ด้านอาจารย์ธนิถา แสงวิเชียร หัวหน้าสาขาวิชาการจัดประชุม ฯ คณะวิทยาการจัดการ ม.อ. กล่าวว่า หลักสูตรนี้ ทางคณะฯ ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB ในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน สำหรับการจัดการธุรกิจด้านการประชุมและนิทรรศการ โดยมุ่งเน้นผลิตบัณฑิตให้เป็นที่ต้องการของตลาด เนื่องจากยังมีความต้องการบุคลากรทางด้านนี้เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ คณะฯ ได้จัดเตรียมความพร้อมด้านงบประมาณและบุคลากรด้านคณาจารย์ ที่จัดให้มีการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ 25% เพื่อเตรียมความพร้อมทางด้านหลักสูตรให้เป็นหลักสูตรนานาชาติ รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมไมซ์ที่คาดว่าจะขยายตัวแบบก้าวกระโดด หลังจากที่ไทยก้าวเข้าสู่การเป็นสมาชิกในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในอีก 2 ปีข้างหน้า

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ