ส่อง e-tail แดนมังกร อนาคตค้าปลีกไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 2, 2013 11:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ก.ค.--บลจ.บัวหลวง ทีมงานจัดการกองทุนบัวหลวง โดย กร ดุรงคเวโรจน์ ประเทศไทยในปัจจุบันมีอัตราการเข้าถึงของบรอดแบนด์ (อินเตอร์เนตความเร็วสูง) เพียง 6.59% ของประชากร และ 22.36% ของครัวเรือน ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐและประเทศหลักในยุโรปที่มีการเข้าถึงได้ 70%-80% ส่วนประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย และเวียดนาม เข้าถึงได้ 40% กับ 25% ตามลำดับ แต่หลังจากที่รัฐบาลประกาศผลักดันโครงการ Smart Thailand โดยเฉพาะโครงการ ‘บรอดแบนด์แห่งชาติ’ ซึ่งส่งเสริมการขยายโครงสร้างพื้นฐานของโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไปทั่วประเทศไทย ประชาชนก็จะสามารถเข้าถึงโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงได้ครอบคลุม ทั่วถึง เท่าเทียมกัน ในอัตราไม่ต่ำกว่า 80% ของประชากรในปี พ.ศ.2558 และไม่ต่ำกว่า 95% ภายในปี 2563 หากว่านโยบายประสบความสำเร็จแม้เพียงครึ่งหนึ่งของเป้าหมายที่วางแผนไว้ เราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ซึ่งจะเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจในประเทศกับความเป็นอยู่ของผู้คนไม่น้อย ซึ่งนอกจากการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนแล้ว การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยอินเตอร์เน็ตก็จะเป็นสิ่งที่จะค่อยๆ เข้ามามีบทบาทในระบบเศรษฐกิจกับสังคมไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มาทำความเข้าใจกับคำว่า e-tail กันก่อนครับ e-tail ย่อมาจากคำว่า Retail e-commerce หรือธุรกรรมค้าขายผ่านอินเตอร์เน็ตที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคโดยตรง จำกันง่ายๆ ก็ได้ว่า e-tail คือ การค้าปลีกออนไลน์นั่นเอง ซึ่งผู้ขายอาจเป็นบริษัทหรือรายย่อยก็ได้ ตลาดค้าขายออนไลน์ไม่ใช่ของแปลกใหม่ มูลค่าตลาด e-commerce ในปัจจุบันของประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกาประเทศหลักๆ ในยุโรป เกาหลี ญี่ปุ่น และอินเดีย มีสัดส่วนตั้งแต่ 5%-7.5% ของ GDP ส่วนในประเทศอังกฤษนั้นมีสัดส่วนถึง 13.5% จนได้ชื่อว่าเป็น Internet Economy เลยทีเดียว ตลาดค้าขายออนไลน์อีกประเทศหนึ่งที่หลายคนคงคาดไม่ถึงคือประเทศจีน ในปี 2554 มูลค่าตลาด e-tail ของจีนได้แซงหน้าญี่ปุ่น อังกฤษ และเยอรมนี ไปเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกาไปเรียบร้อย ด้วยยอดขายรวม 1.2 แสนล้านดอลลาร์ มากกว่ามูลค่าตลาดค้าปลีกค้าส่งของไทยในปัจจุบันรวมกันที่มีขนาดประมาณ 8 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปีเสียอีก และในปี 2555 ที่ผ่านมานี้ ตลาด e-tail ของจีนได้ขยายตัวเพิ่มจากปีก่อนหน้าถึง 60% ด้วยมูลค่ายอดขายจำนวนมหาศาล กว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ จากบทวิเคราะห์เรื่อง China’s e-tail revolution: Online shopping as a catalyst for growth นั้น Mckinsey คาดการณ์ว่า การเติบโตอย่างรวดเร็วของชนชั้นกลางในจีนจะทำให้ยอดขายตลาด e-tail ในจีนขยายตัวไปแตะระดับ 4.2-6.5 แสนล้านเหรียญต่อปีภายในปี 2563 เลยทีเดียว ในฐานะผู้ลงทุนที่แสวงหากิจการที่จะให้ผลตอบแทนดีๆ ในอนาคตมาลงทุน เราสามารถใช้จีนเป็นต้นแบบในการคาดการณ์ตลาด e-tail ในอนาคต และใช้เป็นต้นแบบเพื่อวิเคราะห์คาดการณ์ผลกระทบของ e-tail ต่อเศรษฐกิจกับสังคมไทยได้เป็นอย่างดี เนื่องจากจีนและไทยมีคุณสมบัติหลายอย่างคล้ายๆ กัน เช่น อินเตอร์เน็ตยังเข้าถึงประชากรน้อย ความเจริญกระจุกตัวอยู่เฉพาะในเมืองใหญ่ๆ และการขนส่งในประเทศยังคงล้าหลัง เป็นต้น ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าการเติบโตของตลาด e-tail มีรากฐานสำคัญที่สุดอยู่ที่ การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงของประชากรในประเทศนั้นๆ ซึ่งไม่นับการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตโดยอุปกรณ์พกพา เนื่องจากยอดการซื้อขายยังเป็นสัดส่วนที่น้อยอยู่ จีนเป็นประเทศที่มีประชากรออนไลน์มากที่สุดในโลก เพราะในปี 2555 มียอดลงทะเบียนผู้ใช้บรอดแบนด์ถึงกว่า 160 ล้านคน มากกว่าสหรัฐเกือบเท่าตัว และที่น่าสนใจคือการเติบโตของ e-tail มีบทบาทในระบบเศรษฐกิจและสังคมจีนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปัจจุบันมียอดขายออนไลน์คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 6% ของยอดค้าปลีกโดยรวมในจีน ซึ่งมากกว่าสหรัฐอเมริกาที่เป็น 5% อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศจีนจะมียอดผู้ใช้บรอดแบนด์จำนวนมาก แต่เมื่อนำไปเทียบเป็นสัดส่วนต่อจำนวนประชากรจีนทั้งประเทศก็พบว่า การเข้าถึงบรอดแบนด์ของประชากรในจีนยังต่ำกว่า 10% คือยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น หากอินเตอร์เน็ตขยายครอบคลุมพื้นที่ได้มากขึ้นเท่าไร ประชาชนก็จะมีโอกาสได้เข้าถึงและมีโอกาสเลือกสินค้าและบริการได้หลากหลายขึ้นเท่านั้น ซึ่งพัฒนาการนี้จะเป็นตัวแปรที่สำคัญในการกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ในประเทศจีนนั้น e-tail ก่อให้เกิดการใช้จ่ายเพิ่มเติมจากการใช้จ่ายปกติ โดยเห็นผลในเมืองชนบทมากกว่าในเมืองหลักเสียอีก เนื่องจากอินเตอร์เน็ตทำให้ชาวบ้านจำนวนมากในเมืองที่ห่างไกลความเจริญสามารถเข้าถึงและสั่งซื้อสินค้าหลายๆ อย่างได้เป็นครั้งแรกนั่นเอง ประเด็นที่น่าสนใจก็คือในช่วงการเติบโตของเศรษฐกิจออนไลน์ ตลาด e-tail ที่ขยายตัวนั้นไม่ได้ทดแทนช่องทางการจำหน่ายของตลาดค้าปลีกแบบดั้งเดิม แต่การชอปปิ้งออนไลน์เป็นการบริโภคที่เพิ่มขึ้นจากการช็อปปิ้งแบบออฟไลน์ อีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือ รูปแบบของการขายสินค้า ธุรกิจ e-tail ของจีนกว่า 90% มาจากตลาดนัดออนไลน์ (Online Marketplace) เช่น Taobao, Tmall หรือ Paipai ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่เปิดให้ผู้ขายทั้งรายย่อย SME และแบรนด์ต่างๆ มาลงขายสินค้า แตกต่างกับประเทศตะวันตกซึ่งยอดขายส่วนมากมาจากเวบไซต์ของธุรกิจหรือแบรนด์โดยตรง ซึ่งแสดงว่าธุรกิจ SME มีบทบาทสูงมากในการขยายตัวของเศรษฐกิจออนไลน์จีน โดย 70% ของตลาด e-tail ในจีนเป็นการขายจากรายย่อยซึ่งแตกต่างจากประเทศพัฒนาแล้วที่ยอดขายส่วนใหญ่มาจากบริษัทใหญ่ e-tail ในจีนได้เริ่มส่งผลกระทบเป็นระลอกคลื่นด้วยการเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจในประเทศ เริ่มจากการที่ e-tail เป็นแพลตฟอร์มในการเริ่มต้นธุรกิจหรือการขยายกิจการของเหล่าบรรดาเจ้าของกิจการขนาดเล็กถึงขนาดกลางที่สะดวกรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ทำให้ธุรกิจ SME เหล่านี้ได้ประโยชน์มากเนื่องจากสามารถสร้างสรรค์สินค้าและปล่อยออกสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว ทั่วถึง โดยไม่ต้องคำนึงถึงข้อจำกัดของร้านค้าแบบดั้งเดิม เช่น เรื่องค่าเช่าพื้นที่หน้าร้าน ทำเลที่ตั้ง และการสต๊อกสินค้า เป็นต้น กระตุ้นให้เกิดธุรกิจ SME ที่มีคุณภาพจำนวนมาก สรุป แม้ e-tail จะเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในเศรษฐกิจยุคอินเตอร์เน็ต แต่ก็เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ และเศรษฐกิจอินเตอร์เน็ตกำลังเดินทางมาถึงยุคที่กำลังจะเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางในประเทศตลาดเกิดใหม่หลายๆ แห่ง และจะกลายเป็นส่วนสำคัญของ GDP ของประเทศในอนาคตอันใกล้ ในประเทศไทย เราได้เห็นหลายองค์กรและธุรกิจได้เปิดช่องทางการขายออนไลน์กันมาแล้ว เช่น CPALL มีเวบ 7-Catalog Online ซึ่งจัดสินค้าต่างๆ ในเครือ 7-11 จัดส่งฟรีทั่วประเทศ ออฟฟิสเมท ก็เปิดเวบไซต์ TrendyDay.com เพื่อขายสินค้าหลากหลายประเภท ส่วน เซ็นทรัล ก็เปิดเว็บ Central.co.th ให้เป็นออนไลน์ช็อปปิ้งมอลล์ ในขณะที่ BJC ก็มีเวบ The Prestige Online Plaza ไว้ขายอุปกรณ์ไอทีและของจิปาถะ เป็นต้น ธุรกิจออนไลน์ในไทยเหล่านี้แม้จะสร้างยอดขายให้กับบริษัทแม่ได้น้อยนิดในปัจจุบันจนเรายังไม่เห็นการลงทุนพัฒนาช่องทางนี้อย่างจริงจากผู้ประกอบการ แต่นโยบายการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงของรัฐบาลจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของอุตสาหกรรมธุรกิจออนไลน์ เนื่องจากจะเพิ่มจำนวนผู้บริโภคออนไลน์ในประเทศไทยขึ้นอีกหลายเท่าตัวในไม่กี่ปีข้างหน้านี้ จึงเป็นโอกาสทองสำหรับทุกธุรกิจ ดังนั้น บริษัทที่สามารถปักฐานจับจองพื้นที่ในตลาด e-tail ได้เร็ว สามารถคาดการณ์พฤติกรรมผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายในไทยได้ถูกต้อง และปรับตัวให้เอื้ออำนวยต่อเศรษฐกิจออนไลน์ไทยในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ย่อมจะได้เปรียบบริษัทคู่แข่งอื่นๆ ในตลาดได้อย่างมากและแน่นอน Disclaimer: ข้อมูลในเอกสารนี้ รวบรวมจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ ทั้งนี้ บลจ.บัวหลวง ไม่สามารถยืนยันหรือรับรองความถูกต้องของข้อมูลดังกล่าว และไม่ว่ากรณีใด บทวิเคราะห์ในเอกสารนี้ มิได้เป็นการชี้นำในการตัดสินใจ หรือโฆษณาการดำเนินธุรกิจของบริษัท การตัดสินใจใดๆ ของผู้อ่าน ล้วนเป็นการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน ซึ่ง บลจ.บัวหลวง ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือพันธะผูกพันใดๆ ทั้งสิ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ