กรุงเทพฯ--1 ก.ค.--NECTEC
สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดงานแสดงความยินดีกับคณะนักเรียนไทยที่เข้าร่วมการแข่งขันในมหกรรมการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับโลกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ๒ เวทีการแข่งขัน ประกอบด้วยเวที Intel International Science and Engineering Fair (Intel ISEF2013) ครั้งที่ ๖๖ และ International Sustainable World (Energy, Engineering, and Environment) Project Olympiad (I-SWEEEP 2013) ครั้งที่ ๖ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา
ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า “บูรณาการ จินตนาการ คิดสร้างสรรค์ คิดนอกกรอบ” คือความคาดหวังที่มีต่อเยาวชนในอนาคต ในการนำพาประเทศสู่การแข่งขันไม่ว่าลงในระดับอาเซียนหรือในระดับนานาชาติ ซึ่งนับวันจะยิ่งมีความเข้มข้นมากขึ้น คุณลักษณะข้างต้นจะเกิดขึ้นได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกระบวนการที่ให้ลงมือทำจริง ปฏิบัติจริง และได้รับการฝึกฝน ไม่ใช่เกิดจากการท่อง การจำและการนั่งฟังการบรรยายในชั้นเรียน ซึ่งนั่นคือแนวทางการจัดส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ ของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ ที่เป็นกิจกรรมนอกชั้นเรียนที่มุ่งให้นักเรียนได้ฝึกการทำงานเป็นทีมในการแก้ปัญหาจริงที่ต้อง บูรณาการทั้งวิชาเคมี ชีววิทยา ฟิสิกส์ และคณิตศาสตร์ เข้ากับประสบการณ์ชีวิตต่างๆ ทั้งนี้ การแก้ปัญหาต้องทำเป็นระบบ ตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ คือเมื่อมีโจทย์ ต้องวิเคราะห์สาเหตุ แล้วจึงตั้งสมมติฐาน จากนั้นก็ออกแบบการทดลอง และหาข้อสรุป ซึ่งผมเชื่อว่าการฝึกการทำงานจริงอย่างเป็นระบบผ่าน การทำโครงงานวิทยาศาสตร์ เป็นกิจกรรมนอกหลักสูตรที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างเยาวชนให้คิดเป็นทำเป็น เพื่อเป็นเยาวชนที่มีคุณภาพของชาติและของประชาคมโลก ผลงานของนักเรียนที่ไปแข่งขันมานี้เป็นการแสดงศักยภาพของเยาวชนไทย ซึ่งสมาคมฯ ขอแสดงความชื่นชมและจะให้ความสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง”
ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค กล่าวแสดงความยินดีกับทีมเยาวชนที่เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ พร้อมแนะให้นำประสบการณ์ ความรู้ใหม่ๆ ที่ได้รับจากการเดินทางไปแข่งขันมาใช้ปรับปรุงผลงานเพื่อต่อยอด หรือสร้างสรรค์นวัตกรรมต่อไป เน้นส่งเสริมและสนับสนุนความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเยาวชนไทยอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายในการสนับสนุนให้มีการพัฒนาบุคลากรของประเทศให้มีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะโครงการที่เสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศอย่างยั่งยืนโดยมีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญ พร้อมกับเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนได้มีโอกาสเรียนรู้ตลอดชีวิตและเข้าถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดให้มีการแสดงศักยภาพของเยาวชนไทยกับผลงานพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนนำเสนอผลงานความคิดสร้างสรรค์ เพื่อเป็นกำลังสำคัญที่จะนำประเทศชาติไปสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ หรือ Creative Economy ด้วยการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภายใต้แผนบูรณาการยุทธศาสตร์ประเทศหรือCountry Strategyสอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ระบบเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต
นายเอกรัศมิ์ อวยสินประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “อินเทลมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) หรือ STEM Education ของเยาวชนไทยมาอย่างต่อเนื่องนับสิบปี เนื่องจากเราเชื่อมั่นว่ากลุ่มวิชา STEM เป็นวิชาพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อการคิดค้นนวัตกรรมต่างๆ เพื่อความก้าวหน้าและการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมต่อไป ในปีนี้เรามีโอกาสอีกครั้งหนึ่งที่ได้แสดงความยินดีและภาคภูมิใจกับความสำเร็จของเยาวชนไทยที่สามารถคว้ารางวัลจากงาน อินเทล ไอเซฟ ซึ่งเป็นเวทีการแข่งขันระดับโลกที่มีนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์กว่า 1,600 คน จากนานาประเทศทั่วโลกมารวมตัวกัน เพื่อฝึกฝนการใช้ทักษะด้านต่างๆ ในการคิดค้นนวัตกรรมที่สามารถนำไปต่อยอดเพื่อการแก้ไขปัญหาในชีวิตจริง นอกจากนี้ ประสบการณ์ที่ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้รับจากการแข่งขันครั้งนี้ ยังจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพด้านการศึกษาและการแข่งขันระดับนานาชาติของเยาวชนไทยต่อไปอีกด้วย”
สำหรับตัวแทนเยาวชนไทยที่เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ ได้สรรหาจาก “การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร?ประจําปีพ.ศ. ๒๕๕๕” โดย สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และ “การประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ครั้งที่ ๑๕ (The Fifteenth Young Scientist Competition: YSC 2013)” โดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค เพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมในการแข่งขันงาน Intel International Science and Engineering Fair (Intel ISEF) ณ เมืองฟีนิกส์ มลรัฐแอริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ ๑๒ — ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ซึ่งตัวแทนเยาวชนไทยที่เข้าร่วมการแข่งขันสามารถคว้ารางวัลถึง ๓ ทีม ได้แก่
๑. โครงงานการศึกษาประสิทธิภาพของดินฟอกสีที่ใช้แล้วจากกระบวนการฟอกสีน้ำมันปาล์มในการดูดซับโลหะทองแดง (Removal of Copper from Aqueous Solutions through Spent Bleaching Earth)
โดย นางสาวอภิษฎา จุลกทัพพะ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม นางสาวอุษา จีนเจนกิจ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ได้รับรางวัล Grand Award อันดับที่ ๓ ในสาขาการจัดการสิ่งแวดล้อม
๒. โครงงาน การศึกษาผลของ ความชื้นสัมพัทธ์ ขนาดของแรง และ จำนวนเส้นขนสัมผัสต่อการหุบใบของต้นกาบหอยแครงชนิด Dionaea muscipula เพื่อใช้ประยุกต์สร้างและพัฒนานวัตกรรมมือกล VFT 1852 (Factors Affecting the Response of Venus Flytrap)
โดย นายสหกฤษณ์ ธนิกวงศ์ นายณัฐนนท์ พงษ์ดี และนายพรภวิษย์ เจนจิรวงศ์ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร นายชนันท์ เกียรติสิริสาสน์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ได้รับรางวัล Grand Award อันดับที่ ๔ ในสาขาวิทยาศาสตร์พืช
๓. โครงงาน การพัฒนาชุดทดลองเครื่องยนต์สเตอร์ลิงแบบแกมมา ด้วยวิธีรับความร้อนจากรอบทิศทาง ของแหล่งกำเนิดความร้อนเข้าสู่เครื่องยนต์โดยตรง (Stirling engine utilizing biogas as fuel)
โดย นายสวิตต์ คงเดชาเลิศ นายภควัฒน์ ภาณุวัฒน์สุข และ นายธวัชวงศ์ ตัณชวนิชย์ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพมหานคร นายนิพนธ์ ศรีนฤมล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ได้รับรางวัล Grand Award อันดับที่ ๔ ในสาขาการจัดการสิ่งแวดล้อม
สำหรับการแข่งขันInternational Sustainable World (Energy, Engineering & Environment) Project Olympiad (I-SWEEEP) ณ เมืองฮูสตัน มลรัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ ๘ — ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ซึ่งได้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ ๖ เน้นการประกวดโครงงานใน ๓ สาขาหลัก คือ พลังงาน วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม มีประเทศเข้าร่วมจำนวน ๖๘ ประเทศ ๓๙๓ โครงงาน โดยมีทีมจากประเทศไทยได้รับรางวัล ดังนี้
๑. โครงงาน การดูดซับแคดเมียม (II) ไอออนจากสารละลายโดยใช้ถ่านกัมมันต์ที่ผลิตจากผักตบชวา (Cadmium (II) Ion Removal from Aqueous Solution by Activated Carbon Made from Water Hyacinth)
โดย นายวจนะ ทวีรัตน์ และ นายนพรัตน์ สกลสนธิเศรษฐ์ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม นายสาโรจน์ บุญเส็ง เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ได้รับรางวัลเหรียญเงิน ในสาขาสิ่งแวดล้อม
๒. โครงงาน มหัศจรรย์ของถ่านลิกไนต์คุณภาพต่ำ (ลีโอนาไดต์) กับการปรับปรุงคุณภาพน้ำเสีย (The Magic of Leonardite: the Absorbent Agent to Clean Wastewater)
โดย นายปัฐพงศ์ ไชยแสนวัง และ นายวิชญะ สิทธิรักษ์ โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย จ.ลำปาง นางสาวรัชนก สุวรรณจักร์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ได้รับรางวัลเหรียญทองแดง ในสาขาสิ่งแวดล้อม
๓. โครงงาน การพัฒนาชุดทดลองเครื่องยนต์สเตอร์ลิงแบบแกมมา ด้วยวิธีรับความร้อนจากรอบทิศทาง ของแหล่งกำเนิดความร้อนเข้าสู่เครื่องยนต์โดยตรง (Stirling engine utilizing biogas as fuel)
โดย นายสวิตต์ คงเดชาเลิศ นายภควัฒน์ ภาณุวัฒน์สุข และ นายธวัชวงศ์ ตัณชวนิชย์ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพมหานคร นายนิพนธ์ ศรีนฤมล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ได้รับรางวัลเหรียญทองแดง ในสาขาพลังงาน
๔. โครงงาน การผลิตก๊าซชีวภาพจากถังหมักสิ่งปฏิกูลเพื่อชุมชน (Biogas from Waste Tanks: Sustainable Energy for Community)
โดย นายพันธกานต์ เผ่าทหาร นางสาวปนัดดา วงค์แก่นจันทร์ นายธีรพัฒน์ อุตมะ และ นางสาวบุณยานุช สุวรรณสิทธิ์ โรงเรียนสันทรายวิทยาคม จ.เชียงใหม่ นางวนิดา กิติลือ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ได้รับรางวัลชมเชย ในสาขาพลังงาน
(โครงงานนี้ ได้รางวัลชนะเลิศจากโครงการ PTT Youth Camp 2012 และเข้าร่วมการแข่งขัน I-SWEEEP โดยความร่วมมือระหว่างเนคเทคและปตท.)
ติดต่อ:
นัทธ์หทัย ทองนะ (เน)
เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ NECTEC
โทร 02 564 6900 ต่อ 2338
อีเมล์ nuthatai.thongna@nectec.or.th