กรุงเทพฯ--27 มิ.ย.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมง จัดโครงการฟื้นฟูทรัพยากรประมงชายฝั่งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ หนุนปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเสริม 12 ล้านตัว พร้อมมอบเครื่องมือประมงพื้นบ้านถูกกฎหมาย หวังเพิ่มปริมาณผลผลผลิตสัตว์น้ำในพื้นที่กว่า 200 ตัน มูลค่ากว่า 40 ล้านบาท
นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในงานแถลงข่าวการจัดงานโครงการฟื้นฟูทรัพยากรประมงชายฝั่งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดปัตตานี จังหวัดสงขลา และจังหวัดนราธิวาส ณ กรมประมง ว่า พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพื้นที่จังหวัดปัตตานี สงขลา และนราธิวาส เป็นพื้นที่ติดแนวชายฝั่งทะเล อาชีพประมงเป็นอาชีพที่สำคัญ โดยเฉพาะชุมชนชาวประมงพื้นบ้านที่อาศัยทรัพยากรชายฝั่งทะเลในการดำรงชีพส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ซึ่งสภาพปัญหาโดยทั่วไปของชาวประมงพื้นบ้าน คือ ทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่งทะเลลดลง ส่งผลให้ทรัพยากรประมงในบางพื้นที่อยู่ในสภาพเสื่อมโทรม อีกทั้งปัญหาชาวประมงไม่มีเครื่องมือในการทำการประมงเป็นของตนเอง ต้นทุนในการหาปลาและสัตว์น้ำสูง รวมทั้งปัญหาพื้นฐานเกี่ยวกับความไม่มั่นคงในเรื่องที่อยู่อาศัย ส่งผลให้การทำมาหากินของชาวประมงพื้นบ้านมีความลำบากมากขึ้น
ดังนั้น การสร้างความมั่นคงทางอาชีพประมงชายฝั่ง โดยการฟื้นฟูทรัพยากรประมงและการพัฒนาอาชีพทำการประมงชายฝั่งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงนับว่ามีส่วนสำคัญต่อคุณภาพชีวิต กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมง จึงได้จัด "โครงการฟื้นฟูทรัพยากรประมงชายฝั่งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้" เพื่อเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำชายฝั่งโดยการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเสริมลงสู่แหล่งน้ำชายฝั่งทะเลในพื้นที่จังหวัดสงขลา ปัตตานี และนราธิวาส เพื่อให้แพร่ขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ และเป็นการฟิ้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรประมงชายฝั่ง จัดสร้างแหล่งปะการังพื้นบ้าน จัดหาเครื่องมือประมงพื้นบ้านที่ถูกกฎหมายให้กับชาวประมงพื้นบ้าน พร้อมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีและงานด้านวิชาการเพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการจับสัตว์น้ำที่เหมาะสมให้แก่ชาวประมงและผู้สนใจในพื้นที่
สำหรับกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การจัดกิจกรรมการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำชายฝั่งเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ โดยมีพิธีปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำชายฝั่ง รวม 12 ล้านตัว ได้แก่ กุ้งกุลาดำ ระยะ Post Iarva 35 จำนวน 6 ล้านตัว กุ้งแช่บ๊วย ระยะ Post Iarva 15 จำนวน 5 ล้านตัว และปลากะพงขาว ขนาดประมาณ 2 เซ็นติเมตร จำนวน 1 ล้านตัว โดยกิจกรรมการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำชายฝั่งจะจัดแบบระบบออนไลน์ กำหนดให้จ.ปัตตานี เป็นศูนย์กลาง และถ่ายทอดพิธีผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ไปยังพื้นที่การจัดกิจจกรมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำในพื้นที่จ.สงขลา นราธิวาส และปัตตานี การมอบวัสดุเพื่อจัดทำซั้ง หรือปะการังพื้นบ้าน จำนวน 5,000 ชุด การมอบเครื่องมือประมงพื้นบ้านที่ถูกกฎหมายให้กับชุมชนประมงพื้นบ้าน เช่น อวนลอยกุ้ง อวนลอยปลา อวนลอยปู จำนวน 500 ชุด การมอบอุปกรณ์เพื่อใช้ในการแปรรูปสัตว์ จำนวน 15 ชุด และการจัดนิทรรศการให้องค์ความรู้เกี่ยวกับการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้แก่ โครงการปล่อยกุ้งกุลาดำในอ่าวปัตตานี สัตว์น้ำในป่าพรุ โครงการฟื้นฟูทรัพยากรตามแนวพระราชดำริ วิถีประมงพื้นบ้าน การใช้ประโยชน์จากซั้งกอ เป็นต้น พร้อมทั้งมี การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ด้านการประมง สินค้า OTOP ภายในงานอีกด้วย
" การดำเนินงานโครงการฯ ในครั้งนี้ คาดว่า ชาวประมงพื้นบ้านจะมีส่วนร่วมในการจัดการและอนุรักษ์ทรัพยากรประมง โดยการใช้เครื่องมือทำการประมงที่ถูกกฎหมาย และยังคาดว่าจะช่วยสร้างความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 200 ตัน คิดเป็นมูลค่า 40 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยยกระดับรายได้และสร้างความมั่นคงทางอาชีพให้กับชาวประมงพื้นบ้านด้วย" นายศิริวัฒน์ กล่าว
อนึ่ง พิธีเปิดงานโครงการฯ จะจัดวันที่ 4 กรกฎาคม 2556 เวลา 09.00 น.ที่ จ.ปัตตานี บริเวณลานศิลปวัฒนธรรม หน้าศาลากลาง และร่วมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำที่ หมู่ 2 ต.บานา อ.เมือง จ.ปัตตานี ,จังหวัดสงขลา จัดที่บ้านปากน้ำเทพา หมุ่ที่ 7 ต.เทพา จังหวัดสงขลา และจังหวัดนราธิวาส จัดที่บ้านเขาตันหยง หมู่ที่ 4 ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส โดยเปิดงานพร้อมกันวันที่ 4 กรกฎาคม 2556 เวลา 09.00 น,