กรุงเทพฯ--4 ก.ค.--บลจ.ยูโอบี
นายกรวุฒิ ลีนะบรรจง กรรมการผู้จัดการ-สายการลงทุน บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) ได้ให้มุมมองภาวะการลงทุนในช่วงครึ่งปีแรกว่า “หุ้นไทยนับว่าเป็นตลาดการลงทุนที่ได้รับความสนใจทั้งจากนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา ดอกเบี้ยทั่วโลกส่วนใหญ่อยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน (QE) ส่งผลให้มีเงินลงทุนไหลเข้าการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก ประกอบกับเศรษฐกิจในประเทศไทยยังมีการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพจากการลงทุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จึงส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง หลังจากนั้นจึงได้ปรับตัวลดลงในช่วงเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีสัญญาณฟื้นตัว จนทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศถึงความเป็นไปได้ของแผนยุติมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (QE) จึงทำให้นักลงทุนเคลื่อนย้ายเงินทุนออกจากภูมิภาคเอเชีย เพื่อถือครองเงินสดและชะลอการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง”
อย่างไรก็ดี บลจ.ยูโอบี ยังคงมีมุมมองที่ดีต่อตลาดหุ้นไทย จากปัจจัยพื้นฐานที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลง มีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการประชานิยมของรัฐบาล(เพิ่มรายได้ ลดภาษี) ในขณะที่เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งคาดการณ์การเติบโตผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน ปี 2556 เฉลี่ยที่ 21.9% อัตราจ่ายเงินปันผลประมาณ 4% ซึ่งถือว่ายังอยู่ในระดับเหมาะสมที่จะเข้าลงทุน
เศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญาณชี้ให้เห็นการฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพที่ชัดเจน จากตัวเลขภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะราคาและยอดขายบ้านได้ปรับตัวสูงขึ้น สอดคล้องกับการคาดการณ์ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ปรับการคาดการณ์ตัวเลขการขยายตัวเศรษฐกิจในปี 2014 ดีขึ้นจากเดิม 2.9%-3.4% เป็น 3.0%-3.5% นอกจากนี้ยังได้ปรับลดการคาดการณ์อัตราการว่างงานจากเดิม 6.7%-7.0% เป็น 6.5%-6.8% ซึ่งสะท้อนผ่านแถลงการณ์ถึงความเป็นไปได้ที่จะยุติมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (QE) จึงทำให้ขณะนี้เงินลงทุนได้เคลื่อนย้ายออกจากกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) รวมถึงภูมิภาคเอเชีย ทั้งนี้เพื่อรอจังหวะกลับเข้าลงทุนในประเทศที่พัฒนาแล้ว (Developed Market) อย่างตลาดหุ้นสหรัฐฯ ตามทิศทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัว ซึ่งในระยะต่อไปจะส่งผลดีโดยรวมต่อสมดุลของตลาดหุ้นทั่วโลก ทั้งนี้ สำหรับตลาดหุ้นภูมิภาคเอเชีย ถึงแม้ในระยะสั้นยังคงมีความผันผวนอยู่ แต่จากปัจจัยพื้นฐานที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ประกอบกับแรงสนับสนุนของโครงการพัฒนาเศรษฐกิจจากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) รวมทั้งนโยบายโครงสร้างพื้นฐานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต น่าจะเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้หุ้นภูมิภาคเอเชียยังคงมีความน่าสนใจอยู่
สำหรับราคาทองคำได้ปรับตัวขึ้นไปมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จากความกังวลของนักลงทุนต่อวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐฯและยุโรป ตั้งแต่ต้นปีนักลงทุนเริ่มคลายความกังวลจากวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐฯ เห็นได้จากแนวโน้มที่จะยุติมาตรการ QE นักลงทุนจึงกลับเข้ามาถือสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้น จึงเป็นแรงกดดันทำให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ในระยะสั้นนี้แม้จะมีแรงซื้ออยู่บ้างแต่ยังไม่มากพอที่จะทำให้ราคาปรับเพิ่มขึ้นได้ หากนักลงทุนต้องการลงทุนในระยะยาว ราคาทองคำขณะนี้สามารถลงทุนได้บางส่วน เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรงเท่านั้น
สำหรับผลตอบแทนตลาดตราสารหนี้ในประเทศไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ แม้จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เป็น 2.50% เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ สนับสนุนภาคการลงทุน ภาคการส่งออก และชะลอค่าเงินบาทอ่อนค่า ซึ่งคาดว่าในระยะยาวค่าเงินบาทจะมีเสถียรภาพมากขึ้น แม้ว่าการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดการเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์ได้ แต่ทาง ธปท.ได้ตระหนักและเฝ้าติดตามระมัดระวังอย่างใกล้ชิด ด้านตัวเลขเงินเฟ้อปีนี้คาดการณ์อยู่ที่ 2.7% (ปีที่แล้ว 3%) เพราะต้นทุน(ดอกเบี้ยกู้ยืม) การลงทุนของผู้ผลิตยังไม่สูงมากนัก ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับคงที่ จึงคาดว่าในปีนี้และปีหน้าเงินเฟ้อจะไม่เปลี่ยนแปลง จะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอยู่ในระดับคงที่เช่นกัน
นายกรวุฒิ ลีนะบรรจง กรรมการผู้จัดการ-สายการลงทุน ได้ให้ความเห็นในตอนท้ายว่า “บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย)แนะนำนักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้สูงและลงทุนได้ในระยะยาว ควรลงทุนในตลาดหุ้นไทยและเพิ่มน้ำหนักในหุ้นกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้จำกัด สามารถเลือกลงทุนในตราสารหนี้ที่ลงทุนในต่างประเทศที่มีโอกาสรับผลตอบแทนสูงกว่าตราสารหนี้ในประเทศ ส่วนทองคำสามารถแบ่งการลงทุนได้บ้าง ทั้งนี้เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงและป้องกันความเสี่ยง ในกรณีที่เศรษฐกิจกลับมาตกต่ำรุนแรงในอนาคต”
สอบถามเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
จิรชยา ลาภถาวรเกียรติ 02 6767100 ต่อ 163
คำเตือน ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต กองทุนมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุนในต่างประเทศ ถึงแม้ว่ากองทุนอาจป้องกันความเสี่ยงตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุนรวม แต่เนื่องจากกองทุนไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนอาจจะขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน/หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้ การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูล นโยบายการลงทุน ความเสี่ยงและผลการดำเนินงานของกองทุนก่อนการตัดสินใจลงทุน