กรุงเทพฯ--3 ก.ค.--ศศินทร์
ศศินทร์ห่วงอัตลักษณ์ความเป็นไทยเลือนรางเตือนผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยวคงไว้ซึ่งศิลปะและวัฒนธรรม เผยต่างชาติหลงใหลเสน่ห์และภูมิปัญญาไทย ย้ำหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ธุรกิจท่องเที่ยวไทยได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์และมรดกที่บรรพบุรุษสร้างไว้ แนะมองชาติอื่น ๆ ในอาเซียนเป็นคู่ค้าไม่ใช่คู่แข่ง
ดร.กฤษติกา คงสมพงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Sasin) เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากมีปัจจัยหลายๆด้านดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลก หลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 เชื่อว่าจะมีการเดินทางเข้า-ออกประเทศไทยมากขึ้น ทำให้เกิดผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบ ด้านบวกธุรกิจบริการได้รับอานิสงส์จากกระแสการเดินทางของนักท่องเที่ยวทั้งจากในอาเซียนและภูมิภาคอื่นๆ ประเทศไทยมีความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์มีแหล่งท่องเที่ยวสวยงาม รวมทั้งต้นทุนทางด้านศิลปวัฒนธรรม และอุปนิสัยคนไทยที่ยิ้มแย้มแจ่มใส ทำให้ได้รับความสนใจอันดับต้น ๆ อย่างไรก็ตามการหลั่งไหลเข้ามาของวัฒนธรรมต่างชาติส่งผลกระทบต่ออัตลักษณ์ความเป็นไทยในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ผู้ที่อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งต้องพึ่งพาศิลปะและวัฒนธรรมของชาติเพื่อดึงดูดลูกค้า ควรเป็นส่วนหนึ่ง ที่จะช่วยกันรักษาเอกลักษณ์ความเป็นไทย
“หากผู้ประกอบการพยายามที่จะปรับหรือผสมผสานความเป็นไทยให้กลมกลืนกับศิลปะและวัฒนธรรมชาติอื่น ๆ เพื่อเอาใจลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสินค้าและบริการ ที่พักอาศัย อาหารการกิน รวมทั้งศิลปะและวัฒนธรรมต่าง ๆ นอกจากจะทำให้อัตลักษณ์ความเป็นไทยถูกกลืนหายไปแล้ว อาจส่งผลต่อความนิยม เนื่องจากที่ผ่านมาการศึกษาพฤติกรรมนักท่องเที่ยว พบว่าส่วนใหญ่หลงใหลในศิลปะและวัฒนธรรมไทย ดังนั้น ผู้ประกอบการควรนำเสนอความเป็นไทยให้กับนักท่องเที่ยว ดร.กฤษติกา กล่าวเพิ่มเติมว่า ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้นเชื่อว่าชาติอื่นๆ ในอาเซียนต่างคาดหวังว่า การท่องเที่ยวจะสร้างรายได้ให้กับประเทศของตนเช่นเดียวกัน การเข้าสู่ AEC เชื่อว่าธุรกิจท่องเที่ยวจะมีการแข่งขันเพิ่มขึ้น รวมทั้งแรงงานไทยที่มีประสบการณ์จะไหลออกนอกประเทศ ดังนั้นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญกับการรักษาและพัฒนาบุคคลากร เพื่อให้มีศักยภาพในการแข่งขัน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพและธุรกิจร้านอาหารที่คาดว่าแรงงานไทยจะเป็นที่ต้องการของตลาด อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับชาติอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกันการท่องเที่ยวของไทยมีความได้เปรียบ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานของรัฐบาลเพื่อรองรับการขยายตัวธุรกิจในอนาคต สินค้าและบริการต่าง ๆ เป็นที่รู้จักและยอมรับในคุณภาพ รวมทั้งมีต้นทุนต่ำกว่าหลายๆชาติ ทำให้สามารถแข่งขันด้านราคาได้
ดร.กฤษติกา กล่าวว่า แม้ว่าไทยมีความได้เปรียบด้านการท่องเที่ยว แต่ผู้มีอาชีพด้านนี้ส่วนใหญ่ใช้ภาษาอังกฤษ แต่ภาษาอื่นๆใช้ได้จำนวนไม่มากนัก นอกจากนี้ควรให้ความสำคัญเรื่องภาพลักษณ์ประเทศ ความมั่นคงด้านการเมือง สังคม รวมทั้งปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว
“เราไม่ควรมองเฉพาะโอกาสเท่านั้น หลังจากที่อาเซียนรวมกันเป็นหนึ่งเดียว อาจมีเรื่องอื่น ๆ ที่ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมกันแก้ไขปัญหา เช่น การตลาดในเชิงปริมาณอาจกระทบต่อคุณภาพนักท่องเที่ยว ในขณะเดียวกันธุรกิจต่างๆ ต้องคำนึงเรื่องคุณภาพสินค้าและบริการ เพื่อสร้างความประทับใจ ที่สำคัญไม่มองว่าเพื่อนบ้านอีก 9 ประเทศเป็นคู่แข่งควรจับมือเป็นพันธมิตร ในอนาคตโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ จะถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน เป็นโอกาสให้ธุรกิจท่องเที่ยวไทยเติบโตอย่างมีคุณภาพ” ดร.กฤษติกากล่าว และเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งเสริมให้นานาชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว ทั้งการขยายเส้นทางการบิน ทำให้การเดินทางสะดวกมากขึ้น และสังคมออนไลน์ที่บอกต่อถึงความประทับใจ รวมทั้งการเติบโตของธุรกิจจัดนิทรรศการและการประชุม (ไมซ์) ก็เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจท่องเที่ยว สิ่งสำคัญความร่วมมือของชาติต่างๆ ในอาเซียนนั่นเอง