กรุงเทพฯ--24 มิ.ย.--กองประชาสัมพันธ์ ราชมงคลธัญบุรี
หลังจากกระบวนการบีบเอาน้ำมันจากการรีดน้ำมันปาล์มออกจนหมดแล้วจะเหลือ เส้นใยปาล์มน้ำมัน โดยคุณสมบัติของเส้นใยปาล์มน้ำมันคือ เหนียว ทน จึงนิยมนำไปทำโซฟา และเป็นที่ทราบดีว่าปาล์มน้ำมันเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศ เมื่อผลิตน้ำมันปาล์ม ที่เหลือคือเส้นใยที่มีเป็นจำนวนมาก
ด้วยแนวคิดที่ต้องการเพิ่มมูลค่า และใช้วัสดุที่เหลือจากกรรมวิธีการผลิตน้ำมันปาล์ม จึงทำให้นายกิตติชาติ โหมาศวิน อาจารย์นักวิจัยจากคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี หันมาวิจัยและใช้เส้นใยปาล์มน้ำมันมาอัดแผ่นเป็นฉนวนดูดซับเสียงขึ้นโดยอัดขึ้นรูปเส้นใยปาล์มน้ำมันให้เป็นแผ่นด้วยกรรมวิธีการอัดร้อน กำหนดช่วงความหนาแน่นระหว่าง 200-400 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ที่ความหนา 12.5 และ 20 มม.อุณหภูมิในการอัด 150 ?C แรงที่ใช้ในการอัดอยู่ระหว่าง 25-30 กิโลกรัมต่อตารางเมตร เวลาในการอัด 8 นาที ใช้กาว pMDI ร้อยละ 5 -7 ทดสอบการดูดซับเสียงในกล่องทดสอบ
จากนั้นนำไปทดสอบคุณสมบัติการดูดซับเสียงตามระดับความดัง (dB)แล้วพบว่าแผ่นฉนวนดูดซับเสียงจากใยปาล์มน้ำมันสามารถดูดซับเสียงได้ดีกว่าฉนวนดูดซับเสียงตามท้องตลาด โดยแผ่นปาล์มน้ำมันสามารถดูดซับเสียงได้สูงสุดที่ร้อยละ 29.42 ที่ความหนาแน่น 400 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ความหนา 20 มม.และฉนวนดูดซับเสียงตามท้องตลาดสามารถดูดซับเสียงได้สูงสุดที่ร้อยละ 26.46 ส่วนผลการทดสอบคุณสมบัติการดูดซับเสียงแยกย่านความถี่ (Hz)พบว่าแผ่นฉนวนดูดซับเสียงจากใยปาล์มน้ำมันสามารถดูดซับเสียงได้ดีที่ย่านความถี่ระดับกลางถึงระดับสูง ( 500 Hz-2,000 Hz)
แผ่นฉนวนดูดซับเสียงจากใยปาล์มน้ำมัน ที่ความหนาแน่น 400 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ใช้ปริมาณกาว 5% และ7% มีคุณสมบัติด้านกายสมบัติและกลสมบัติผ่านเกณฑ์ของ Strength and mechanical properties of Soft boards (Library of Congress Cataloging — In — Publication Data)ซึ่งปริมาณกาว 5% เหมาะสมในการผลิตเชิงอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตามผู้วิจัยยังได้ฝากขอบคุณบริษัทท่าฉางสวนปาล์มน้ำมัน อุตสาหกรรมจำกัด จ.สุราษฎร์ธานี ที่ได้ดำเนินการจัดส่งใยปาล์มน้ำมันให้กับโครงการวิจัย ขอขอบคุณบริษัทเซลโลกรีตไทย จำกัด ที่ให้การช่วยเหลือในการศึกษาและการเก็บข้อมูลในการวิจัย มา ณ ที่นี้ด้วย ผู้ในสนใจไอเดียดีๆ นี้สามารถติดต่อขอทราบรายละเอียดได้ที่ 081-866-4540