โพลล์เผยพฤติกรรมการใช้คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตของวัยรุ่น

ข่าวทั่วไป Friday June 28, 2013 11:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 มิ.ย.--วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ศ. ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการและดร.กุลธิดา เสาวภาคย์พงศ์ชัย กรรมการรองผู้อำนวยการ สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ แถลงผลการสำรวจแถลงผลการสำรวจพฤติกรรมการใช้คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตของเยาวชนไทยในเขตกรุงเทพมหานคร ว่า สืบเนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งซึ่งมีการสนับสนุนจากภาครัฐให้เยาวชนเข้าถึงเทคโนโลยี โดยเฉพาะเมื่อประมาณ 3-4 ปีที่ผ่านมานี้ ผู้นำรัฐบาลใส่ความเทคโนโลยีไว้ในคำขวัญวันเด็กติดต่อกัน ประกอบกับประสิทธิภาพของคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต ที่มีส่วนผสมของคอมพิวเตอร์กับโทรศัพท์เคลื่อนที่มาไว้ด้วยกัน มีการคาดกันว่าอุปกรณ์เทคโนโลยี แท็บเล็ตมีมากกว่า 250 เครื่องทั่วโลก และเยาวชนไทยร้อยละ 8 มีคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต เป็นของตนเอง สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (ระดับอุดมศึกษา) ทำการสำรวจกลุ่มเยาวชนไทย ในกรุงเทพมหานคร อายุระหว่าง 15-25 ปี ระดับการศึกษาภาคบังคับถึงระดับสูงปริญญาตรี จำนวน 1,034 คนโดยวิธีการสุ่มแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive Sampling) ในระหว่างวันที่ 21-26มิถุนายน 2556 พบว่ากลุ่มตัวอย่าง ส่วนใหญ่หรือร้อยละ74.32 ใช้คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตเพื่อค้นหาสินค้า บริการ สถานที่ ต่าง ๆ ร้อยละ 71.22 ใช้คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตเพื่อเล่นเกม กลุ่มเยาวชนส่วนใหญ่ยังใช้เวลากับคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ตเฉลี่ยวันละ 1-3 ชั่วโมง เยาวชนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 87.4ระบุต่อว่าใช้คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตในช่วงเวลาว่าง ส่วนความคิดเห็นต่อผลกระทบจากการใช้คอมพิวเตอร์แท็บเล็ต กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ระบุว่า การใช้คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตของตนในปัจจุบันส่งผลให้ความใกล้ชิดระหว่างตนกับบุคคลในครอบครัวและการพบปะเพื่อนๆ นอกเหนือจากเวลาเรียนหรือเวลาทำงานยังคงเป็นปกติ โดยคิดเป็นร้อยละ 46.8 และ 48.26 ตามลำดับ แต่กลุ่มตัวอย่างที่ยอมรับว่ามีความใกล้ชิดกับบุคคลในครอบครัวลดลงและมีการพบปะเพื่อนๆ ลดลงนั้น มีจำนวนมากกว่ากลุ่มตัวอย่างที่ระบุว่ามีความใกล้ชิดกับบุคลในครอบครัวมากขึ้นและมีการพบปะเพื่อนๆ มากขึ้น อยู่เล็กน้อย นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ยอมรับว่าการใช้คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตของตนในปัจจุบันส่งผลให้ทำกิจกรรมทั่วไป เช่น การรับประทานอาหาร การพักผ่อน การนอน การขับรถ ได้ช้าลง โดยคิดเป็นร้อยละ 42.44 ขณะที่มีเพียงร้อยละ 11.43 ระบุว่าสามารถทำกิจกรรมทั่วไปได้เร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ระบุว่าการใช้คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตในปัจจุบันไม่ส่งผลต่อความเครียดของตนเอง โดยคิดเป็นร้อยละ 35.37 และมีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 28.88 ระบุว่ามีความเครียดลดลง ระดับการศึกษาของกลุ่มตัวอย่างที่ทำการสำรวจ ส่วนใหญ่จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าซึ่งคิดเป็นร้อยละ 33.24 รองลงมา คือกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 28.68 จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่า ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 21.12 จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นหรือต่ำกว่า และ กลุ่มตัวอย่างที่เหลืออีกร้อยละ 16.96 จบการศึกษาในระดับอนุปริญญาหรือประกาศนียบัตรชั้นสูง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ