กรุงเทพฯ--3 ก.ค.--สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
สมาคมนักวางแผนการเงินไทย (TFPA) มองสถานการณ์ปัญหาหนี้ครัวเรือนน่าเป็นห่วง แนะผู้บริโภคแต่ละเดือนจำนวนเงินผ่อนชำระหนี้ไม่ควรจะสูงเกินกว่าร้อยละ 36 ของรายได้ หากสูงเกินกว่านี้อาจส่งผลต่อการผ่อนชำระหนี้ในอนาคต และอาจนำไปสู่การฟ้องร้องให้เป็นบุคคลล้มละลายได้
จากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น ที่ครอบคลุมรวมไปถึงหนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล ที่เริ่มมีสัญญาณการหยุดชำระหนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มผู้มีรายได้ต่ำนั้น นายธีระ ภู่ตระกูล นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย กล่าวว่า “ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน การหลีกเลี่ยงการก่อหนี้มีความเป็นไปได้ยากมากขึ้น ดังนั้น วิธีการที่ดีที่สุดคือ ทุกคนจะต้องเรียนรู้และมีการบริหารจัดการหนี้ที่ดี เพื่อลดปัญหาวิกฤติหนี้สินที่มี”
นอกจากนี้ นายธีระ ยังได้กล่าวถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้สินอีกว่า “สำหรับแนวทางในการแก้ปัญหาหนี้สิน ควรเริ่มจากการสำรวจภาระหนี้สินที่มีว่ามีจำนวนเท่าใดที่เป็นหนี้สินที่ดี คือเป็นหนี้ที่สร้างความมั่งคั่งหรือก่อให้เกิดรายได้ในอนาคต เช่น หนี้กู้ยืมซื้อบ้าน หรือเพื่อการศึกษาของบุตร มีจำนวนเท่าใด และหนี้สินรวมทั้งหมดมีจำนวนเท่าใด จำนวนเงินผ่อนชำระในแต่ละเดือนควรจะไม่สูงเกินกว่าร้อยละ 36 ของรายได้ เพราะหากสูงเกินกว่านี้ อาจส่งผลต่อการผ่อนชำระหนี้ในอนาคต และอาจนำไปสู่การฟ้องร้องให้เป็นบุคคลล้มละลายได้”
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของคำแนะนำที่จะทำให้ลดปัญหาหนี้สินนั้น สมาคมนักวางแผนการเงินไทยแนะนำว่า ควรพยายามลดในส่วนของหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดความมั่งคั่งเป็นลำดับแรก เพราะหนี้สินเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้สินที่เกิดจากการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน โดยการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต หรือสินเชื่อบุคคล ซึ่งเป็นหนี้ระยะสั้น มีอัตราดอกเบี้ยสูง สิ่งที่ต้องทำคือ สำรวจทรัพย์สินที่ไม่มีความจำเป็นและสามารถเปลี่ยนเป็นเงินสด เพื่อลดภาระหนี้ดังกล่าวรวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้โดยการหาแหล่งเงินกู้ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ เช่น เงินกู้สวัสดิการพนักงาน เพื่อนำไปปลดหนี้ที่มีต้นทุนดอกเบี้ยสูง นอกจากนี้ ควรพยายามจ่ายหนี้ให้มากกว่าอัตราชำระขั้นต่ำ มิเช่นนั้นโอกาสที่จะทำให้หลุดพ้นจากวงจรหนี้เป็นไปได้ยากมาก เพราะจะจ่ายได้ในส่วนของดอกเบี้ยเท่านั้น ไม่ได้ทำให้เงินต้นลดลงแต่อย่างใด ในขณะเดียวกัน ควรมีการบริหารรายรับรายจ่ายให้สมดุลโดยการทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อให้ทราบถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงและสามารถใช้เป็นข้อพิจารณาในการลดรายจ่ายฟุ่มเฟื่อยหรือไม่จำเป็นลงได้ ทำให้มีรายรับสุทธิเพิ่มขึ้นเพื่อนำไปชำระหนี้ ซึ่งควรจะนำไปชำระหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงเป็นลำดับแรก และในจำนวนอื่นที่มีดอกเบี้ยต่ำลดลงมาตามลำดับ
นอกจากนี้ ยังต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคควบคู่กันไป โดยให้ใช้จ่ายตามความจำเป็นเท่านั้น อย่าใช้จ่ายตามความต้องการ ซึ่งจะเป็นการใช้จ่ายตามกระแสการโฆษณาประชาสัมพันธ์อันเป็นกลยุทธ์การตลาดเพื่อกระตุ้นการบริโภคสินค้า อย่างไรก็ตาม หลายๆ ครั้งการเป็นหนี้ อาจเกิดจากความจำเป็นที่ไม่สามารถคาดการได้ เช่น หนี้ที่เกิดจากรายการค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล ตกงาน หรือซ่อมแซมบ้าน เป็นต้น ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาดังกล่าว เมื่อปลอดจากภาระปัญหาหนี้สินแล้ว ควรมีการเก็บออมเงินเพื่อสภาพคล่องไว้จำนวนหนึ่ง อาทิ ฝากธนาคาร ให้เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายปกติได้จำนวนอย่างน้อย 6 เดือน
สมาคมนักวางแผนการเงินไทย (Thai Financial Planners Association — TFPA) เป็นองค์กรกำกับดูแลตนเองที่ไม่แสวงหากำไร จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. 2509 เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2550 มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมวิชาชีพนักวางแผนการเงิน CFP และคุณวุฒิวิชาชีพ AFPT ที่มีความรู้ ความสามารถ และมีจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพ ได้รับการยอมรับและเชื่อถือในระดับสากลให้เป็นที่รู้จักในอุตสาหกรรมการเงินของประเทศไทย สมาคมฯ เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ Financial Planning Standards Board, Ltd. (FPSB) ในปี 2550 นับเป็นสมาชิกลำดับที่ 22 จากสมาชิกรวม 24 ประเทศ ปัจจุบัน มีนักวางแผนการเงินที่ได้รับวุฒิบัตรวิชาชีพ CFP 147,822 รายทั่วโลก