กรุงเทพฯ--5 ก.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทาน “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”ให้แก่ปวงชนชาวไทยได้น้อมนำเป็น“หลักคิด หลักการใช้ชีวิต”มานานกว่าสองทศวรรษแล้ว แต่เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจแจ่มชัด ...บ้างเข้าใจเพียงว่า เศรษฐกิจพอเพียงคือ การอดออม บ้างก็พูดไปถึงการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ทำการเกษตรแต่จริงๆ แล้วเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักคิดที่เป็น “สากล”สามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ได้กับ “ทุกเรื่อง”เพื่อให้เราสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสมดุล มีความสุข
และว่ากันว่า "วิถีชีวิตบนความพอเพียง"นี้เองจะเป็นหนึ่งใน“ทางออก”ของ“ทางตัน” ของโลกในศตวรรษที่ 21ที่เรากำลังเผชิญกันอยู่นี้ !ที่นับวันจะยิ่งมีความเปลี่ยนแปลงในอัตราที่เร็วขึ้นทั้งในทางที่ดีด้วยปริมาณข้าวของเครื่องใช้จำนวนมากที่เข้ามาอำนวยความสะดวกการติดต่อสื่อสารไร้พรมแดน ระบบการผลิตที่ใช้พลังงานเป็นตัวผลักดันให้เรามีกินมีใช้ได้เหมือนไม่มีวันหมดฯลฯ
แต่หากรู้ไม่เท่าทัน ก็ยากนักที่จะรับมือกับ“ผลกระทบด้านลบ” ที่มีมากมายเป็นเงาตามตัว ทั้งปัญหามลพิษ การร่อยหรอลงของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อัตลักษณ์วัฒนธรรมประเพณีที่เลือนหาย ตลอดไปจนถึงความเสื่อมโทรมของระบบคุณค่าคุณธรรมและจริยธรรมในใจคนซึ่งสัมพันธ์โดยตรงกับคุณภาพชีวิต ความสุข และความทุกข์ ของคน“ทุกคน”ในท้ายที่สุด
การประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมพลังสถานศึกษาเพื่อพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา ซึ่งจัดมาจนถึงรุ่นที่ 5 คือส่วนหนึ่งจากหลายๆ ความพยายามของมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ที่ล้วนมุ่งตอบคำถามที่ว่า “ทำอย่างไร” ที่เราจะเผยแพร่หลักคิด—หลักปฏิบัติแห่งความพอเพียงอันเปรียบเสมือน หางเสือ บังคับทิศและกระตุกเตือนสังคมได้อย่างทันท่วงที
โดยการอบรมคณะผู้บริหารโรงเรียนและคุณครูที่มีศรัทธาในหลักปรัชญาฯ ให้มีความรู้ ความเข้าใจ และร่วมกันครุ่นคิดอย่างลึกซึ้งจนตกผลึกถึงคุณค่าและความหมายของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในฐานะที่เป็นเครื่องมือช่วยให้ผู้คนอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสมดุล มีความสุขและเป็นมิตรกับโลกใบนี้
จากนั้นจึงเข้ามาร่วมกันเป็นพลังที่จะช่วยกันคัดสรรหลากหลายวิธีการ “จัดการเรียนการสอนอย่างไร” ที่เราจะบ่มเพาะ “อุปนิสัยพอเพียง” ลงในเนื้อในตัวให้แก่ลูกศิษย์ ซึ่งเป็นเยาวชนอนาคตของชาติตามบริบทการเรียนการสอนที่หลากหลาย โดยมีโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษาและสถานศึกษาพอเพียงโดยความร่วมมือของกระทรวงศึกษาธิการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และมูลนิธิสยามกัมมาจลเป็นหัวจักรขับเคลื่อนขยายผลสู่โรงเรียนข้างเคียง และชุมชน
“มนุษย์จัดการได้หมดในเรื่องเทคโนโลยี แต่สิ่งที่มนุษย์ยังจัดการไม่ได้ คือ การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ อยู่ร่วมกันอย่างอบอุ่น อยู่ร่วมกันอย่างยุติธรรม อยู่กันอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเราจัดการไม่ได้ แสดงว่าตัวขับสำคัญๆ คือ "ความโลภ" นี่มันสุดยอด เล่นกับมันยาก ไม่ง่าย "เศรษฐกิจพอเพียง" ตีเข้าไปที่จุดนี้เลย ตีไปที่เรื่องความโลภเราจะทำอย่างไรที่จะอยู่กับเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่ไม่เน้นไปที่ความโลภเป็นตัวตั้ง”
อ.ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ผู้วิชาการด้านการคิดเชิงระบบ (System Thinking) และวิทยากรหลักของการอบรมฯ ชวนผู้เข้าร่วมการอบรมขบคิด และเชื่อมโยงตนเองเข้ากับโรงเรียน ชุมชน สังคมไทย และสังคมโลก
อ.ชัยวัฒน์ แนะว่าวิธีการออกจากวิกฤติของโลกในยุคใหม่นี้จะไม่มีทางให้เลือกมากนักนอกจากการหันวิถีการผลิต วิถีการใช้ชีวิต และนิยามทฤษฎีว่าด้วยการสร้างความมั่งคั่งของชาติเสียใหม่ ที่ไม่ใช่การเน้นทางวัตถุแบบทุนนิยมดั้งเดิมอีกต่อไปเวลานี้ก็มีบางกลุ่มที่จับประเด็นนี้ขึ้นมาแล้ว เน้นไปที่ Gross National Happiness แทนที่จะเป็น Gross Domestic Product ที่เน้นการผลิตทางวัตถุเป็นตัวตั้งของความเจริญ
โดยสรุปแล้วเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องของสภาวะจิตใจของมนุษย์ที่จะมองเห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างตนเอง กับคนอื่น และ ตนเองกับโลก
“แน่นอนว่ากระแสเหล่านี้เพิ่งเกิดมาเมื่อประมาณสิบกว่าปี มันยังต้องใช้เวลาอีกประมาณสามสิบถึงสี่สิบปี ทฤษฎีและความเชื่อเหล่านี้จึงจะขยายผล ดังนั้นสิ่งที่เราทำมันจะไม่สำเร็จทันทีทันใดร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ผมเชื่อว่ามันเป็นกระแสอันหนึ่ง ซึ่งเป็นกระแสของโลก เพราะโลกใบนี้มันไม่มีทางเลือกอีกแล้ว"
นอกจากนี้ อ.ชัยวัฒน์ ยังได้ชวนคุณครูและผู้บริหารโรงเรียนพอเพียงแต่ละแห่งสร้างวิสัยทัศน์ร่วมที่มีชีวิตชีวา ผู้บริหารและครูมองเห็นเป้าหมายร่วมกัน รวมถึงมองภาพอนาคตของโรงเรียนเชื่อมโยงบริบทใหม่ของสังคมโลก พร้อมตั้งคำถามชวนคิดว่าจะมีแนวโน้มด้านบวกและด้านลบอะไรบ้างที่กำลังจะเกิดขึ้น อาทิ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสื่อสาร ปัญหาความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อน รวมถึงการที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
“ผมคิดว่ามันถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องBalance กันระหว่างวัตถุและจิตใจ ขณะที่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนเขายังไม่มีเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนเรา ผมว่าเราสามารถจะเป็น "หลัก" ที่สำคัญในอาเซียนด้วยก็เป็นได้สิ่งที่เราทำ ถ้าเราดูแลมันดีๆ เห็นคุณค่ากับมัน เท่ากับว่าเรากำลังสร้างอนาคตของสังคมไทยที่เป็นแบบอย่างที่ดีอันหนึ่งในอาเซียน”
อ.ชัยวัฒน์ แนะนำว่า จากโอกาสและความเสี่ยงเหล่านี้แต่ละโรงเรียนจึงต้องวางแผนรองรับความเปลี่ยนแปลงนั้นๆ โดยใช้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเครื่องมือช่วยให้ก้าวผ่านอุปสรรคปัญหา และเปิดรับโอกาสใหม่ที่เข้ามาท้าทาย ที่สำคัญคือการปลูกฝังหลักความพอเพียงสร้างภูมิคุ้มกันแก่ลูกศิษย์สามารถใช้ชีวิตในศตวรรษที่ 21ได้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ของการอบรมนี้ ทำให้แต่ละโรงเรียนได้แผนการพัฒนาโรงเรียนบนวิถีความพอเพียงและสอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของโลกกลับไปปรับใช้ยังโรงเรียนต่อไป
คุณปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจลหนึ่งในผู้มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการฯ กล่าวว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงให้สำเร็จต้องขึ้นอยู่กับโรงเรียนแต่ละโรงเรียนได้เห็นความสำคัญ และหลอมรวมใจบุคลากรเข้าด้วยกัน ทำให้เกิดการระเบิดจากภายในจากทั้งของผู้บริหารโรงเรียนและคุณครูที่มีหัวใจของความเป็นครูและมีความรับผิดชอบต่อนักเรียน ซึ่งกิจกรรมที่มูลนิธิฯ จัดขึ้นนี้ จะทำให้ผู้บริหารและครูบรรลุเป้าหมายดังกล่าว
“เรามีความหวังและมีความเชื่อว่าคุณครูของเรามีสำนึกของความเป็นครู แต่เขาขาดเพื่อนร่วมทาง ขาดเครือข่ายที่ดี ในโลกที่อยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มูลนิธิสยามกัมมาจลอาสาเข้าไปสนับสนุนในจุดนี้ เพื่อให้คุณครูได้มีเครื่องมือใหม่ๆ ไว้ใช้ในการทำงาน และมีเครือข่ายการทำงานที่แข็งแรง”คุณปิยาภรณ์ กล่าว
ที่ผ่านมา นอกจากการอบรมเชิงปฏิบัติการเสริมพลังสถานศึกษาฯ ที่จัดมาอย่างต่อเนื่องแล้ว มูลนิธิสยามกัมมาจลยังได้ขับเคลื่อนหลักเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียนผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ โครงการค่ายอบรมและแข่งขันการออกแบบเกมเศรษฐกิจพอเพียง โครงการเรื่องเล่าเศรษฐกิจพอเพียงปีที่ 1 และปีที่ 2การจัดงานตลาดนัดความรู้เครือข่ายการเรียนรู้สู่ความพอเพียง ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2รวมไปถึงการพัฒนาต่อยอดเยาวชนในโครงการฯ ในค่ายเยาวชนเศรษฐกิจพอเพียง ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปเมื่อเร็วๆ นี้
ส่วนผลของการจัดการอบรมครั้งล่าสุด อ.ฤทธิชัย วิเศษชาติ โรงเรียนบ้านเป้าวิทยา จ.ชัยภูมิ กล่าวว่า สิ่งที่ได้รับจากการอบรมซึ่งตนประทับใจมาก คือ “กระบวนการเล่าเรื่อง” ที่ทำให้เราได้ย้อนคิดทบทวนตัวเองอย่างลึกซึ้งตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบันเมื่อเล่าเรื่องของตัวเองเสร็จก็เปิดใจรับฟังเรื่องราวของผู้บริหารและเพื่อนครูในโรงเรียนทำให้เราได้เข้าไปรับรู้ถึงสภาวะจิตใจของเขา เชื่อมโยงและหลอมรวมเรื่องราวชีวิต อารมณ์ ความรู้สึกตลอดจนภาพฝันการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียนจนเป็นภาพๆ เดียวกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ปกติแล้วจะเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก
นอกจากนี้ยังทำให้ตนตกผลึกความคิดที่ว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงให้สำเร็จ หน่วยเล็กๆ คือ เราทุกๆ คนล้วนเป็นส่วนสำคัญที่ต้องหลอมรวมพลังเข้าด้วยกันให้ได้อย่างแท้จริงเมื่อกลับไปที่โรงเรียนแล้วก็จะนำเรื่องนี้ไปเสนอต่อผู้บริหาร และเพื่อนครูด้วย
ด้าน ว่าที่ ร.ต.บำรุง นอบน้อม ครูแกนนำเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ หอวัง นนทบุรี สะท้อนว่า สิ่งที่ตนได้รับจากการอบรมคือ “แรงบันดาลใจ” เพราะเป็นกุญแจสำคัญผลักดันให้เราประสบความสำเร็จได้เสมอๆ
"ผมเชื่อว่าพวกเราที่เป็นครูทุกคนคิดตรงกันว่าเราไม่ต้องการอะไรจากโรงเรียน เพราะถ้าคนเป็นครูอยากได้อะไรจากโรงเรียนแล้วทุกคนจะแกะเอาไปหมด และโรงเรียนจะเหลือแต่ซาก เพราะโรงเรียนต้องพึ่งครู ถ้าครูทำตัวเป็นที่พึ่งให้โรงเรียนได้ โรงเรียนของเราก็จะรอดและยั่งยืน ผมหวังว่าหลังจากกลับไปวันนี้พวกเราจะกลับไปทำให้เกิดครูที่เป็นปลาว่ายทวนน้ำที่โรงเรียนเยอะๆ เพื่อขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สุดท้ายนี้ผมขอขอบคุณมูลนิธิสยามกัมมาจล และ อ.ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ที่ทำให้ผมมีพลังในการทำงานชิ้นนี้มากขึ้น"
ด้วยความร่วมแรงร่วมใจ และเห็นเป้าหมายเดียวกัน ของครูผู้บริหารโรงเรียน มูลนิธิสยามกัมมาจล ตลอดจนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในอันที่จะเผยแพร่หลักคิดเศรษฐกิจพอเพียงสู่เยาวชนของเราอย่างทั่วถึง เชื่อว่า สังคมไทยจะอยู่รอดปลอดภัยในโลกแห่งความเปลี่ยนแปลง “ศตวรรษที่ 21” อย่างแน่นอน