กรุงเทพฯ--2 ก.ค.--เจซีแอนด์โค พับบลิครีเลชั่นส์
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้ประเมินคุณภาพนักศึกษาใหม่ปีการศึกษา 2556 ภาพรวมอยู่ในระดับดีเลิศหรือ Excellence ประเมินจากผลคะแนนสอบแอดมิชชั่นกลางซึ่งประกอบด้วยคะแนน GPAX O-NET GAT และ PAT 7วิชาความถนัดโดยร้อยละ 70 ผ่านการคัดเลือกแบบรับตรง และอีกร้อยละ 30 ผ่านระบบแอดมิชชั่นกลาง ซึ่งในปีนี้ สจล. ได้มีการคัดเลือกนักศึกษาแบบรับตรงเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว โดยเน้นคัดเลือกนักศึกษาจากการจัดสอบจากข้อสอบของสถาบันฯโดยเฉพาะ หรือบางสาขาวิชาจะใช้ข้อสอบ GAT และ PAT แทน เพื่อให้ได้คุณภาพนักศึกษาตรงตามความถนัดในแต่ละคณะมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ในระบบการสอบแอดมิชชั่นกลาง สถาบันฯได้มีการกำหนดสัดส่วนคะแนนรายวิชาความถนัดเฉพาะด้านหรือ PAT ให้มีสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งวิธีการรับตรงและการกำหนดสัดส่วนคะแนนใหม่นี้จะทำให้สถาบันฯ มีนักศึกษาที่มีคุณภาพตรงตามสาขาวิชานั้นๆพร้อมกันนี้ สถาบันฯ ได้มีการตั้งยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาการศึกษาหลัก 5 ด้านในปีการศึกษา 2556ได้แก่ พัฒนาการผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพ พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมให้สามารถนำไปใช้งานได้จริง พัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการให้มีคุณภาพและเป็นมาตรฐานเดียวกัน พัฒนาการให้บริการวิชาการและถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชน และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ เพื่อพัฒนาคุณภาพนักศึกษาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาของอาเซียนตามนโยบายของภาครัฐได้ โดยทำการต่อยอดความสำเร็จจากปีที่แล้ว ตอบสนองวิสัยทัศน์ของสถาบันฯที่ว่า “สจล. จะเป็นสถาบันอุดมศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 1 ใน 10 ของภูมิภาคอาเซียน ในปี ค.ศ.2020”
ศ.ดร. ถวิล พึ่งมา อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า การประเมินคุณภาพนักศึกษาในปี 2556 พบว่านักศึกษาใหม่ที่เข้ามามีคุณภาพเพิ่มขึ้น อยู่ในระดับดีเยี่ยม ซึ่งสังเกตได้จากคะแนนสูงสุด-ต่ำสุดที่ถูกจัดทำขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว โดยเฉพาะในสาขาวิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม และวิศวกรรมไฟฟ้า มีนักศึกษาสนใจเข้าศึกษาในสถาบันฯ เป็นจำนวนมาก โดยจากรูปแบบการรับนักศึกษาแบบรับตรง สจล. สามารถคัดเลือกนักเรียนระดับแนวหน้าของประเทศได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้การสอบแบบรับตรงจะเริ่มสอบก่อนระบบแอดมิชชั่นกลางและผู้ที่ผ่านการสอบคัดเลือกแบบรับตรงจะไม่สามารถยื่นสิทธิ์ในระบบแอดมิชชั่นกลางได้ ทำให้ในปีนี้ สจล.จะมีนักศึกษาที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้นจากการคัดเลือกทั้ง 2 แบบ
จากการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ของ สจล. ในปีที่ผ่านมานั้น ศ.ดร. ถวิล พึ่งมา ได้กล่าวถึงภาพรวมของความสำเร็จจากการดำเนินงานที่ผ่านมา พร้อมทั้งแผนงานใหม่ที่จะดำเนินการในปีนี้ โดยเริ่มจากยุทธศาสตร์แรก คือ การมุ่งพัฒนาการผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพ ซึ่งในปีที่ผ่านมา สจล. ถือเป็นสถาบันการศึกษาที่มีการผลิตวิศวกรไฟฟ้าเข้าสู่ตลาดแรงงานมากที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ ยังได้รับการประเมินระดับ 5 (ระดับดีเยี่ยม) ในสาขาวิชา Electrical/Electronic Engineering จากการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) อีกด้วย ซึ่งการประเมินนี้เป็นการประเมินจากผลงานทางวิชาการทีได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ โดยในปี 2556 สจล. ได้มีการต่อยอดความสำเร็จดังกล่าวด้วยการเปิดหลักสูตรใหม่ตอบสนองนโยบายรัฐ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อาทิเช่น หลักสูตรวิศวกรรมขนส่งทางราง ในสาขาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อรองรับความเชื่อมโยงของระบบคมนาคมในกลุ่มประเทศอาเซียน หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมป้องกันประเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ปิโตรเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นหลักสูตรปริญญาตรีสองภาษา เป็นต้น นอกจากนี้แล้ว 6 หลักสูตร ได้แก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า และสาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาฟิสิกส์ประยุกต์ และสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ และคณะอุตสาหกรรมเกษตร สาขาวิชาวิศวกรรมแปรรูปอาหาร เป็นสาขาวิชาที่มีนักเรียนให้ความสนใจยื่นใบสมัครเข้ามาจำนวนกว่า 20,000 คน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงคุณภาพของหลักสูตรการเรียนการสอนของสจล.อีกด้วย
ประเด็นยุทธศาสตร์ด้านที่ 2 การพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสร้างความเป็นเลิศในระดับชาติและนานาชาติ โดยมีเป้าหมายในการพัฒนางานวิจัยให้สามารถนำไปใช้แก้ไขปัญหาได้จริง โดยปี 2555 สจล.ได้รับรางวัลจากงานวิจัยในด้านต่างๆเป็นจำนวนมาก อีกทั้งได้รับความสนใจในการนำงานวิจัยเหล่านั้นไปประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลาย อาทิ ผลงานวิจัยด้านเทคโนโลยีนาโนซิงค์ออกไซค์ เพื่อใช้แก้ปัญหาโรคแคงเกอร์ในมะนาว ซึ่งประสบผลสำเร็จในการใช้งานเป็นอย่างมาก หรืองานวิจัยเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตฟิล์มกำจัดก๊าซเอทิลีนเพื่อเก็บรักษาผลิตผลสด โดยคณาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ซึ่งโครงการนี้ได้รับการจดลิขสิทธิ์และมีผู้ซื้อลิขสิทธิ์ดังกล่าวไปใช้งานจำนวนมากอย่างไรก็ตาม สจล.ยังคงเดินหน้าพัฒนางานวิจัยและคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆด้วยการดำเนินการจัดหาแหล่งทุนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงทุนจากภายในประเทศและนานาชาติ พร้อมทั้งจัดงานอบรมให้แก่นักวิจัยโดยบุคลากรผู้เชี่ยวชาญในด้านสาขาวิชาต่างๆจากทั่วโลกเพื่อนำความรู้ไปต่อยอดงานวิจัยของตนเอง โดยสจล.มีการตั้งเป้าผลิตงานวิจัยคุณภาพไม่ต่ำกว่า 1,000 ชิ้นต่อปี
เพื่อนำเสนอการบูรณาการงานวิจัยกับการจัดการในสังคม ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 3 นี้ จึงเน้นไปที่ การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพขององค์กร โดยสจล.มีการเปิดวิทยาลัยการบริหารซึ่งเป็นวิทยาลัยที่เน้นการบูรณาการและการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางด้านการบริหารและจัดการ ร่วมกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการพัฒนาให้เป็นองค์กรเพื่อการเรียนรู้และมีความเป็นสากลที่จะเป็นประโยชน์กับชุมชน และสังคมในทุก ๆ ระดับโดยวิทยาลัยการบริหารและจัดการของ สจล. เป็นสถาบันซึ่งถือว่าเป็นผู้นำด้านการบริหารและจัดการด้วยเทคโนโลยีระดับสากล ทั้งนี้กลยุทธ์แนวทางการดำเนินงานในปี 2556 จะมุ่งเน้นพัฒนาวิทยาลัยนวัตกรรมการจัดการข้อมูล ซึ่งเป็นการใช้นวัตกรรมเพื่อการบริหารงานระบบฐานข้อมูล มีการร่วมมือกับภาคเอกชนในการดำเนินงานและสนับสนุนโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบการจัดการข้อมูลเหล่านี้นอกจากนี้ สจล.ยังได้มีการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาจากต่างประเทศทั่วโลก เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในด้านนี้ด้วย
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 4 ได้แก่ การพัฒนาการให้บริการวิชาการ ถ่ายทอดองค์ความรู้สู่สังคม โดยมีการสนับสนุนงานวิจัยที่ตอบสนองความต้องการของสังคม อาทิ นวัตกรรมเครื่องอุ่นดินด้วยคลื่นไมโครเวฟ เป็นนวัตกรรมที่ช่วยเกษตรกรไทยหลังประสบภาวะน้ำท่วม โดยการใช้องค์ความรู้ในการประดิษฐ์เครื่องมือเพื่อเพิ่มอุณหภูมิในดิน หรือช่วยเร่งอัตราการคายน้ำของดิน ซึ่งเกษตรกรจะสามารถกลับมาใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรได้อีกครั้งภายในระยะเวลาเพียง 1-3 วัน นอกจากนี้ยังช่วยประหยัดต้นทุนและแรงงานคนไปได้อีก 50% เป็นต้น โดยในปีการศึกษา 2556 สจล. ยังคงมุ่งเน้นพัฒนาองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ เพื่อถ่ายทอดสู่สังคมให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน และสามารถแก้ไขปัญหาของสังคมได้ทันท่วงที
นอกจากการดำเนินงานด้านวิชาการที่เน้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีทั้งหลายอย่างรอบด้านแล้ว สจล.ยังได้ให้ความสำคัญกับกิจกรรมนักศึกษาด้วย เพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างรอบด้าน ประเด็นสุดท้ายจึงมุ่งทำนุบำรุงศิลปะ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ ยกตัวอย่างเช่นในปีที่ผ่าน นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ได้มีการทำผลงานคลิปวิดีโอเพื่อเป็นสื่อการเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์ พร้อมสอดแทรกแง่มุมล้อเลียนการเมืองปัจจุบัน ภายใต้ชื่อผลงาน “จดหมายเหตุกรุงเสีย (The Fall of Ayutthaya)”ที่ได้รับความสนใจในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์คเป็นอย่างมาก หรือ นายโยธิน ปิยะวงศ์ภิญโญ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยี ปิโตรเคมี (หลักสูตรนานาชาติ) คณะวิทยาศาสตร์ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ จากผลงานการใช้ Photocatalystเพื่อกำจัดสารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพในอุตสาหกรรมรถยนต์ ในโครงการเฟ้นหานักวิทย์คิดเพื่อสังคม โดย บริษัทมีเดียแมทเทอร์ จำกัดร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย หน่วยงานภาครัฐ และสมาคมต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษานำเสนอผลงานสร้างสรรค์สื่อเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างไม่จำกัดรูปแบบเพื่อสร้างจิตสำนึกในการตอบแทนสังคม และในปีนี้สจล.ยังคงเดินหน้าสนับสนุนโครงการกิจกรรมนักศึกษาอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งด้านดนตรี กีฬา ศิลปะและวัฒนธรรมเพื่อเป็นการปลูกฝังนักศึกษาในด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและปลูกฝังให้มีการใช้ภูมิปัญญาเพื่อสังคม อีกทั้งเป็นการดำเนินงานที่ควบคู่ไปกับงานด้านวิชาการ เพื่อการพัฒนาการศึกษาอย่างเต็มรูปแบบ
อย่างไรก็ตาม สจล. ยังคงให้ความสำคัญกับสถานการณ์ภายนอกสถาบันฯอย่างการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเป็นอย่างมาก ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของนโยบายการศึกษาระดับอุดมศึกษา เนื่องจากสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาจะเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพออกสู่ตลาดแรงงานอาเซียน และด้วยข้อกำหนดการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีทำให้เกิดการแข่งขันในตลาดแรงงานมากขึ้น ดังนั้น สจล. จึงเน้นพัฒนาคุณภาพบัณฑิตอย่างรอบด้านเพื่อศักยภาพในการพัฒนาประเทศ โดยที่ผ่านมา สจล.ได้มีการเปิดรับนักศึกษาที่มีสัญชาติประเทศกลุ่ม AEC เข้าเรียนในสถาบันฯ จำนวนกว่า 100 คนต่อปี ซึ่งในปีการศึกษาใหม่นี้คาดว่าจะมีนักศึกษาสัญชาติ AEC เพิ่มขึ้นกว่า 10% จากปีที่แล้ว นอกจากนี้การพัฒนานักศึกษาให้สามารถทำงานได้ในกลุ่มประเทศ AEC ยังคงเป็นประเด็นที่ไทยต้องมีการพัฒนาอย่างจริงจังอีกประการหนึ่ง ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่าบัณฑิตจำนวนกว่า 500 คน หรือ 10% ของสจล. ได้ทำงานในประเทศกลุ่มอาเซียนทั้ง 9 ประเทศ ซึ่งสจล.เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ความร่วมมือตามข้อตกลงการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีของกลุ่มประเทศอาเซียนประสบความสำเร็จขึ้นไปอีกขั้น และประเด็นยุทธศาสตร์ของสจล.ทั้ง 5 ด้านที่ได้กล่าวมานั้น เป็นการตอบสนองนโยบายการศึกษาของภาครัฐที่ต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาทั้งด้านวิชาการและกิจกรรมนักศึกษา รวมทั้งด้านภาษาในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วย จึงอาจกล่าวได้ว่ายุทธศาสตร์ทั้ง 5 ด้านของสจล. เป็นการพัฒนาบัณฑิตแบบครบ 360 องศา