กรุงเทพฯ--28 มิ.ย.--กรมการท่องเที่ยว
กรมการท่องเที่ยวขับรับนโยบายรัฐ เร่งพัฒนาโฮมสเตย์ ชูการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ดึงนักท่องเที่ยว พร้อมจัดกิจกรรมกระตุ้นตลาดส่งเสริมการรับรองมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว หวังปูทางสู่รายได้จากการท่องเที่ยว 2 ล้านล้านบาท ในปี 2558
ว่าที่ร้อยตรีอานุภาพ เกษรสุวรรณ อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐในการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวไทย รองรับการแข่งขันและ ความต้องการของตลาดที่จะเกิดขึ้น หลังจากที่ประเทศไทยได้ก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) รวมทั้งนโยบายของรัฐ ที่จะผลักดันให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมีรายได้ 2 ล้านล้านบาท ในปี 2558 กรมการท่องเที่ยว ในฐานะองค์กรที่มีภารกิจหลักในการพัฒนาการท่องเที่ยวด้านบริการท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ รวมถึงการอนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยจึงได้กำหนดยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน นโยบายการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 2 ล้านล้านบาท จำนวน 6 ด้าน คือ 1. การส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยวทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ 2. การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น 3. การพัฒนาเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ด้านการท่องเที่ยวของประเทศ 4.การสร้างความเชื่อมั่นแก่นักท่องเที่ยว โดยเน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นสำคัญ 5. การอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวโดยการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคด้านการท่องเที่ยว 6. การพัฒนาสินค้าและบริการด้านท่องเที่ยว ซึ่งเน้นการบูรณาการส่งเสริมสินค้าและบริการท่องเที่ยว ด้านศิลปวัฒนธรรม โดยนำศิลปะพื้นบ้าน อาหารไทย ประเพณีของชุมชนท้องถิ่น มาเป็นสินค้าที่นำเสนอให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศได้เข้ามาท่องเที่ยวสัมผัสกับวิถีชีวิตความเป็นไทย
นอกจากนี้รัฐบาลนี้ยังได้ให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจชุมชน เพื่อทำให้ประชาชนกินดีอยู่ดี และมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้จากคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภาเมื่อวันอังคารที่ 23 สิงหาคม 2554 ว่าจะให้ความสำคัญกับ “การนำทุนทางวัฒนธรรมของประเทศมาสร้างคุณค่าทางสังคมและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยนำวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างผลิตภัณฑ์และบริการด้านวัฒนธรรมท้องถิ่นให้เป็นวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ก่อให้เกิดคุณค่าทางสังคม และนำมาซึ่งรายได้สู่ชุมชน” และที่สำคัญที่สุด คือ การที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)
ใน ปี พ.ศ. 2558 ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนได้ร่วมกันจัดทำแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวของอาเซียน ปี พ.ศ. 2554 - 2558 โดยที่แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวมีเรื่องการจัดทำมาตรฐานการท่องเที่ยวอาเซียน จำนวน 4 มาตรฐาน ได้แก่ มาตรฐานโรงแรมสีเขียวของอาเซียน (ASEAN Green Hotel Standard) มาตรฐานโฮมสเตย์ของอาเซียน (ASEAN Homestay Standard) มาตรฐานห้องน้ำสาธารณะของอาเซียน (ASEAN Public Toilet Standard) และมาตรฐานการให้บริการสปาของอาเซียน (ASEAN Spa Services Standard)
ดังนั้นเพื่อเป็นการส่งเสริมมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย ให้สอดรับกับมาตรฐานโฮมสเตย์ของอาเซียน (ASEAN Homestay Standard) กรมการท่องเที่ยวจึงเร่งส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานโฮมสเตย์เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการแข่งขันที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวเพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวในอาเซียนเพิ่มมากขึ้น จากการคาดการณ์ขององค์การการท่องเที่ยวโลก (World Tourism Organization) ที่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในอาเซียน จะเพิ่มขึ้นเป็น 120 ล้านคนในปี 2558 จากระดับเฉลี่ย 67.5 ล้านคนต่อปี
ด้านนางนิรมล เปลี่ยนจรูญ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาบริการท่องเที่ยว กล่าวว่านโยบายการส่งเสริมและพัฒนาโฮมสเตย์ กรมการท่องเที่ยวได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ด้วยการจัดทำมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนโดยการให้บริการที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว หลังจากนั้นจึงได้เริ่มตรวจประเมินและให้การรับรองมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน มีโฮมสเตย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจำนวน 138 แห่งทุกภาคของประเทศ การรับรอง มีอายุครั้งละ 3 ปี สำหรับนโยบายของกรมการท่องเที่ยวในปีนี้กำหนดยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานโฮมสเตย์ไว้ 5 กิจกรรมหลัก คือ
1.การปรับปรุงมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย ให้เทียบเท่าหรือสูงกว่ามาตรฐานโฮมสเตย์ของอาเซียน ซึ่งบางเกณฑ์มาตรฐานสูงกว่ามาตรฐานโฮมสเตย์ไทย เช่น ต้องมีจำนวนบ้านที่ลงทะเบียนเป็นโฮมสเตย์อย่างน้อย 5 หลังคาเรือน เจ้าของบ้านทุกหลังที่ลงทะเบียนเป็นโฮมสเตย์ต้องผ่านการอบรมหลักสูตรการดำเนินกิจการโฮมสเตย์ เป็นต้น
2.การคัดเลือก 10 โฮมสเตย์ดีเด่น เพื่อพัฒนายกระดับคุณภาพการบริการให้เข้าสู่มาตรฐานโฮมสเตย์ของอาเซียน ได้แก่ บางน้ำผึ้งโฮมสเตย์ (จังหวัดสมุทรปราการ) ประแสโฮมสเตย์ (จังหวัดระยอง) ฯลฯ ซึ่งกรมการท่องเที่ยวจะพาผู้แทนโฮมสเตย์ทั้ง 10 แห่ง ไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับการบริหารจัดการโฮมสเตย์ และการพัฒนาสินค้า OTOP ที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำเป็นแนวทางในการพัฒนามาตรฐานโฮมสเตย์ของไทย ให้มีคุณภาพสูงและสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยว
3.การประกวด "ภาพแห่งความประทับใจ ในมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย” เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไป ส่งภาพถ่ายโฮมสเตย์ที่ได้รับรองมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย จำนวน 138 แห่ง ทั่วประเทศ พร้อมบรรยายความประทับใจในการถ่ายภาพ เพื่อชิงรางวัลมูลค่า 150,000 บาท
4.การจัดพิธีมอบเครื่องหมายรับรองมาตรฐานโฮมสเตย์ ประจำปี พ.ศ. 2555 ซึ่งมีโฮมสเตย์ที่ผ่านการตรวจประเมิน และได้รับการรับรองมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย จำนวน 53 แห่ง จาก 32 จังหวัดทั่วประเทศ โดยท่านนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี นายยุคล ลิ้มแหลมทอง เป็นประธานในพิธีมอบเครื่องหมายการรับรองมาตรฐานโฮมสเตย์ไทยในครั้งนี้
5.การประชาสัมพันธ์เผยแพร่โฮมสเตย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานโฮมสเตย์ไทยของกรมการท่องเที่ยวให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างประเทศโดยการจัดทำไดเร็คทอรี่ และเผยแพร่ผ่าน www.homestaythai.net
ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาบริการท่องเที่ยว กล่าวต่อว่า สิ่งแรกที่ต้องเร่งดำเนินการ ในการพัฒนามาตรฐานโฮมสเตย์คือ การให้ความรู้กับผู้นำชุมชน/วิสาหกิจชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับ มาตรฐานโฮมสเตย์อาเซียน ที่กำหนดภายใต้แผนกลยุทธ์ด้านการท่องเที่ยวของอาเซียน ค.ศ.2011 - 2015 ว่าประกอบด้วยเกณฑ์อะไรบ้าง อาทิ เจ้าของบ้าน ที่พัก กิจกรรมที่จัดโดยชุมชน ฯลฯ จะต้องมีคุณสมบัติหรือลักษณะอย่างไร เพื่อให้ผู้ประกอบการได้พัฒนาให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ พร้อมทั้งจัดฝึกอบรมเจ้าของบ้านที่เป็นสมาชิกโฮมสเตย์ ในหลักสูตรการฝึกอบรม “โฮมสเตย์อาเซียน” ตามที่กำหนดไว้
“หากโฮมสเตย์ของไทยได้มีการพัฒนามาตรฐานตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ มั่นใจได้ว่าประเทศไทยจะสามารถแข่งขันกับในอาเซียนได้แน่นอน เพราะไทยได้เปรียบในหลายๆด้าน อาทิ สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ที่มีความสวยงามและหลากหลายกว่า และสิ่งสำคัญคือ ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นสยามเมืองยิ้มคนไทยมีอัธยาศัยไมตรี ที่ดีงาม เป็นกันเอง และให้การบริการที่ประทับใจมากกว่า จนเป็นประทับของนักท่องเที่ยวทั่วโลก” นางนิรมล กล่าวในที่สุด
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
081 753-5350 / 085 020-2056