เตือนภัยโรคแอนแทรคโนสพริก

ข่าวทั่วไป Tuesday June 25, 2013 11:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 มิ.ย.--เกษตรจังหวัดมหาสารคาม เกษตรจังหวัดมหาสารคาม แจ้งเตือนภัยการระบาดโรคแอนแทรคโนส เนื่องจากเป็นโรคที่สำคัญและเริ่มพบการระบาดแล้วในพื้นที่อำเภอชื่นชม จังหวัดมหาสารคาม ว่าที่ ร.ต.จักรภัทร ผ่องโอภาส เกษตรจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่าโรคแอนแทรคโนส หรือโรคกุ้งแห้ง สามารถเข้าทำลายพริกได้ทุกชนิด และทุกระยะการเจริญเติบโต ความรุนแรงมากน้อยขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของพริก พริกที่มีความอ่อนแอต่อโรคนี้มากที่สุด ได้แก่ พริกชี้ฟ้าและพริกหวาน กรณีที่มีเชื้อติดมากับเมล็ดพันธุ์ เชื้อจะเข้าทำลายต้นกล้า ทำให้ต้นแห้งตาย และเมื่อเชื้อเข้าทำลายในระยะต้นโตลักษณะอาการที่แสดงออกมา พบว่า บริเวณใบจะเกิดเป็นแผลแห้งขนาดเล็กสีน้ำตาลเข้ม ขอบแผลมีสีน้ำตาลอ่อน ทำให้ใบร่วงและแห้งตายจากปลายยอด โรคนี้จะแสดงอาการชัดเจนในระยะผล โดยเฉพาะระยะที่ผลเริ่มสุก เริ่มจากเกิดรอยจุดช้ำสีน้ำตาล เป็นแอ่งยุบลงไป จุดแผลจะขยายใหญ่เป็นวงกลมหรือวงรี มีจุดเล็ก ๆ สีดำ เรียงซ้อนกันเป็นวง ๆ กระจายออกไปตามวงกว้างของแผล เนื้อเยื่อบริเวณแผลที่ถูกเชื้อเข้าทำลายจะหยุดเจริญ ในขณะที่บริเวณรอบ ๆ ยังเจริญต่อไป ทำให้ผลพริกที่เป็นโรคมีลักษณะโค้งงอ หดย่น หรือบิดเบี้ยว จนทำให้เกษตรกรเรียกโรคนี้ว่า โรคกุ้งแห้ง ถ้าโรคระบาดรุนแรงหรือในสภาพแวดล้อมที่เหมาะต่อการเกิดโรค เชื้อจะเข้าทำลายใบ กิ่งก้าน ลำต้นและผล ทำให้ใบร่วงเป็นจำนวนมาก ต้นอาจยืนแห้งตาย เกษตรจังหวัดมหาสารคาม กล่าวต่อไปว่าโรคแอนแทรคโนส สามารถแพร่กระจายโดยลม แมลง หรือคน เพื่อเป็นการป้องกันและกำจัด ก่อนปลูกควรแช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำอุ่นอุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที เพื่อกำจัดเชื้อที่ติดมากับเมล็ด หากพบว่าเริ่มมีการระบาดควรพ่นด้วย ไดเทน เอ็นที-เอ็ม-45 อัตรา 40-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟังกูราน-โอเอช อัตรา 15-20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ การ์แรต อัตรา 10-20 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นทุก 5-7 วัน และควรเก็บผลพริกที่เป็นโรคออกจากแปลงปลูกเพื่อลดแหล่งการกระจายของเชื้อ และช่วยป้องกันการแพร่ระบาด เกษตรกรที่มีปัญหาด้านการเกษตร ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรจังหวัด/สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน หรือขอคำปรึกษาและแก้ปัญหาการเกษตร โดยตรงกับเกษตรจังหวัดมหาสารคาม โทรศัพท์หมายเลข ๐๘๑-๗๙๐๕๒๕๖ และหมายเลข ๐๘๘-๕๔๙๗๙๔๔

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ