กรุงเทพฯ--1 ก.ค.--
วุฒิสภา เปิดตัวโครงการเฉลิมพระเกียรติปกป้องสิทธิผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากจน และคนยากไร้ สู่พลเมืองอาเซียน ตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรม (DNA) ให้แก่ผู้ยากไร้ ครั้งที่ 1จัดตรวจพันธุกรรม(DNA) ประกอบหลักฐานการขอสัญชาติไทยชุดแรก ให้ชาว กทม. 44 คน ก่อนเปิดตรวจ 4 ภาคทั่วประเทศ เชิญ“แพนเค้ก” เป็นพรีเซ็นเตอร์ ประชาสัมพันธ์โครงการฯ
เมื่อวันอังคารที่ 25 มิถุนายน 2556 เวลา 09.00 นาฬิกา นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เป็นประธานเปิดโครงการเฉลิมพระเกียรติปกป้องสิทธิผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากจน และคนยากไร้สู่พลเมืองอาเซียน (KICK OFF DAY) ที่บริเวณห้องโถง ชั้น 1 อาคารรัฐสภา 1 โครงการดังกล่าวจัดขึ้นจากความร่วมมือของคณะกรรมการโครงการเฉลิมพระเกียรติปกป้องสิทธิผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากจน และคนยากไร้สู่พลเมืองอาเซียน ร่วมกับคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส และคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา และกระทรวงมหาดไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมให้แก่ชาวกรุงเทพมหานคร เพื่อใช้เป็นหลักฐานยืนยันสถานภาพบุคคลในการขอเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎร อันจะเป็น “การให้ชีวิตกับคนไทยแก่คนไทย” ให้ได้มีสิทธิตามกฎหมายที่พึงมีอย่างสมบูรณ์
นายอโณทัย ฤทธิปัญญาวงศ์ สมาชิกวุฒิสภาและประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา ในฐานะประธานโครงการฯ พร้อมด้วย นายสถาพร ศิริภักดี รองอธิบดีกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ตลอดจนผู้แทนหน่วยงานภาคีเครือข่าย เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นต้น ร่วมเปิดงาน “KICK OFF DAY” เพื่อให้สัญชาติคนไทยอย่างเป็นทางการภายใต้โครงการฯดังกล่าว นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจาก น.ส.เขมนิจ จามิกรณ์ หรือแพนเค้ก ดารานักแสดง ให้เกียรติร่วมเป็นพรีเซ็นเตอร์ ประชาสัมพันธ์โครงการฯ พร้อมทั้งให้กำลังใจผู้ตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรม (DNA)และ น.ส.ไอริณ ดำรงค์มงคลกุล ทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการในงาน ภายในงานมีการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรม (DNA) ให้แก่ผู้ยากไร้ ครั้งที่ 1 โดยมีกลุ่มเป้าหมายจำนวน 44 คน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ก่อนที่จะสัญจรไปยัง 4 ภูมิภาคทั่วประเทศต่อไป โดยกระบวนการดังกล่าวจะนำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการรับรองสถานะทางทะเบียนของคนไทยจำนวนหนึ่งที่ยังไม่มีสถานะทางทะเบียน ทั้งนี้ได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.บุษบา ฤกษ์อำนวยโชค จากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นผู้ให้คำแนะนำและบรรยายให้ความรู้ตลอดงาน และมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาให้บริการตรวจ โดยมีขั้นตอนการตรวจ ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน ได้แก่ 1. ตรวจสอบเอกสาร 2. ถ่ายรูปทำประวัติ 3. จัดเก็บเนื้อเยื่อตัวอย่าง
ด้านนายอโณทัย ฤทธิปัญญาวงศ์ ประธานคณะกรรมการโครงการเฉลิมพระเกียรติปกป้องสิทธิผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากจน และคนยากไร้สู่พลเมืองอาเซียน กล่าวว่า จากการที่คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็กฯ และคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนฯ ได้เล็งเห็นว่ารัฐธรรมนูญฯ ฉบับปัจจุบัน ได้บัญญัติรับรองเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของคนไทยว่าย่อมได้รับความคุ้มครองโดยชอบ และการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรม หรือการตรวจดีเอ็นเอ (DNA) ถือเป็นวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถใช้ยืนยันตัวบุคคล หรือความสัมพันธ์ทางสายโลหิตได้อย่างแม่นยำและมีความน่าเชื่อถือสูง จึงถูกนำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการรับรองสถานะทางทะเบียนของคนไทย แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่ายังคงมีคนไทยจำนวนหนึ่งที่ยังไม่มีสถานะทางทะเบียนในระบบทะเบียนราษฎรของกระทรวงมหาดไทย เป็นผลให้ไม่อาจเข้าถึงสิทธิและสถานะทางกฎหมายของความเป็นคนไทยอันเขาพึงควรจะได้รับจากรัฐได้ ประกอบกับในปี พ.ศ. 2558 ประเทศไทยจะเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนร่วมกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอีกรวม 10 ประเทศ หากไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจะทำให้คนไทยกลุ่มนี้ไม่ได้รับการรับรองและปกป้องโดยรัฐสมาชิกของอาเซียน แต่เนื่องจากการขาดความรู้ ความเข้าใจในกระบวนการรับรองสถานะทางทะเบียน รวมถึงปราศจากเอกสารทางราชการ หรือบุคคลที่สามารถมาเป็นพยานเพื่อยืนยันสถานภาพ และบางส่วนมีรายได้น้อยไม่เพียงพอที่จะนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการพิสูจน์สารพันธุกรรม หรือการตรวจดีเอ็นเอ (DNA) ทำให้บุคคลเหล่านั้นไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่าง ๆ ตามบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ จนกลายเป็นบุคคลผู้ยากไร้ มีสถานะไม่ต่างอะไรจากคนต่างด้าว จากปัญหาดังกล่าว ประธานวุฒิสภาได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็น จึงแต่งตั้งคณะกรรมการ“โครงการเฉลิมพระเกียรติปกป้องสิทธิผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากจน และคนยากไร้สู่พลเมืองอาเซียน“ขึ้น เพื่อให้ชีวิตคนไทย ช่วยให้คนไทยเหล่านั้นสามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ ตามบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ สร้างให้เกิดความมั่นคงทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างมีคุณภาพ รวมทั้งเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยได้ตั้งเป้าหมายที่จะช่วยเหลือประชาชนคนไทยที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน จำนวน 2,986 คน เป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวันที่ 12 สิงหาคม2556 และจำนวน 2,982 คน เป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 5 ธันวาคม 2557
นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า ยังมีคนไทยอีกจำนวนมากที่ไม่ได้แจ้งเกิดและไม่สามารถพิสูจน์สัญชาติได้ เนื่องจากไม่สามารถหาบุคคลมายืนยันการเกิดได้ การตรวจพันธุกรรมหรือ DNA จึงเป็นอีกทางหนึ่งที่นำมาเป็นหลักฐานประกอบการรับรองทางทะเบียนราษฎร์ ในการพิสูจน์ขอสัญชาติไทยได้ บุคคลเหล่านี้น่าสงสาร มีฐานะยากจน การช่วยเหลือให้ได้รับสัญชาติไทยอย่างเต็มภาคภูมิ นอกจากช่วยเหลือประเทศชาติและสังคมแล้ว ยังถือเป็นการสร้างกุศลด้วย
ด้าน น.ส.เขมนิจ จามิกรณ์ หรือแพนเค้ก ดารานักแสดง กล่าวว่า โครงการฯนี้เป็นโครงการที่ดี ช่วยให้คนไทยที่ยังไม่มีสัญชาติสามารถพิสูจน์สัญชาติความเป็นคนไทยได้ เมื่อได้รับเชิญมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ช่วยประชาสัมพันธ์ก็ดีใจเป็นอย่างยิ่ง และได้มาให้กำลังใจแก่ผู้ที่มาตรวจพันธุกรรมเพื่อนำไปพิสูจน์สัญชาติด้วย
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ โครงการได้กำหนดแผนการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรม (DNA) ให้แก่ผู้ยากไร้ในอีก 4 ภูมิภาคทั่วประเทศต่อไป โดยกระบวนการดังกล่าวจะนำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการรับรองสถานะทางทะเบียนของคนไทยจำนวนหนึ่งที่ยังไม่มีสถานะทางทะเบียน เพื่อให้บุคคลเหล่านั้นได้เข้าถึงสิทธิและสถานะทางกฎหมายของความเป็นคนไทยต่อไป
สอบถามรายละเอียดโครงการเพิ่มเติมได้ที่
คณะกรรมการโครงการเฉลิมพระเกียรติปกป้องสิทธิผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากจน และคนยากไร้สู่พลเมืองอาเซียน วุฒิสภา
โทรศัพท์ ๐๒-๘๓๑-๙๒๒๕-๖ โทรสาร ๐๒-๘๓๑-๙๒๒๖