กรุงเทพฯ--8 ก.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย
จดหมายเหตุอุเทนถวาย ฉบับพิเศษ (ครบรอบ 100 ปี อุเทนถวาย)เนื่องใน วันคล้ายวันสิ้นพระชนน์ครบ ๙๐ ปี สมเด็จฯกรมขุนเพ็ชร์บูรณ์อินทราชัยผู้วางรากฐานโรงเรียนเพาะช่างก่อสร้างแห่งแรกของสยามประเทศนามว่า ” อุเทนถวาย ”
โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย... ข้อโต้แย้งกรณี ที่จุฬาฯ ตอบจดหมายของสโมสรนักศึกษา มทร.วิทยาเขตอุเทนถวาย วันที่ ๘ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๕๕๖
กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการพิสูจน์สิทธิ์ที่ดินอุเทนถวาย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ขอชี้แจงแทนสโมสรนักศึกษาฯ เรื่องขัอโต้แย้งกรณี ที่จุฬาๆตอบจดหมายของสโมสรนักศึกษาวิทยาเขตอุเทนถวาย ลงวันที ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๖ ถึงอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่องขอให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินคืนให้แก่โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย ในเอกสาร จุฬาสัมพันธ์ ฉบับพิเศษ ลงวันศุกร์ที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๖
คณะกรรมการพิสูจน์สิทธิ์ฯ เชื่อมั่นว่า ข้อมูลที่ค้นคว้ามานำเสนอต่อสาธารณชนนั้น เป็นหลักฐานทางเอกสารต้นฉบับ ที่มีจำนวนมากและใช้เวลาค้นคว้าอยู่หลายปี ประกอบกับมีหลักฐานทางวัตถุที่สูญหายไปนาน สามารถอ้างอิง เชื่อมโยงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของผู้ให้กรรมสิทธิ์และผู้ให้กำเนิดโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวายที่แท้จริง ได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ
ประเด็นที่หนึ่ง
สถาบันการศึกษาแห่งนี้เป็นหน่วยงานของรัฐ ดำเนินการเพื่อประโยชน์การศึกษาของชาติ มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า ๑๐๐ ปี ได้ก่อกำเนิดขึ้นจากพระราชประสงค์ของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อที่จะสืบทอดกระแสระราชดำริ ของ สมเด็จพระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงห่วงใยในศิลปะการช่างของไทยจะถูกอิทธิพลของศิลปะวัฒนธรรมชาติตะวันตกที่แพร่หลายเข้ามาครอบงำ อาจถึงคราวเสื่อมสูญได้ โดยเฉพาะวิชาช่างก่อสร้าง ตามพระราชกระแสรับสั่ง ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖ ที่ว่า “ . . . ถ้าหากว่าเราเลือกจับช่องที่เหมาะ เช่น นักเรียนการปลูกสร้าง ให้ตัวอย่างที่จะออกไปทำการได้ในกระทรวงโยธาฤาตามหัวเมือง เช่นนี้ การคงสำเร็จ . . .” และทรงแต่งตั้ง สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย ทรงเป็นที่ปรึกษา ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๖๒ และทรงเป็นผู้บัญชาการโรงเรียนเพาะช่าง ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๖๕ พระองค์ได้นำผลกำไรจากการค้าของโรงเรียนเพาะช่าง เตรียมไปสร้างโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวายขึ้นอีกโรงเรียนหนึ่ง “ ทรงกะแบบและก่อพระฤกษ์ด้วยพระองค์เอง แต่กลับสิ้นพระชนน์เสียก่อน โรงงานหลังนี้จะทำสำเร็จได้ในจำนวนเงินหมื่นบาท” จางวางเอก เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ได้ทูลเกล้าถวายรายงานเรื่องอนุโมทนาในพระมหากรุณาธิคุณ ส่งกระทรวงมุรธาธร พระองค์ทรงสิ้นพระชนน์วันที่ ๘ กรกฏาคม พ.ศ.๒๔๖๖
ประเด็นที่สอง
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าๆ พระราชทานเงินการพระราชกุศล จำนวน ๑๐,๐๐๐ บาท ให้สร้าง โรงงานนักเรียนเพาะช่าง (แผนกก่อสร้าง) มีพระราชประสงค์ ทรงพระราชอุทิศพระราชทานแด่ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชร์บูรณ์อินทราชัย พระราชโอรสองค์ที่ ๙ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ” ในปี พศ. ๒๔๖๖ บนที่ดินพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะเป็นโครงการถาวรวัตถุสืบยั่งยืนนานตลอดกาล ไม่มีผู้ใดจะยกเลิกโครงการอนุสรณ์สถานที่รำลึกแห่งพระอนุชาของพระองค์ท่านได้ ที่ดินถือเป็นส่วนควบกับตัวโรงงานฯ อ้างตาม เอกสาร หนังสือหอรัษฏากรพิพัฒน์และหนังสือจากกระทรวงวัง นับว่าเป็นพินัยกรรมฉบับสุดท้าย ก่อนที่พระองค์จะเสด็จสวรรคต อีก๒ปีต่อมา ในปี พุทธศักราช ๒๔๖๘
ล้นเกล้ารัชกาลที่๖ ทรงประสงค์ให้สร้างโรงงานพระราชทานฯนี้เพื่อเป็น โรงเรียนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ระบุทายาทผู้รับมรดกคือ “ นักเรียนเพาะช่าง (ก่อสร้าง)ในสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชฯ ” บนที่ดินพินัยกรรมของพระราชบิดา ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ ฉะนั้นหลังจากโครงการพระราชทานนี้อุบัติขึ้น ในปี พ.ศ.๒๔๖๖ ถือว่ามีผล ยุติสัญญาเช่าที่ดินของโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯในทันที ๒ปีก่อนครบสัญญาเช่าในพ.ศ.๒๔๖๘
หลังจากที่รัชกาลที่ ๖ เสด็จสวรรคตแล้ว ๑๖ ปี ก็ไม่ปรากฏ หลักฐานการพระราชทานที่ดินจากพระมหากษัตริย์พระองค์ใด กระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ ในปีพ.ศ.๒๔๗๕ และมีมติจากสภาผู้แทนราษฏร สมัยหลวงพิบูลยสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ขณะที่ ล้นเกล้ารัชกาลที ๘ ยังทรงพระเยาว์ โดยการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินนี้ ในลักษณะ พระราชบัญญัติ โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของพระมหากษัตริย์ทั้งหมดจำนวน ๑,๒๗๗ ไร่ ๑ งาน๑วา ให้กับหน่วยงานราชการชื่อว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๔๘๒
ประเด็นที่สาม
เอกสารดังกล่าวเพียง แสดงขอบเขตที่ดินประกอบ สัญญาเช่าที่ดิน ระหว่างโรงเรียน ข้าราชการพลเรือนฯกับพระคลังข้างที่จำนวน ๑,๒๗๗ ไร่ ๑ งาน๑วา เป็นเวลา ๑๐ปี ตั้งแต่วันที่ ๒๖ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๕๙ — ๒๔๖๙ เงินค่าเช่าเดือนละ ๑,๒๐๐ บาท (ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๗๘ หลังจากที่ รัชกาลที่๖ เสด็จสวรรคตแล้ว๑๐ปี มีการทำสัญญาเช่าที่ดินต่ออีก ๓๐ ปี) จุดประสงค์ให้ใช้เป็น พื้นที่เพื่อการศึกษา เท่านั้น ห้ามมิให้ผู้เช่าทำประโยชน์อื่นเช่นทำธุรกิจการค้าพาณิชย์ หรือปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมบนที่ดินผืนนี้ ถ้าฝ่าฝืนจะถือเป็นยกเลิกสัญญาเช่าที่ดินในทันที
ประเด็นที่สี่ . พยานบุคคลผู้ที่ได้รับพระบัญชาโดยตรง ปรากฏอยู่ในพระบรมราชโองการ พ.ศ.๒๔๖๖ คือ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการ ได้สนองพระราชประสงค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ โดยการสานต่อโครงการพระราชทาน “ โรงงานนักเรียนเพาะช่างก่อสร้าง ” ให้สมบูรณ์เป็น “โรงเรียนเพาะช่างก่อสร้างแห่งแรกของสยามประเทศ” เรียกชื่อว่า “โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย ทรงอุทิศพระราชทานแด่ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชร์บูรณ์อินทราชัย ในวันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๗๕ (เป็นปีที่เหตุการณ์บ้านเมืองอยู่ในสภาวะสับสน ๔เดือนหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองของชาติ ๓เดือนก่อนมีรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย ) นับเป็นอาคารอำนวยการหลังแรกของโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย โดย ระบุตำแหน่งที่ตั้งตัว “ โรงงานของโรงเรียนเพาะช่าง ” เชิงสะพาน อุเทนถวาย ถนนพญาไท ณ.ศูนย์กลางของที่ดินทรัพย์สินพินัยกรรมส่วนพระองค์ผืนนี้
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงเสด็จสวรรคต ในวันที ๒๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๕๓ ข้าราชการและพนักงานกรมสรรพากร ร่วมบริจาคเงินสร้างสะพานฯ เพื่อน้อมเกล้าฯถวายเป็นทั้งอนุสรณ์สถานถาวรวัตถุ เชิดชูพระเกียรติยศพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชกุศลรำลึกแด่พระองค์ท่าน (กรมสรรพากรมีตราประจำกรมเป็นรูป "พระเจ้าอุเทนดีดพิณ" ) บนที่ดินพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ผืนนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสะพานว่า "อุเทนถวาย" และทรงเสด็จเปิด เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๖
ในปีพ.ศ.๒๔๗๕ โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวายของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการท่ามกลางเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองของบ้านเมืองขณะนั้น สะพานอุเทนถวายได้ถูกลบชื่อออก และ คลองอุเทนถวาย (คลองสวนหลวง) ถูกถมกลบอย่างเร่งด่วน ในปีพ.ศ.๒๔๕๗ จึงไม่สามารถทราบตำแหน่งที่ตั้งของ โรงงานพระราชทานฯ ที่ระบุว่าอยู่เชิงสะพานฯ ส่วนตัวสะพานอุเทนถวายหลงเหลือเพียง แนวระเบียงและถูกรื้อถอนทั้งหมด ในปี พ.ศ.๒๕๐๕ โดยสำนักจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ และไม่เคยยืนยันหรือเปิดเผยหลักฐานต่อสาธารณชนว่า มีสถานที่ดังกล่าวอยู่จริงหรือไม่ พบแต่ประกาศว่า โรงเรียนเพาะช่างก่อสร้างฯ เช่าที่ดินของจุฬาฯ ตลอดเวลาที่ผ่านมา
ประเด็นที่ห้า การตราพระราชบัญญัติ โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตำบลปทุมวัน อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พุทธศักราช ๒๔๘๒ ในสมัยที่ จอมพลแปลก พิบูลยสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ผู้สำเร็จราชการแทน ล้นเกล้ารัชกาลที่๘ ขณะที่ยังทรงไม่บรรลุนิติภาวะ และควบตำแหน่งอธิการบดีจุฬาฯ นั้น กระทำมิได้เนื่องจาก ไม่พบพระบรมราชโองการที่ ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖ ทรงพระราชทานกรรมสิทธิ์ที่ดิน ขณะที่พระองค์ยังทรงครองราชย์อยู่ ให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบแต่สัญญาเช่าที่ดิน ระหว่างโรงเรียน ข้าราชการพลเรือนฯกับพระคลังข้างที่จำนวน ๑,๒๗๗ ไร่ ๑ งาน๑วา เป็นเวลา ๑๐ปี และพบเพียงพระพินัยกรรมให้สร้าง โรงงานนักเรียนเพาะช่าง(ก่อสร้าง) ทรงอุทิศพระราชทานแด่ สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชฯ ในปีพ.ศ.๒๔๖๖ ก่อนที่พระองค์จะเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. ๒๔๖๘ เท่านั้น เป็นการตีความที่ คลาดเคลื่อนและขัดพระราชประสงค์ ฉะนั้นจึงสมควร ยกร่างพระราชบัญญัติ โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คืนให้เป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์โดยผ่านพระคลังข้างที่ ตรงตามพระราชประสงค์ทุกประการ
โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย ของ ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๖๖ จวบจนถึงณ.ปัจจุบันนี้ พ.ศ.๒๕๕๖ รวมระยะกว่าเวลา ๙๐ ปี ได้รับสนองตามพระราชประสงค์ มิเคยเปลี่ยนแปลงพระราชปฏิธานในการเพาะ“นักเรียนช่างฯพระราชทาน” แห่งสยามประเทศ เพื่อผลิตและวางรากฐานนักเรียนช่างก่อสร้างไทยให้มีทักษะทางวิชาชีพ แพร่ขยายไปพัฒนาประเทศชาติ เจาะจง เฉพาะการศึกษาสายวิชาชีพเทคโนโลยีการก่อสร้างเท่านั้น จึงมิบังควรที่ข้าราชการหน่วยงานใดๆ จะกระทำการอันขัดแย้งกับพระราชประสงค์ โดยการยกเลิก หรือเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ของ โครงการโรงเรียนช่างก่อสร้างพระราชทาน ที่พระองค์ฯ ทรงพระราชอุทิศพระราชทาน เป็นอนุสรณ์สถานถาวรวัตถุ เชิดชูพระเกียรติยศ แด่ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชร์บูรณ์อินทราชัย พระราชโอรสองค์ที่ ๙ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติแด่ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เป็นมรดกถาวรวัตถุของแผ่นดินแห่งสยามประเทศสืบตลอดไป
“ การสืบทอดมรดกย่อมได้รับการคุ้มครอง สิทธิของบุคคลในการสืบทอดมรดกย่อมเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ ” มาตรา๔๑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
กรรมการและรักษาการเลขานุการ
คณะกรรมการพิสูจน์สิทธิ์ที่ดินอุเทนถวาย
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย
ติดต่อ:
คณะกรรมการพิสูจน์สิทธิ์ที่ดินฯ วข.อุเทนถวาย ฝ่ายประชาสัมพันธ์ 02-2527029