กรุงเทพฯ--4 ก.ค.--WWF ประเทศไทย
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กองทัพเรือภาคที่3 ฐานทัพเรือพังงา และ WWF ประเทศไทย จัดอบรมลาดตระเวนเชิงคุณภาพทางทะเล (Marine Smart Patrol) ครั้งแรกในเอเชีย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสนธิกำลังปกป้องทรัพยากรในทะเลอันดามัน และพัฒนาระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพเพื่อเป็นต้นแบบในการปกปักรักษาทรัพยากรทางทะเลอย่างเข้มแข็ง
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ฐานทัพเรือพังงา กองทัพเรือ และ WWF ประเทศไทย ภายใต้โครงการสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายพื้นที่คุ้มครองทางทะเลอันดามัน หรือ SAMPAN (Strengthening Andaman Protected Area Network) ได้ร่วมกันจัดอบรมโครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพและเทคนิคการลาดตระเวนเชิงคุณภาพทางทะเล (Marine SMART Patrol) ขึ้นเป็นครั้งแรก ตั้งแต่วันที่ 4-10 กรกฎาคม 2556 ณ ฐานทัพเรือพังงา จังหวัดพังงา โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับงานป้องกันทรัพยากรทางทะเลในฝั่งอันดามันให้มีความเข้มแข็งและได้มาตรฐานสากล
“การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้ได้ผลสำเร็จในปัจจุบันจำเป็นต้องอาศัยการทำงานเชิงรุก การขยายผลเรื่องของงานลาดตระเวนเชิงคุณภาพหรือที่รู้จักกันในชื่อ SMART Patrol ซึ่งได้มีการดำเนินงานมาระยะหนึ่งแล้วกับพื้นที่คุ้มครองทางบก มาประยุกต์ใช้กับงานอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล นับเป็นความริเริ่มที่ดี และเป็นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน โดยเฉพาะกับหน่วยงานที่มีศักยภาพสูงสุดในการบังคับใช้กฎหมายคือ กองทัพไทย” ดร.ธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวในช่วงพิธิเปิดงานฝึกอบรม
ประเทศไทยมีอาณาเขตทางทะเล (Maritime Zone) ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล พ.ศ. 2525 กว่า 350,000 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของอาณาเขตทางบกที่มีอยู่ประมาณ 513,000 ตารางกิโลเมตร ความยาวของชายฝั่งทะเลรวมฝั่งอ่าวไทยและอันดามันกว่า 2,815 กิโลเมตร ครอบคลุม 23 จังหวัด โดยฝั่งอันดามันมีความยาวชายฝั่งประมาณ 1,048 กิโลเมตร จากทั้งหมด 6 จังหวัดด้วยกันคือ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล โดยพื้นที่ที่ยังคงมีทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลสมบูรณ์ ส่วนใหญ่อยู่ในเขตพื้นที่ดูแลอุทยานแห่งชาติสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งปัจจุบันแม้แต่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติได้มีการรุกล้ำและการกระทำผิดต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหลายประการ ทั้งการทำประมงผิดกฎหมาย การลักลอบจับสัตว์น้ำเพื่อการค้า การท่องเที่ยวในรูปแบบที่ไม่เหมาะสม รวมถึงการปล่อยสิ่งปฏิกูลลงในทะเล เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันปัญหาต่างๆ มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติที่รับผิดชอบจำเป็นที่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจและเท่าทันต่อวิธีการของกลุ่มผู้กระทำผิดเพื่อปกป้องทรัพยากรทางทะเล นอกจากนี้แนวทางที่สำคัญอีกประการคือการสนธิกำลังและประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเพื่อให้งานปกป้องทรัพยากรธรรมชาติประสบผลสำเร็จสูงสุด
“ฐานทัพเรือพังงา และกองทัพเรือภาคที่3 มีความยินดีอย่างยิ่งที่ให้การสนับสนุนการอบรม ทั้งครูฝึก สถานที่ฝึกอบรม และยุทธวิธีในการวางแผนป้องกัน กองทัพเรือเล็งเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ซึ่งเป็นบทบาทด้านหนึ่งของกองทัพเรืออยู่แล้ว ปัจจุบันแหล่งทรัพยากรที่สมบูรณ์ส่วนใหญ่เหลืออยู่แต่ในเขตอุทยานฯ โครงการอบรมครั้งนี้จะช่วยให้เกิดการประสานงานอย่างเป็นรูปธรรม อันจะนำไปสู่การปกป้องทะเลไทยให้คงความอุดมสมบูรณ์ไว้ได้” พลเรือตรีวีระพันธ์ สุขก้อน ผู้บัญชาการฐานทัพเรือพังงา กองทัพเรือภาคที่ 3 ประธานในพิธิเปิดการอบรมกล่าว
“การฝึกอบรมและการดำเนินงานลาดตระเวนเชิงคุณภาพทางทะเลในช่วงแรกนี้มุ่งเน้นไปที่พื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลัน และหมู่เกาะลันตา ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องของโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายพื้นที่คุ้มครองอันดามัน (SAMPAN) เรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่การอบรมครั้งนี้ได้รับความสนใจและการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากกรมอุทยานแห่งชาติฯ กองทัพเรือ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมประมง ซึ่งเป็นการเริ่มต้นที่ดีเพราะเป้าหมายสำคัญคือการบูรณาการงานป้องกันรักษาทรัพยากรทางทะเลให้มีประสิทธิภาพสูงสุด” นายปรารพ แปลงงาน ผู้จัดการโครงการ SAMPAN และหัวหน้าศูนย์นวัตกรรมอุทยานแห่งชาติและพื้นที่คุ้มครองทางทะเล จังหวัดภูเก็ต กล่าว
โครงการฝึกอบรมระยะเวลา 7 วัน จะได้มุ่งเน้นความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมาย เทคนิคการตรวจค้น จับกุม การทบทวนระเบียบวินัยเพื่อเพื่อภาวะการเป็นผู้นำ และอบรมเทคนิคการลาดตระเวนทางทะเลโดยใช้อุปกรณ์ GPS และการบันทึกข้อมูลอย่างเป็นระบบระหว่างการลาดตระเวน โดยจะได้มีการจำลองสถานการณ์การเข้าจับกุมผู้กระทำผิด บริเวณอุทยานแห่งชาติสิรินารถ จังหวัดภูเก็ต ซึ่งภายหลังการฝึกอบรมจะได้มีการวางแผนสนธิกำลังการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเอาจริงเอาจังกับการปราบปรามประมงผิดกฎหมายในช่วงที่มีการปิดอุทยานฯเพื่อการท่องเที่ยวเนื่องจากสภาพอากาศไม่เหมาะสมทางฝั่งอันดามัน
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ :
เพชร มโนปวิตร ผู้จัดการฝ่ายงานอนุรักษ์ WWF ประเทศไทย อีเมล pmanopawitr@wwfgreatermekong.org
โทร +6689181444
เอื้อพันธ์ ชำนาญเอื้อ ผู้จัดการแผนกสื่อสารองค์กร WWF ประเทศไทย อีเมล uchamnanua@wwfgreatermekong.org,
โทร +668 1928 2426