สถานการณ์ราคาน้ำมันประจำสัปดาห์ที่ 24 - 28 มิ.ย. 2556 และแนวโน้มในสัปดาห์ที่ 1 - 5 ก.ค. 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 1, 2013 14:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ก.ค.--ปตท. ฝ่ายกลยุทธ์และแผนธุรกิจ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สรุปราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 2.32 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 101.81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 0.73 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 95.92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 3.01 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 99.07 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 2.67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 116.32 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซล ลดลง 1.81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 119.45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่ ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ - นักวิเคราะห์ 44% จาก Bloomberg Survey คาดธนาคารกลางสหรัฐฯ จะลดปริมาณการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเหลือ 6.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือนในเดือน ก.ย. 56 จากเดิม 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน และคาดว่าจะหยุดมาตรการดังกล่าวในเดือน มิ.ย. 57 - บริษัท Enbridge Energy Partners รายงานท่อขนส่งน้ำมัน Ozark (215,000 บาร์เรลต่อวัน) กลับมาดำเนินการได้ประมาณ 91,000 บาร์เรลต่อวัน โดยท่อดังกล่าวขนส่งน้ำมันจาก Cushing, Oklahoma มายังที่ Wood River, Illinois ความยาว 435 ไมล์ (700 กม.) และปิดซ่อมบำรุงตั้งแต่วันที่ 14 มิ.ย. 56 หลังพบรอยรั่ว - Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 มิ.ย. 56 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 18,000 บาร์เรล จากสัปดาห์ที่แล้วอยู่ที่ระดับ 394.1 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลง 1.7 ล้านบาร์เรล - กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ปรับลดอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 เติบโตอยู่ที่ 1.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ต่ำกว่าคาดการณ์ครั้งก่อนที่ 2.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก - Reuters รายงานแหล่งผลิตน้ำมันดิบ Buzzard (200,000 บาร์เรลต่อวัน) ในทะเลเหนือและเป็นแหล่งผลิตที่ใหญ่ที่สุดของอังกฤษประสบปัญหาทางเทคนิค ส่งผลให้การผลิตลดลงอยู่ที่ระดับ 170,000 บาร์เรลต่อวัน ในช่วงปลายสัปดาห์ อย่างไรก็ตามคาดว่าจะสามารถกลับมาผลิตในระดับปกติในช่วงปลายสัปดาห์นี้ - กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานยอดผู้รับขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 22 มิ.ย. 56 ลดลง 9,000 ราย จากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 346,000 ราย - กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานยอดใช้จ่ายผู้บริโภค (Consumer Spending) ในเดือน พ.ค. 56 เพิ่มขึ้น 0.3% จากเดือนก่อนหน้า เพิ่มขึ้นสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ - กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานยอดขายสินค้าคงทน (Durable Goods) เดือน พ.ค. 56 เพิ่มขึ้น 3.6% จากเดือนก่อนหน้า สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่ม 3% แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจโลกยังอ่อนตัว กอปรกับเงินหมุนเวียนในตลาดน้ำมันลดลง โดย HSBC/Markit รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของจีน (HSBC/Markit Chinese Purchasing Managers’ Index) เดือน มิ.ย. 56 ลดลง 1 จุด จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 48.2 จุด ต่ำสุดในรอบ 9 เดือน ทั้งนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานกลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับลดสถานะสัญญาซื้อสุทธิ (Net Long Position) น้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดที่ 25 มิ.ย. 56 ลดลง 42,648 สัญญา อยู่ที่ 269,017 สัญญา ลดลงแรงที่สุดตั้งแต่เดือน ก.พ. 56 นอกจากนี้ความวิตกของตลาดเกี่ยวกับการลดปริมาณเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลยังมีอยู่หลังจากนาย Jeremy Stein ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯออกมากล่าวว่าเดือน ก.ย. 56 เป็นเวลาเหมาะสมในการพิจารณาลดปริมาณเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล โดยดูพัฒนาการของสภาพเศรษฐกิจโดยรวม และไม่อ่อนไหวกับตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดจนเกินไป อย่างไรก็ตาม Bloomberg รายงานคาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มประเทศ OPEC รวม 12 ประเทศ เดือน มิ.ย. 56 ลดลง 227,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 30.69 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์เพิ่มความร้อนแรง หลังชาวอียิปต์กว่าล้านคนรวมตัวกันชุมนุมในกรุงไคโรเรียกร้องให้ นายมูฮัมหมัด มอร์ซี ออกจากตำแหน่งเพราะไม่พอใจในการใช้อำนาจตนเองเหนือกฎหมาย และเป็นช่วงเวลาครบรอบ 1 ปี ของการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ทั้งนี้เกิดเหตุปะทะระหว่างกลุ่มสนับสนุนรัฐบาลกับกลุ่มผู้ประท้วงส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 24 คน และเสียชีวิต 4 ราย ในสัปดาห์นี้น้ำมันดิบ Brent มีแนวรับแนวต้านทางเทคนิคที่ 100 - 106.67 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล น้ำมันดิบ WTI มีแนวรับแนวต้านทางเทคนิคที่ 92.18 - 98.59 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ Dubai มีแนวรับแนวต้านทางเทคนิคที่ 96.34 — 103.01 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน ราคาน้ำมันเบนซินในสัปดาห์ก่อนหน้าปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบ อย่างไรก็ตามอินโดนีเซียมีแผนนำเข้าน้ำมันเบนซินออกเทน 88 กว่า 10 ล้านบาร์เรลในช่วงเดือน ก.ค. 56 เพื่อรองรับต่อความต้องการหลังสิ้นสุดเทศกาลถือศีลอดในช่วงเดือน ส.ค. 56 อีกทั้งปริมาณส่งออกน้ำมันเบนซินจากบริษัท CPC ของไต้หวันจะลดลงเนื่องจากบริษัทจะปิดซ่อมบำรุงหน่วย Fluid Catalytic Cracking (FCC) ปริมาณ 80,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งใช้ในการผลิตน้ำมันเบนซิน เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ ส่งผลให้อุปทานในภูมิภาคลดลง ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันออกเทน 95 จะแกว่งตัวอยู่ในช่วง 112.97 — 119.64 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล ราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบ แต่ความต้องการในภูมิภาคยังคงแข็งแกร่งจาก ซาอุดีอาระเบีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ส่งผลให้ปริมาณสำรองน้ำมันประเภท Middle Distillates ในสิงคโปร์สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 มิ.ย. 56 ปรับตัวลดลงประมาณ 9.5% จากสัปดาห์ก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 8.45 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบปี ประกอบกับญี่ปุ่นมีแนวโน้มส่งออกน้ำมันดีเซลลดลง ภายหลังลดปริมาณส่งออกติดต่อกันใน 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากโรงกลั่นในประเทศกำลังหันไปผลิต Kerosene เพื่อเก็บสำรองในประเทศ ในสัปดาห์นี้น้ำมันดีเซลจะแกว่งตัวอยู่ในช่วง 116.27 — 122.94 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ