กรุงเทพฯ--27 มิ.ย.--สำนักงาน กสทช.
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกฎหมาย ในกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยว่า จากการที่ได้เดินทางไปยังกรุงฮิสตันบูล เพื่อประชุมร่วมกับ Dr. Tayfun ACARER ประธานกรรมการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม หรือ กทช.ของสาธารณรัฐตุรกี เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม ซึ่ง กทช. ของสาธารณรัฐตุรกีนั้นจะกำกับดูแลเฉพาะกิจการโทรคมนาคมเพียงอย่างเดียว เช่นเดียวกับคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ของประเทศไทยในอดีต โดยสาธารณรัฐตุรกีมีความคล้ายคลึงกับประเทศไทย คือ มีจำนวนประชากรที่ใกล้เคียงกันและมีขนาดของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมใกล้เคียงกัน โดยมีผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่จำนวน 3 ราย เหมือนกัน
สาธารณรัฐตุรกีเองมีประสบการณ์ในการประมูล 3 จี ไปก่อนประเทศไทยไม่นานนัก และการประมูลในครั้งนั้นก็ได้ราคาการประมูลไม่สูงมากนัก แม้ว่าสาธารณรัฐตุรกีจะไม่ได้เป็นชาติสมาชิกของอียู แต่ก็ติดตามกฎกติกาการดำเนินกิจการโทรคมนาคมภายใต้กรอบนโยบายของอียู ส่งผลทำให้สาธารณรัฐตุรกีเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้การยอมรับ และประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการคลื่นเพื่อนำมาใช้ในกิจการโทรคมนาคมให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ประธาน กทช.ของสาธารณรัฐตุรกี กล่าวว่า ได้ติดตามการทำงานของกสทช.ประเทศไทยอย่างใกล้ชิด โดยทราบว่า กสทช.ได้นำพาทิศทางโทรคมนาคมของประเทศไทยให้พัฒนารุดหน้า โดยการจัดประมูลคลื่นความถี่ 3 จี และฟันฝ่าอุปสรรคที่ยากลำบากจนประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ กสทช. ยังเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลทั้งในด้านกิจการโทรคมนาคมและด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หากมีความร่วมมือกับ กทช.ของตุรกี ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลเหมือนกันก็จะช่วยเติมเต็มในความรู้และประสบการณ์ซึ่งกันและกัน จึงเสนอขอทำ MOU เพื่อให้มีความร่วมมือทางวิชาการระหว่างองค์กรของทั้งสองประเทศ โดยกสทช.ของไทย สามารถที่จะเรียนรู้จากประสบการณ์ของสาธารณรัฐตุรกีที่สามารถเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่ใบอนุญาตได้อย่างสมบูรณ์แบบ ในขณะที่ กทช. ของตุรกี ก็สามารถเรียนรู้ประสบการณ์การฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆของไทยทั้งในเรื่องการประมูลคลื่นความถี่ และการเป็นองค์การที่กำกับดูแลทั้งกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม
“ การเดินทางร่วมประชุมและหารือกับหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมของตุรกีในครั้งนี้ถือว่าประสบผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมทำให้มีโอกาสแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในด้านการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมและแนวทางในการเปลี่ยนผ่านจากการสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาตดังนั้นการที่ประธานกทช.ตุรกีแสดงความสนใจที่จะทำความร่วมมือทางด้านวิชาการกับ กสทช.ไทย เนื่องจากมีความประทับใจและเห็นว่าจะเกิดประโยชน์ต่อองค์กรทั้งสอง จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง โดยจะได้นำเรื่องนี้ไปหารือกับ กสทช.และสำนักงาน กสทช.ต่อไป หากมีความคืบหน้าจนเป็นผลให้สามารถทำ MOU ร่วมกันได้ ตุรกีก็จะเป็นประเทศแรกที่ กสทช.ชุดนี้จะทำความร่วมมือทางวิชาการกับองค์กรกำกับดูแลโทรคมนาคมของเขา” ดร.สุทธิพล กล่าวสรุป