กรุงเทพฯ--4 ก.ค.--C.A. Info Media
กรมการแพทย์ และ สถาบันธัญญารักษ์ หวังสร้างประสิทธิภาพการบำบัด รักษาผู้ติดยาเสพติด เน้นกระบวนการสมัครใจ เล็งเห็นประโยชน์การบำบัด และโทษของยาเสพติดด้วยแรงขับจากตัวผู้เสพ และครอบครัว จัดโครงการสร้างความรู้ความเข้าใจภายใต้แนวคิด “ติดยา หายขาดได้” เตรียมลงพื้นที่ส่วนภูมิภาค พร้อมกระจายสื่อ เข้าถึง ตรงจุด สร้างทัศนคติ ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย หายขาดได้ ถ้าได้รับโอกาส
นายแพทย์จิโรจ สินธวานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า สถานการณ์ยาเสพติด ปัจจุบันยังมีตัวเลขที่สูงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะลดลงไปบ้างจากในอดดีต เนื่องจากการเอาจริงเอาจังด้านการปราบปรามและเฝ้าระวัง แต่จากการคาดประมาณของสำนักงาน ป.ป.ส. คาดว่า มีผู้เสพยาเสพติดมากกว่า 1,200,000 คน และจากข้อมูลผู้เข้ารับการรักษาซึ่งกรมการแพทย์โดยสถาบันธัญญารักษ์ และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในเขตภูมิภาคอีก 6 แห่งทั่วประเทศ พบว่าจากการรวบรวมสถิติผู้ป่วยยาเสพติดทั้งหมด จำแนกตามปีงบประมาณ 2552-2556 เมื่อแยกตามช่วงอายุของผู้เข้ารับการบำบัด พบว่า ในปี 2555 - 2556 ผู้ป่วยยาเสพติดส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 20 — 24 ปี ซึ่งต่างจากในช่วงแรกที่อยู่ในกลุ่มอายุ 15 — 19 ปี ซึ่งยังถือว่า เป็นกลุ่มของวัยรุ่นและวัยรุ่นตอนปลาย สอดคล้องกับการจำแนกสถิติที่แยกตามกลุ่มการศึกษา พบว่า นับตั้งแต่ปี 2552 — 2556 กลุ่มผู้ป่วยยาเสพติดส่วนใหญ่ คือ กลุ่มมัธยมศึกษา โดยเปรียบเทียบในปี 2555 มีจำนวนร้อยละ 58.50 และในปี 2556 มีจำนวน 59.64 ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ การดำเนินงานด้านการรณรงค์ และสร้างความรู้ความเข้าใจ จึงต้องมุ่งเน้นไปที่กลุ่มครอบครัว เยาวชน และสถาบันการศึกษาเป็นหลัก เพื่อสามารถสร้างความตระหนัก และลดสถิติของผู้ที่ใช้สารเสพติดได้อย่างสัมฤทธิ์ผล และหากดูสถิติของผู้เข้ารับการรักษาโดยมีการจำแนกตามประเภทของสารเสพติด พบว่า “ยาบ้า” มีปริมาณสูงที่สุดต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2552 — 2556 โดยในปี 2556 มีจำนวนมากถึงร้อยละ 55.97 รองลงมาคือ ยาเสพติดประเภท สุรา ร้อยละ 17.96 นอกจากนี้ ยังพบว่า “ยาไอซ์” ก็เป็นยาเสพติดอีกชนิดหนึ่งที่พบแนวโน้มการแพร่ระบาดสูงขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง
และการดำเนินโครงการ ภายใต้สโลแกน “ติดยา หายขาดได้” มีสาระสำคัญสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การบำบัดรักษา ปี 2556 โดยประมาณการผู้เสพยาเสพติดไว้ที่ ประมาณ 1.9 ล้านคน มีสาระสำคัญของการดำเนินงาน ประกอบด้วย ควบคุมและลดระดับปัญหายาเสพติดในระดับพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชน “ให้ได้” จัดให้มีการดำเนินยุทธศาสตร์ป้องกัน ? ลดรายใหม่+ซ้ำ ,ปรับระบบบำบัดฯ จำแนก — คัดกรอง — ติดตาม พร้อมสานต่อไปยังพื้นที่กำหนดเป้าหมายตนเอง ?ควบคุมและลดปัญหาให้ได้
ด้วยเหตุนี้ การดำเนินงานในด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐ ในด้านการปราบปราม และคอยตรวจสอบ จับกุมผู้กระทำผิดอย่างเอาจริงเอาจัง หรือในภาคส่วนของสถานบำบัดผู้ติดยาเสพติด ที่ต้องให้ความใส่ใจ ติดตามผล ดูแลทั้งทางร่างกายและสภาพจิตใจ ตลอดจนภาคประชาชน ก็ต้องร่วมมือต่อต้าน ปลูกฝังเยาวชนทั้งในระดับครอบครัว และสถานศึกษา ไม่ให้มีค่านิยมข้องเกี่ยวกับยาเสพติด และช่วยให้ปริมาณของผู้ใช้สารเสพติด เข้ามาสู่กระบวนการบำบัดรักษาด้วยวิธีการสมัครใจให้มากที่สุด จนเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเป็นโอกาสที่ดีในการส่งคืนคนดีกลับสู่สังคมไทยอย่างได้ผล
นายแพทย์วิโรจน์ วีรชัย ผู้อำนวยการสถาบันธัญญารักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของนโยบายกรมการแพทย์และสถาบันธัญญารักษ์นั้น โจทย์สำคัญที่เล็งเห็นว่าควรดำเนินการอย่างจริงจัง คือ “จะทำอย่างไร ให้ผู้ที่เข้ารับการบำบัดรักษาแล้ว ไม่กลับไปเสพซ้ำ และเลิกยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดได้อย่างถาวร โดยได้รับความร่วมมือจากผู้เสพเอง และครอบครัว” ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า “มีจำนวนผู้เข้ารับการบำบัดรักษาประมาณร้อยละ 30 มีการกลับไปข้องเกี่ยวกับยาเสพติดอีก” จึงเกิดเป็นการดำเนินโครงการ ประชาสัมพันธ์ข้อมูลวิชาการด้านยาเสพติดสู่ประชาชน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อ ประชาสัมพันธ์ข้อมูลวิชาการด้านยาเสพติดเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ สร้างความตระหนัก แก่ประชาชน เยาวชน กลุ่มเสี่ยง กลุ่มเสพ กลุ่มติด เรื่องโรคสมองติดยา โทษของยาเสพติดต่อสมอพฤติกรรม แนวทางการช่วยเหลือโดยการบำบัดรักษาอย่างเหมาะสมทันท่วงที มีแนวทางในการเลือกวิธีการลดละเลิกยาเสพติด และการเข้ารับการบำบัดรักษา ไม่ปล่อยจนเรื้อรั้ง และสร้างความรู้ความเข้าใจและสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสื่อมวลชน นักจัดรายการวิทยุ โทรทัศน์เพื่อถ่ายทอดสื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลทางวิชาการสู่ประชาชน และมีสโลแกน “ติดยา หายขาดได้” ซึ่งนับเป็นโครงการสำคัญที่มีการลงลึกมากยิ่งขึ้น โดยอาศัยกระบวนการประชาสัมพันธ์ และสร้างความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องของโทษและพิษภัยของยาเสพติด
ซึ่งกำลังสำคัญส่วนหนึ่งของการดำเนินโครงการนี้คือ การสานความร่วมมือมายังสื่อมวลชนทุกแขนง ในการเป็นสื่อกลาง หรือกระบอกเสียงสำคัญเพื่อสร้างความตระหนักเรื่องโทษของยาเสพติด ที่สามารถส่งผลกระทบทั้งตัวผู้เสพ ครอบครัว และสังคม เพื่อลดจำนวนผู้ที่ติดยาเสพติด รวมถึงช่วยให้ผู้ติดยาเสพติดเข้ารับการรักษาด้วยวิธีการสมัครใจมากขึ้น ตลอดจนช่วยให้ครอบครัวหรือคนในสังคมเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่มีต่อผู้เคยผ่านการเข้ารับการบำบัดรักษามาแล้ว เปิดโอกาสให้กลุ่มคนเหล่านี้สามารถอยู่ร่วมในสังคมได้ ไม่เกิดความรู้สึกกดดันและกลับไปเสพซ้ำในที่สุด
โดยในกระบวนการดำเนินงาน จะมีการลงพื้นที่ไปยังส่วนภูมิภาค เพื่อจัดกิจกรรม “ติดยา หายขาดได้” และเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ โดยอาศัยสื่อมวลชนประจำส่วนท้องถิ่น ตลอดมีการจัดกิจกรรมที่น่าสนใจในรูปแบบต่างๆ และอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นสื่อกลาง เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเยาวชนได้รวดเร็ว และสะดวกยิ่งขึ้น อาทิ การประชาสัมพันธ์ทางสื่อ BTS, Bus Ad รถประจำทาง ,Roll up สำหรับแจกโรงเรียนและสถานพยาบาลยาเสพติดทั่วประเทศ , การจัดทำ Facebook ติดยา หายขาดได้ โดยเปิดโอกาสให้เยาวชนได้ร่วมแสดงพลัง และร่วมทำกิจกรรมในภาคส่วนต่างๆที่จะมีขึ้นต่อไปในโครงการนี้