กรุงเทพฯ--4 ก.ค.--เอ้าดอร์ พีอาร์
จบลงไปอย่างสวยงาม สำหรับการจัดงาน “ฝ้ายทอใจ ครั้งที่ 6” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 มิถุนายน ที่ผ่านมา ณ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน)อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา โดยได้รับพระกรุณาจากพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัตดามาตุ เสด็จทรงเป็นองค์ประธานและเปิดงาน “ฝ้ายทอใจ ครั้งที่ 6” ในวันแรก นางพิมพาพรรณ ชาญศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป.กล่าวถึงการจัดงานในตลอดระยะเวลา 4 วัน ว่า ปีนี้โดยภาพรวมของการจัดงาน ถือว่าประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายผ้าฝ้ายของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพฯให้เข้าถึงประชาชนนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ และปีนี้ยังได้จัดกิจกรรมโรดโชว์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการต่างๆ เข่น ปตท. ศูนย์ราชการ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยมี “คาร่า พลสิทธิ์” ดารานางแบบร่วมสมัยเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ มาประชาสัมพันธ์โครงการฯ และร่วมส่งเสริมให้ผ้าฝ้ายทอมือรู้จักเป็นที่แพร่หลาย ในปีนี้มีประชาชน และผู้ชื่นชมในผ้าฝ้ายทอมือของไทยร่วมงานทั้งสิ้นเกือบ 9,000 คน
ทั้งนี้ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป.ได้สร้างกระแสและรณรงค์ผสมผสานผ้าฝ้ายทอมือดั้งเดิม ร่วมกับแนวคิดยุคใหม่ โดยไฮไลท์4 วันงานจัดให้มีการแสดงแฟชั่นโชว์ผ้าฝ้ายทอมือในคอลเลคชั่น “Miracle of Cotton's Charms” เป็นผลงานของดีไซเนอร์รุ่นใหม่ “ไอซ์-ศรุต วุฒิพชรธร” ที่ชนะการประกวดสุดยอดดีไซเนอร์ "ทอฟ้าผ้าไทย ครั้งที่ 1" และได้สาวงามจากเวทีมิสไทยแลนด์เวิลด์ เวทีมิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส และเวทีนางสาวไทย อาทิ ชาม โอสถานนท์ กนกกร ใจชื่น ฟ้ารุ่ง ยุติธรรม ปณัฎชา ถนอมวงค์ ร่วมแสดงแบบด้วยเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากผ้าฝ้าย เช่น เครื่องประดับ กระเป๋า เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ที่ดีไซน์มาจากลายผ้าในโครงการฯ ได้จัดทำขึ้นเป็นพิเศษโดยนำมาจัดแสดงและจำหน่ายเฉพาะภายในงานนี้เท่านั้น
นอกจากนี้ ประชาชนยังให้ความสนใจชม นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินินาถ และนิทรรศการผ้าฝ้ายโดยจำลองเป็นห้องในคอนโดซึ่งสามารถนำผ้าฝ้ายและผลิตภัณฑ์ทำจากผ้าฝ้ายมาตกแต่งได้อย่างลงตัวพร้อมเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายจากฝีมือครูช่างและทายาทครูช่าง อาทิ ทายาทครูช่างอำไพ สารรัตน์ ที่ได้พัฒนาการออกแบบลายผ้าให้ช่างทอทำแบบพิเศษ คือ จกลายเต็มผืนแบบโบราณ จากปกติจะทอครึ่งเดียว,ครูสิริวัฑน์ เธียนปัญญา ครูช่างศิลป์ด้านงานปักผ้า จ.เชียงราย,ครูพชรพร พรวนทอง ครูช่างศิลป์ด้านผ้าม่านลายชิดย้อมสีธรรมชาติ จ.ยโสธร ยังมีผลิตภัณฑ์จากครูช่างอนัญญา เค้าโนนกอก กลุ่มทอผ้าสีธรรมชาติหนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ, ผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติที่มีการสืบทอดวิธีการทอและลวดลายการทอแบบโบราณ เช่น ย้อมโคลน ย้อมครั่ง ย้อมมะเกลือ ฯลฯ, ผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมสีธรรมชาติบ้านสงเปือย จ.สกลนคร, ผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติเน้นการย้อมครามซึ่งผ้าเหล่านี้ได้รับการรับรองกระบวนการผลิตว่าเป็นมิตรไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายแปรรูป กว่า 100 คูหาพร้อมด้วยการแสดงนิทรรศการเอกลักษณ์ผ้าโบราณของไทยในอดีต ที่มีอายุยาวนานกว่า 100 ปีขึ้นไป ได้แก่ ผ้าของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ผ้าที่เป็นเครื่องใช้ของบรรพบุรุษที่เก็บสะสมไว้นับร้อยปี หรือผ้าที่เป็นเครื่องนุ่งห่มในราชสำนักสมัยต่างๆ และการแสดงลิเกฮูลู โดย อ.วาที ทรัพย์สิน ทายาทครูช่างสุชาติ ทรัพย์สิน ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน) ประจำปี 2549 ฯลฯ
นางพิมพาพรรณ กล่าวว่า “งานฝ้ายทอใจ” เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ ศ.ศ.ป.ให้ความสำคัญในการจัดกิจกรรมเชิดชูครูช่างและทายาทหัตถศิลป์ เพื่อสร้างการรับรู้ให้คนไทยได้ภาคภูมิใจกับฝีมือการทำงาน ตลอดจนแนวคิดสร้างสรรค์งานหัตถกรรมฝีมือชั้นเลิศของครูไทย ซึ่ง ศ.ศ.ป. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาต่อยอดเพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ และสร้างโอกาสในการขยายตลาดทางการค้า ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ ได้มีการนำผ้าฝ้ายทอมือไปพิมพ์ลายให้ดูทันสมัยและร่วมสมัย โดยนำมาตัดเย็บเป็นชุดเสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากผ้าฝ้ายทอมือ เช่น เครื่องประดับ กระเป๋า เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น โดยสรุปยอดขายผลิตภัณฑ์ที่ทำจากผ้าฝ้าย ตลอดทั้ง 4 วันจัดงานประมาณเกือบ 8 ล้านบาท
“ปัจจุบันผ้าฝ้ายทอมือของไทย มีตลาดใหญ่อยู่ในประเทศ ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2,900 ล้านบาท มีมูลค่ามากกว่าตลาดต่างประเทศ 50 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,450 ล้านบาท ตลาดรวมประมาณ 4,350 ล้านบาท ซึ่งอัตราการเติบโตของตลาดดังกล่าวไม่คงที่ ดังนั้น ศ.ศ.ป. จึงมีหน้าที่ผลักดันและสร้างมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด พร้อมทั้งหาช่องทางตลาดใหม่ๆ ให้กับเกษตรกรซึ่งตลาดใหญ่ของผ้าฝ้ายทอมือ คือ ตลาดกลุ่ม Hospitality ได้แก่ กลุ่มโรงแรม ร้านอาหาร ที่พักอาศัย ถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพมาก”