กรุงเทพฯ--4 ก.ค.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ห่วงใยประชาชนที่บริโภคอาหารและใช้ชีวิตประจำวันไม่ถูกต้อง ส่งผลให้ประชากรโลกตายจากโรคเรื้อรังมากถึงร้อยละ 60 จากจำนวนการตายของประชากรโลกทั้งหมดประมาณ 58 ล้านคน ในปี 2548 โดยเฉพาะจาก 5 โรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็งในประเทศไทย ช่วงปี 2551-2552 พบป่วยด้วยโรคเบาหวาน ถึง 3.5 ล้านคน และมีถึง 1.1 ล้านคน ที่ไม่ทราบว่าตนเองป่วย ในปี 2553 พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวาน ทั้งหมด 6,855 คน หรือวันละ 19 คน และมีผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวานเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณ สุข จำนวน 607,828 ครั้งคาดการณ์ว่าในปี 2568 จะพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นถึง 4.7 ล้านคน เสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 52,800 คน และผู้ป่วยเหล่านี้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองสูงถึง 2-4 เท่า เมื่อเทียบกับคนปกติ และมากกว่าครึ่งพบความผิดปกติของปลายระบบประสาท และเสื่อมสมรรถภาพทางเพศในผู้ชาย
นายแพทย์ศรายุธ อุตตมางคพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 กล่าวว่า โรคเบาหวานเป็นความผิดปกติของร่างกายที่มีการผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ หรือร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพส่งผลให้ระดับ น้ำตาลในกระแสเลือดสูงเกินมาตรฐาน หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม จะทำให้เลือดมีความเข้มข้นมากขึ้นและมีความหนืดมากขึ้น หัวใจทำงานหนักขึ้น หลอดเลือดรับแรงดันมากขึ้น ก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมา โรคเบาหวานมี 2 ชนิด คือ เบาหวานชนิดที่ 1 ต้องพึ่งอินซูลิน และเบาหวานชนิดที่ 2 (ป้องกันได้) เบาหวานชนิดที่ 1 นั้น ส่วนใหญ่เกิดจากพันธุกรรม การรักษาจะใช้การฉีดยาอินซูลิน เกิดจากภูมิต้านทานของร่างกายไปทำลายเซลล์ที่สร้างอินซูลินในส่วนของตับอ่อน เบาหวานชนิด 2 ป้องกันได้ ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน จากการมีพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสม การใช้ชีวิตประจำวันโดยขาดการเคลื่อนไหวร่างกาย แต่มีโอกาสหายจากโรคเบาหวานชนิดนี้ได้โดยไม่ต้องรับประทานยาตลอดชีวิต
สำหรับการสังเกตตนเองหรือผู้อื่นเมื่อเริ่มมีอาการของโรคเบาหวาน มีดังนี้ ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ ดื่มน้ำบ่อย หิวบ่อย กินจุ น้ำหนักลด อ่อนเพลีย แผลหายช้า คันตามผิวหนัง ขาดสมาธิ อาเจียน ปวดท้อง ชาปลายมือปลายเท้า บุคคลที่เสี่ยงเกิดโรคเบาหวาน ได้แก่ บุคคลอายุ 50 ปีขึ้นไป คนอ้วน/อ้วนลงพุง ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงผู้ที่มีประวัติ พ่อ แม่ พี่น้องสายตรงเป็นเบาหวาน การป้องกันโรคเบาหวานต้องใช้หลัก 3อ. 2ส. เพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน ได้แก่ อ.อาหาร การรับประทานอาหารครบ 5 หมู่และมีสัดส่วนเหมาะสม รับประทานผักและผลไม้ให้หลากหลายเพิ่มมากขึ้น รับประทานปลาและเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง มีรสหวาน รสเค็มมากเกินไป หลีกเลี่ยงอาหารฟาสต์ฟู้ด ขนมหวาน ขนมกรุบกรอบ และน้ำอัดลม อ.ออกกำลังกาย มีการเคลื่อนไหวร่างกายและออกกำลังกายสม่ำเสมอ วันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน เป็นอย่างน้อย มีการเคลื่อนไหวในระหว่างวัน เช่น เดินขึ้นบันไดแทนการขึ้นลิฟท์ ลงรถเมล์ก่อนถึงป้าย จำกัดชั่วโมงการใช้คอมพิวเตอร์และดูโทรทัศน์ให้ ไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน เป็นต้น อ.อารมณ์ มีการจัดการกับอารมณ์ ฝึกสมาธิ และผ่อนคลายความเครียด การเผชิญกับปัญหาและแก้ปัญหาอย่างถูกต้องเหมาะสม ยืดเส้นยืดสาย ไม่น้อยกว่า 5 นาที ฟังเพลง ทำงานอดิเรก พบปะเพื่อน จัดการสิ่งแวดล้อมให้สะอาด สดใส สร้างแรงจูงใจใน และสิ่งสำคัญคือ 2ส. ได้แก่ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มสุรา หากมีข้อสงสัยสอบถามและติดต่อได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค เบอร์โทรศัพท์ 1422