กรุงเทพฯ--27 มิ.ย.--เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
ราคาที่อยู่อาศัยในสหรัฐอเมริกา ณ สิ้นเดือนเมษายน 2556 ซึ่งเป็นเดือนล่าสุดที่สำรวจ เพิ่มขึ้น 0.7% และเดือนมีนาคม ก็เพิ่มขึ้น 1.5% ทั้งนี้ราคาบ้านเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลา 15 เดือนติดต่อกันแล้ว แสดงชัดว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ฟื้นตัว ซึ่งมีปัจจัยมาจากเศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัว จึงมีกำลังซื้อบ้านกลับเข้ามาใหม่ จนดันราคาบ้านเพิ่มขึ้น
อาจกล่าวได้ว่าในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา เมษายน 2555-2556 ราคาบ้านเพิ่มขึ้น 7.4% ซึ่งเพิ่มขึ้นสูงกว่าราคาบ้านในกรุงเทพมหานครที่ประมาณ 5% เสียอีก อย่างไรก็ตามราคาบ้าน ณ เดือนเมษายน 2556 หรือเดือนล่าสุดนี้ ยังต่ำกว่าราคาที่เคยขึ้นสูงสุด ณ เดือนเมษายน 2550 อยู่ประมาณ 11.7% ราคาบ้านล่าสุดนี้เท่ากับราคาบ้านเมื่อเดือนมกราคม 2548 หรือ 27 เดือนก่อนที่ราคาบ้านจะขึ้นสูงสุดและดิ่งเหวลงมา
ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา มลรัฐที่มีราคากระเตื้องขึ้นสูงสุด ได้แก่มลรัฐแถบมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งประกอบด้วยมลรัฐแคลิฟอร์เนียและอื่น ๆ ตลอดจน มลรัฐแถวภูเขา ซึ่งประกอบด้วยมลรัฐเนวาดา อะริสโซนาและอื่น ๆ ที่เป็นเช่นนี้เพราะมลรัฐเหล่านี้แต่เดิมราคาตกต่ำลงอย่างฮวบฮาบ เพราะการเก็งกำไรกันมหาศาล แต่เมื่อปรับฐานได้ดีแล้ว ก็เติบโตขึ้นมาใหม่
ส่วนมลรัฐที่ราคาบ้านกระเตื้องขึ้นช้า ๆ ได้แก่ มลรัฐนิวยอร์ก นิวเจอร์ซี และฟิลาเดลเฟียทางด้านตะวันออก นอกจากนี้มลรัฐกลุ่มนิวอิงแลนด์ ได้แก่ คอนเน็กติกัด เวอร์มอนต์ ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือแถวมหาสมุทรแอตแลนติก ก็ยังอยู่ในสภาพ ‘สะลึมสะลือ” เช่นกัน การนี้แสดงว่าในมลรัฐเหล่านี้ยังไม่น่าลงทุนนัก หากเทียบกับมลรัฐทางทิศตะวันตก
อาจกล่าวได้ว่าการตกต่ำของราคาบ้านในสหรัฐอเมริกา เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2550 ที่ราคาบ้านสูงสุด จนถึงเดือนมีนาคม 2554 เป็นเวลารวมกันถึงเกือบ 4 ปี (46 เดือน) นับแต่เดือนพฤษภาคม 2550 แล้ว ราคาบ้านก็ทรง ๆ ต่อมาจนถึงเดือนมกราคม 2555 เป็นเวลา 7 เดือน และหลังจากนั้น ราคาบ้านก็เริ่มเพิ่มสูงขึ้นจนถึงเดือนเมษายน 2556 ที่สำรวจล่าสุด
การแก้หนี้ที่มีประสิทธิภาพ เป็นหนทางประการสำคัญที่ทำให้ราคาบ้านในสหรัฐอเมริกา กระเตื้องเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งต่างจากในกรณีประเทศไทย ที่มีการบังคับคดีด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ทำให้บ้านและอสังหาริมทรัพย์ยังค้างร้างไว้เป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และทำให้บางคนสามารถ ‘ล้มบนฟูก’ ได้
การซื้อบ้านส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกา เป็นการซื้อขายบ้านมือสอง ไม่ใช่บ้านมือหนึ่ง การซื้อขายแต่ละครั้ง นายหน้าจะได้รับค่านายหน้าสูงถึงประมาณ 5-7% ทำให้ธุรกิจนายหน้าเติบโตเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่อสังหาริมทรัพย์ฟื้นตัว อย่างไรก็ตามอัตราค่านายหน้าค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศไทยที่ 3% ประเทศมาเลเซียที่ประมาณ 2% และประเทศสิงคโปร์ที่ประมาณ 1.5%
โดยที่เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาฟื้นตัว ก็น่าจะส่งผลดีต่อโลก ทำให้มีกำลังในการซื้อสินค้าและบริการจากทั่วโลก ทำให้ประเทศต่าง ๆ ได้รับอานิสงส์ไปด้วย คาดว่าประเทศไทยจะได้รับผลดีตามไปด้วยในอนาคต และประเทศไทยควรรณรงค์เชิญชวนนักลงทุนและนักท่องเที่ยวเข้ามายังประเทศให้มากขึ้น
จะสังเกตได้ว่า ราคาบ้านในสหรัฐอเมริกา หรือไทยก็ตามจะตกต่ำก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ อสังหาริมทรัพย์เป็นตัวแปรตามภาวะเศรษฐกิจ ถ้าเศรษฐกิจเฟื่องฟู อสังหาริมทรัพย์ก็เฟื่องฟู หรือในทางตรงกันข้ามเศรษฐกิจตกต่ำ อสังหาริมทรัพย์ก็จะตกต่ำไปด้วย ในภาวะที่เศรษฐกิจของไทยยังมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีประมาณ 4-6% ในห้วงปี 2556-2558 นี้ เชื่อว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังจะเติบโตต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็ควรมีมาตรการควบคุมการเก็งกำไร เช่น นานาอารยประเทศ จะได้ไม่เกิดภาวะฟองสบู่ในอนาคต และไม่พึงแต่เอาใจหรือเห็นแก่นายทุนนักพัฒนาที่ดินรายใหญ่ที่มุ่งหวังแต่จะผลิตจำนวนมาก ๆ เพื่อขายทำกำไร โดยไม่คำนึงถึงผลเสียจากการเก็งกำไรเท่าที่ควร
ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน